วางแผนการเงิน ด้วยตนเองได้ไหม

วางแผนการเงิน ด้วยตนเองได้ไหม
MONEY PRO : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2550
ดิฉันเขียนเรื่องวางแผนทางการเงินมาหลายสัปดาห์ และคำถามหนึ่งที่มักจะมีผู้สงสัยคือ เราจะวางแผนการเงินด้วยตนเองได้หรือไม่ และถ้าอยากวางแผนการเงินด้วยตนเองจะต้องทำอย่างไร
จากการสำรวจของ คณะกรรมการมาตรฐานของผู้วางแผนทางการเงิน หรือ Certified Financial Planner Board of Standards Inc. ของสหรัฐอเมริกาพบว่า คนอเมริกันที่เป็นชนชั้นกลางระดับบนมีความสามารถในการวางแผนทางการเงินได้เองประมาณ 33% คนกลุ่มนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม อิสระ คือพึ่งตนเองได้
ลักษณะสำคัญของคนที่สามารถวางแผนการเงินได้ด้วยตนเองประกอบไปด้วย ความพึงพอใจในการตัดสินใจทางการเงินของตนเอง รู้สึกว่าตนเองมีความรู้ และประสบความสำเร็จในการวางแผนการเงิน มากกว่าผู้อื่นโดยเฉลี่ย ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเงิน อาจจะเช่นการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต การหาข้อมูลการจัดการการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้ยังพอใจที่จะใช้เวลาในการหาข้อมูล และตัดสินใจเกี่ยวกับการเงินด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยมืออาชีพดำเนินการให้ คนกลุ่มนี้จะลงทุนในหุ้นด้วยตนเอง และมักจะมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ
คนกลุ่มที่สอง มีประมาณ 38% ของคนชั้นกลางระดับบนที่ได้รับการสอบถามทั้งหมด จัดอยู่ในกลุ่ม “ผู้วิตกกังวล” กลุ่มนี้มีความกังวลใจเกี่ยวกับการตัดสินใจทางการเงิน เช่น ในการออมเพื่อการเกษียณอายุของตนเอง ไม่ค่อยมั่นใจในอนาคตทางการเงินของตนเอง ไม่สนุกกับการวางแผนทางการเงิน หรือแม้กระทั่งรู้สึกไม่สนุก เวลาคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ คนกลุ่มนี้อาจมีการวางแผนการเงินไว้ แต่มักจะสารภาพว่าไม่ค่อยได้ทำตามแผน อย่างไรก็ดีแม้จะไม่สบายใจนัก แต่คนกลุ่มนี้ก็จะดูแลการเงินให้ตนเอง
จากการสำรวจพบว่า คนกลุ่มนี้จะกลัวการลงทุนที่มีความเสี่ยง และมักจะฝากเงิน หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือลงทุนในกองทุนเพื่อการเกษียณอายุ โดยรวมคนกลุ่มนี้ลงทุนเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ จึงมีความมั่งคั่งโดยรวมไม่สูงมาก
กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่ม “ต้องการความช่วยเหลือ” ซึ่งมีอยู่ประมาณ 29% คนกลุ่มนี้จะแสวงหาคำแนะนำจากมืออาชีพ และเมื่อได้คำแนะนำแล้วเขาจะมั่นใจว่าสามารถเป็นผู้ควบคุมชีวิตทางการเงินของตนเองได้ รู้สึกว่าการลงทุนของเขาเพียงพอต่อความต้องการทางการเงินในอนาคตหรืออาจจะเกินกว่าความต้องการอีกด้วย นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ยังรู้สึกว่าได้ประโยชน์จากการวางแผนการเงิน กลุ่มคนเหล่านี้มักจะมีความมั่งคั่งสูงกว่าอีก 2 กลุ่มที่กล่าวมาแล้ว และต้องการความช่วยเหลือจากมืออาชีพในเรื่องทางการเงินบางเรื่องที่ตนเองอาจไม่มีความถนัด กลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มที่เก็บออมและลงทุนเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ของครอบครัว ส่วนใหญ่จะรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ปานกลาง และชอบลงทุนในกองทุนรวมหุ้นทุน และกองทุนรวมตราสารหนี้หรือพันธบัตร
ดิฉันเดาว่าหากสำรวจในประเทศไทย จะพบคนกลุ่มที่สองคือ วิตกกังวล แต่ดูแลตนเอง สูงถึงประมาณ 60% เนื่องจากเรายังไม่มีอาชีพที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคล และหากจะมีก็คงจะยากที่ผู้ใช้บริการ อยากจะจ่ายค่าธรรมเนียมการบริการให้ ที่ปรึกษาการเงินส่วนใหญ่จึงทำงานอยู่กับองค์กรต่างๆ ที่มีบริการทางการเงิน โดยจะให้คำปรึกษาพร้อมแนะนำบริการจัดการลงทุนหรือตราสารต่างๆ ที่สถาบันการเงินนั้นๆ มีบริการ
ความต้องการที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคลมีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากตราสารและเครื่องมือทางการเงินต่างๆ สลับซับซ้อนขึ้น ในการลงทุนก็มิได้มีให้เลือกเฉพาะการลงทุนในประเทศเท่านั้น แต่มีการลงทุนในต่างประเทศ และการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ผู้เกี่ยวข้องจึงมองเห็นว่าประเทศไทย จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคลที่ผ่านการอบรมและทดสอบ มีประสบการณ์ และปฏิบัติหน้าที่ภายใต้จรรยาบรรณวิชาชีพ ในจำนวนที่มากขึ้นกว่าที่มีอยู่ในสังกัดองค์กรต่างๆ ในปัจจุบัน
ข่าวสองข่าวที่น่ายินดีในขณะนี้คือ การเปิดหลักสูตรปริญญาตรีบริหารธุรกิจสาขาผู้เชี่ยวชาญการเงิน ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับ สถาบันบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ของตลาดหลักทรัพย์ หรือ TSI เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ 4 ปี และจะเตรียมความรู้ทางภาษาจีน ให้ตลอด 4 ปี หลักสูตรนี้จะเปิดในปีการศึกษา 2550 ที่จะถึงนี้ ดิฉันเห็นว่าน่าสนใจมากสำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะประกอบอาชีพให้คำแนะนำทางการเงิน โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นมหาวิทยาลัยที่มีบรรยากาศดีน่าเรียนมากค่ะ
นอกจากนี้สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังเป็นผู้ริเริ่มที่จะให้มีการอบรม ทดสอบ ให้ผู้วางแผนการเงินส่วนบุคคลของประเทศไทย ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วยค่ะ คาดว่าอีก 1-2 ปีข้างหน้า คงมีการจัดฝึกอบรมบุคลากรที่จะเป็นผู้ให้ความรู้ เพื่อขยายให้มีผู้วางแผนการเงินเพิ่มขึ้น
หากท่านต้องการวางแผนทางการเงินด้วยตนเอง สิ่งที่ท่านต้องทำคือต้องศึกษาถึงความต้องการของตนเองก่อน ศึกษาให้ทราบเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ศึกษาเรื่องความเสี่ยง ภาษีที่เกี่ยวข้อง และเก็บข้อมูลการลงทุน เพราะตราสารหรือหลักทรัพย์บางอย่างท่านสามารถลงทุนโดยตรงได้ เช่น หุ้นในประเทศ พันธบัตร แต่ตราสารบางอย่างท่านก็ไม่สามารถลงทุนเองโดยตรงได้ เช่น การลงทุนในต่างประเทศ การลงทุนในทรัพย์สินหรือหลักทรัพย์บางอย่างที่ใช้เงินลงทุนสูง หรือเปิดขายให้กับผู้ลงทุนสถาบันเป็นการเฉพาะเจาะจง หลังจากวางแผนแล้ว ท่านจะต้องทบทวนเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่า แผนการเงินของท่าน เหมาะสมกับสภาวะการลงทุนในขณะนั้นๆ หรือไม่ และปรับให้เหมาะสมกับสภาวะค่ะ
ขอให้ท่านมีความสุข สนุกกับเทศกาลสงกรานต์ และวันครอบครัว ใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง เดินทางโดยสวัสดิภาพ กลับจากพักผ่อนจึงค่อยมาคิดวางแผนการเงินการลงทุนต่อค่ะ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *