วิกฤตขาดแคลนคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย

วิกฤตขาดแคลนคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย

วันที่ : 18 มีนาคม 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : สยามรัฐรายวัน (ศึกษาทัศน์)

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกจำนวนมาก กำลังก้าวสู่วิกฤตขาดแคลนคณาจารย์ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยในอนาคตหากไม่เร่งแก้ไข
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) อาจารย์จำนวนหนึ่งมีอายุมากกว่า 60 ปี ขณะเดียวกันอาจารย์ที่อายุน้อยกว่า 45 ปี มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมาคนอเมริกันมีจำนวนบุตรลดลง โดยพบว่าคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นรุ่นบุกเบิก (ทศวรรษที่ 1960-1970) ซึ่งมีอายุประมาณ 60-80 ปี อาทิ สถาบัน MIT จำนวนอาจารย์สาขาคณิตศาสตร์มีร้อยละ 27 ในจำนวนนี้ ร้อยละ 6.4 มีอายุมากกว่า 70 ปี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อาจารย์จำนวนร้อยละ 9 มีอายุมากกว่า 70 ปี และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มีเกือบร้อยละ 10 ขณะที่อาจารย์ที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี ลดลงจากร้อยละ 41 ในปี ค.ศ. 1989 เหลือร้อยละ 34 ในปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยอื่นในสหรัฐประสบภาวะขาดแคลนอาจารย์เฉพาะสาขาวิชาเช่นเดียวกัน อาทิ สาขาบริหารธุรกิจ ขาดอาจารย์ระดับปริญญาเอกเพื่อมาสอนนักศึกษาปริญญาโท สมาคมวิทยาลัยการบริหารธุรกิจระดับนานาชาติ (AACSB) คาดการณ์ว่าในปี 2009 จะขาดแคลนอาจารย์ปริญญาเอกในสาขาวิชาดังกล่าวจำนวน 1,142 คน และในปี 2013 จะขาดแคลนจำนวน 2,419 คน สาขาเภสัชศาสตร์และพยาบาล สมาคมวิทยาลัยด้านเภสัชศาสตร์แห่งอเมริกา (AACP) สำรวจจำนวนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่สอนสาขาเภสัชศาสตร์ในสหรัฐฯ จำนวน 84 แห่ง พบว่า มีตำแหน่งอาจารย์ว่างมากกว่า 400 ตำแหน่ง จำนวน 1 ใน 5 เกิดจากการเกษียณอายุ และอาจารย์ที่เหลืออยู่เกือบร้อยละ 40 มีอายุประมาณ 50 ปี ขึ้นไป สมาคมวิทยาลัยการพยาบาลแห่งอเมริกา (AACN) เปิดเผยว่า ปัจจุบันไม่มีอาจารย์เพียงพอกับจำนวนนักศึกษา โดยเฉพาะศาสตราจารย์และอาจารย์ระดับปริญญาเอก ซึ่งปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 54 ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตด้านการขาดแคลนคณาจารย์อย่างหนัก

มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนอาจารย์คือ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มทำวิจัยน้อยลง เพราะต้องมีภาระงานสอนมากขึ้น ในขณะที่แต่ละปีมีจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีความจำเป็น ต้องทำวิจัยลดน้อยลง เนื่องด้วยต้องรับผิดชอบงานสอนให้นักศึกษาที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น แซลลี่ ฮันท์ (Sally Hunt) เลขาธิการสหภาพมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย (University and College Union: UCU) สหราชอาณาจักร กล่าวว่า ช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้อาจารย์มีภาระการสอนเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ศาสตราจารย์เลสลี่ แวกเนอร์ (Prof.Leslie Wagner) อดีตประธานสถาบัน Higher Education Academy (HEA) สหราชอาณาจักร ให้ความเห็นในอีกมุมหนึ่งในงานสัมมนา British Education Research Association Conference เมื่อ ค.ศ. 2550 ไว้ว่า การทำวิจัยเป็นอุปสรรคของการพัฒนาการสอนในมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ในระยะเวลาที่ผ่านมาคุณภาพการสอนในมหาวิทยาลัยลดลง เพราะอาจารย์ต้องทุ่มเวลาให้กับการทำวิจัยมากกว่าการสอน
ดังนั้น แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ มหาวิทยาลัยมีแนวโน้มที่ลดการทำวิจัยและเพิ่มการสอนเพื่อรองรับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย เพราะหากอาจารย์หยุดทำวิจัยจะส่งต่อการลดมาตรฐานของการสอนลง เพราะความรู้จากการวิจัยช่วยให้นักศึกษาได้รับความรู้ใหม่ อันมีผลต่อการปลูกฝังทักษะการวิจัยและการแสวงหาความรู้ให้แก่นักศึกษา และเป็นการเพิ่มต่อยอดการพัฒนาทางปัญญ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสภาวะการขาดแคลนคณาจารย์ในระดับอุดมศึกษา เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการอุดมศึกษาไทยเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรปริญญา ซึ่งมีกว่า 199 แห่ง มหาวิทยาลัย ซึ่งรวมมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยราชภัฏ 75 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 33 แห่ง และวิทยาลัยเอกชน 33 แห่ง และวิทยาเขตมหาวิทยาลัย/วิทยาลัยรัฐและเอกชนอีก 58 แห่ง อีกทั้ง สภาพการต้องเปิดเสรีทางการศึกษา ประกอบกับมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน ต่างแข่งขันกันเปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษาทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นจำนวนมาก การแข่งขันในระดับการอุดมศึกษาไทยจึงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละมหาวิทยาลัยพยายามสร้างชื่อเสียงและดึงดูดผู้เรียนเข้าศึกษาต่อ จึงจำเป็นต้องอาศัยการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงการคัดสรรคณาจารย์ที่มีคุณภาพเข้าสอน โดยเฉพาะคณาจารย์ตำแหน่งศาสตราจารย์ ซึ่งมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคณาจารย์ทั้งหมด พิจารณาจากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รายงานว่าในปี 2549 มหาวิทยาลัยเอกชน มีอาจารย์ 10,784 คน และศาสตราจารย์ 156 คน ส่วนมหาวิทยาลัยรัฐ มีอาจารย์ 28,410 คน และศาสตราจารย์ 406 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการจัดการอุดมศึกษา

ดังนั้น จึงจำเป็นที่ สกอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเข้ามาวางแผนและดูแลเรื่องนี้อย่างชัดเจนและมีความจริงจัง เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างจำนวนนักศึกษาและจำนวนอาจารย์ ความสมดุลของภาระงานด้านการสอนและการทำวิจัยของคณาจารย์ รวมถึงการกำกับดูแลการเปิดหลักสูตรของมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษาที่มีแนวโน้มเปิดหลักสูตรใหม่ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *