วางแผนการเงินเมื่อเริ่มสร้างครอบครัว

วางแผนการเงินเมื่อเริ่มสร้างครอบครัว
MONEY PRO : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 02 เมษายน พ.ศ. 2550
เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ดิฉันเขียนถึงการวางแผนการเงินของผู้เริ่มทำงาน ในวันนี้อยากจะเขียนถึงผู้ที่เริ่มมีครอบครัวค่ะ ว่าควรจะวางแผนการเงินอย่างไร มีอะไรต้องคำนึงถึงบ้าง และเงินที่ออมไว้นั้น ควรจะลงทุนอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด
โดยทั่วไปคนมีครอบครัวแล้วจะรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้น้อยกว่าคนโสด เนื่องจากคนโสดมีภาระเพียงการดูแลตนเองและดูแลพ่อแม่ แต่คนที่มีครอบครัวแล้วต้องคิดถึงอนาคต ต้องดูแลครอบครัว (สามี/ภรรยา/ลูก) และยังต้องดูแลพ่อแม่และดูแลตนเอง ยิ่งมีภาระมากเท่าใด ก็ยิ่งรับความเสี่ยงได้น้อยลงเท่านั้น ข้อยกเว้นก็คือคนมีครอบครัวที่มีความมั่งคั่งมาก จนถึงแม้ว่าหัวหน้าครอบครัวไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ คนอื่นๆ ในครอบครัวก็สามารถอยู่กันได้อย่างไม่ลำบาก ในที่นี้จะสมมติว่าเป็นครอบครัวปกติที่เพิ่งจะเริ่มต้นชีวิตครอบครัวค่ะ
การวางแผนการเงินของคนที่มีครอบครัวแล้ว จะต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนการออมเป็นอันดับแรก เนื่องจากจะมีภาระอันยิ่งใหญ่ตามมาในภายหน้า โดยเฉพาะผู้ที่เตรียมจะมีบุตร ต้องวางแผนการออมเพื่อเตรียมค่าใช้จ่ายในการฝากท้อง ค่าใช้จ่ายในการคลอดด้วย
การเก็บออมเงินของคนที่สร้างครอบครัว จะต้องพยายามเก็บให้ได้เพิ่มขึ้นจากที่เก็บตอนเป็นโสด หากสามารถเก็บได้ถึง 20 ถึง 25% ของรายได้ก็จะดีมาก การออมนี้เป็นการเก็บออมเพื่ออนาคต ซึ่งอาจจะเพื่อซื้อบ้าน รถยนต์ อาจจะเก็บไว้เป็นค่าเล่าเรียนของลูก เก็บไว้เพื่อการเกษียณอายุ หรือเก็บเอาไว้พักผ่อนหย่อนใจ
นอกจากการวางแผนการออมแล้ว ยังต้องวางแผนการใช้จ่าย เช่นเดียวกับที่เคยทำสมัยยังเป็นโสดอยู่ โดยต้องจัดการกระแสเงินสดให้ดี ให้มีสภาพคล่องอย่างเหมาะสม ไม่ติดขัด ในวัยนี้ต้องพยายามอย่าเป็นหนี้สินเพื่อการบริโภค แต่หากจะต้องกู้ยืมแล้ว ควรจะเป็นการกู้เพื่อการซื้อทรัพย์สินที่มีค่า และมีการเพิ่มค่าไปตามระยะเวลา เช่น กู้มาซื้อบ้าน เป็นต้น
คาถาที่เหมาะกับคนที่กำลังสร้างครอบครัวคือ อย่าใจอ่อน ซื้อของง่าย และอย่าใจอ่อนไปค้ำประกันใคร หากรู้ตัวว่าเป็นคนใจอ่อน ก็ต้องพยายามอย่าเข้าไปเดินในห้างในช่วงเทศกาลลดราคา เพราะจะเกิดการ “ซื้อ” โดย “ไม่ได้ตั้งใจ” เยอะมาก การค้ำประกันก็เช่นกันค่ะ บางคนไปค้ำประกันผู้อื่น ถึงเวลาเกิดอะไรขึ้นหากผู้กู้ไม่มีเงินชำระ เจ้าหนี้ก็มักจะมาไล่เบี้ยกับผู้ค้ำประกัน ซึ่งอาจทำให้หมดเนื้อหมดตัวไปได้เช่นกัน
เมื่อมีภาระรับผิดชอบ สิ่งหนึ่งที่ควรจะทำคือการทำประกันเพื่อบรรเทาความเสียหายหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น โดยการประกันที่ควรทำมีทั้งการประกันชีวิตและประกันภัยทรัพย์สิน สำหรับการทำประกันชีวิตนั้นอยากแนะนำให้ทำประกันแบบสะสมทรัพย์ซึ่งต้องมีระยะเวลา 10 ปีขึ้นไปจึงจะสามารถนำเบี้ยประกันไปหักภาษีได้ ในอัตราปีละไม่เกิน 50,000 บาท การทำประกันชีวิตนี้ จะทำในวงเงินมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับภาระทางการเงิน ซึ่งวงเงินคุ้มครองสำหรับการประกันแบบนี้จะไม่สูงมาก หากมีภาระทางการเงินมาก เช่น ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ทั้งยังมีบุตรที่อยู่ในวัยเล่าเรียน ก็อาจจะทำวงเงินประกันอุบัติเหตุเพิ่มเติม เนื่องจากเบี้ยประกันจะต่ำกว่าค่ะ ไม่แนะนำให้ทำแบบสะสมทรัพย์เพิ่ม เพราะนำไปใช้สิทธิทางภาษีไม่ได้แล้ว
การทำประกันภัยทรัพย์สินเป็นสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง เช่น บ้าน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือทรัพย์สินที่กำลังทำการผ่อนชำระอยู่ เนื่องจากหากเกิดสูญหายหรือเสียหาย ยังได้เงินค่าชดใช้มาช่วยทำให้การจัดซื้อของใหม่ทดแทนของเดิมเป็นไปได้ง่ายขึ้น การทำการประกันความเสียหายจากการโจรกรรม ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณา โดยเฉพาะหากเป็นบ้านที่ไม่มีคนอยู่ในช่วงกลางวัน
ข้อแนะนำในการวางแผนทางการเงินของคนที่เริ่มต้นสร้างครอบครัว คือ อย่าสร้างภาระให้ตนเองมากเกินไป ควรจะตั้งเป้าหมายทีละ 1-2 อย่าง เพราะหากสร้างภาระมาก ท่านอาจจะเกิดความเครียดและไม่มีความสุข เผลอๆ อาจจะทะเลาะกับคู่สมรส ทำให้ชีวิตสมรสร้าวฉานไป ค่อยๆ ช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง ไม่ต้องตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีทุกอย่างครบบริบูรณ์ในเวลาเท่านี้เท่านั้นปี ตั้งเป้าหมายไปทีละอย่างสองอย่างจะดีกว่าค่ะ บางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องมี ก็ไม่ต้องมี เช่น บ้านพักตากอากาศ เป็นต้น มีไปก็เป็นภาระ สู้อยากไปไหนก็ไปพักโรงแรมในจุดนั้นๆ ไม่ได้ บ้านพักตากอากาศควรจะเป็นเป้าหมายของผู้ที่บุตรโตและเริ่มทำงานหาเงินได้แล้ว ไม่ต้องมีภาระในการส่งให้บุตรเล่าเรียนอีกต่อไป
การก่อหนี้ยืมสิน ให้ก่อเท่าที่มีกำลังจะผ่อนชำระ อย่าก่อหนี้เกินตัว เพราะจะเกิดการพัลวันวุ่นวาย อย่าไปเที่ยวด้วยเงินผ่อน อยากเที่ยวต้องเก็บเงินไปค่ะ เก็บไม่ได้ก็ยังไม่ต้องไป เก็บได้น้อยก็เที่ยวใกล้ๆ เก็บได้มากค่อยออกไปเที่ยวไกลๆ
หากหมดภาระการผ่อนรถและบ้านแล้ว ควรจะมองหาทรัพย์สินที่จะก่อให้เกิดรายได้เป็นงวดๆ เช่น การซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เช่า การลงทุนในกองทุนรวมพันธบัตร กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ซึ่งเงินที่นำไปลงทุนสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ หากลงทุนในกองทุนกลุ่มนี้ ต้องอย่าลืมใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ครบถ้วนนะคะ ได้สิทธิมาแล้ว ควรจะใช้ค่ะ นอกจากจะได้ประหยัดภาษีแล้ว ยังช่วยทำให้อนาคตมั่นคงขึ้นอีกด้วยค่ะ
การลงทุนของคนในช่วงชีวิตนี้ไม่ควรจะอนุรักษนิยมจนเสียโอกาส หากสามารถลงทุนในระยะยาวได้ ความเสี่ยงจากความผันผวนของผลตอบแทนก็จะลดลง หากอนุรักษนิยมจนเกินไป เงินออมอาจจะโตช้ากว่าอัตราเงินเฟ้อได้ และจะทำให้อำนาจซื้อของท่านลดลง แนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้และพันธบัตร หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ ประมาณ 40-50% ของเงินลงทุน และลงทุนในหุ้นทุนหรือกองทุนรวมหุ้นทุนประมาณ 30% อสังหาริมทรัพย์หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 10% ส่วนอีก 10-20% เป็นเงินฝากหรือเงินลงทุนที่มีสภาพคล่อง ไว้เผื่อฉุกเฉินค่ะ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *