วันถุงลมโป่งพองโลก

กระตุ้นแพทย์-สาธารณสุขตระหนักความสำคัญ “วันถุงลมโป่งพองโลก”
• คุณภาพชีวิต
ทุกพุธที่ 2 หรือ 3 พ.ย. มุ่งสร้างความรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชน

แม้ว่าโรคถุงลมโป่งพอง จะเป็นปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุขโรคหนึ่งของประเทศ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่ความตระหนักและการรับรู้ของประชาชนในโรคนี้ยังมีไม่มากเท่าที่ควร

โรคถุงลมโป่งพอง (COPD) เป็นสาเหตุการตายของประชากรทั่วโลก ลำดับที่ 6 ในปี ค.ศ. 1990 และลำดับที่ 5 ในปี ค.ศ. 2001 อีกทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของมะเร็งปอดอีกด้วย องค์การอนามัยโลกประมาณการไว้ว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวประมาณปีละ 3 ล้านคน และโรคนี้จะเลื่อนขึ้นมาเป็นสาเหตุการตายของประชากรโลกเป็นลำดับที่ 4 ในปี ค.ศ. 2030 โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ ควันบุหรี่และควันจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง

โรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคแห่งความเสื่อมของหลอดลมเล็ก ๆ และถุงลมในปอด ที่มีภาวะของการอุดกั้นอย่างเรื้อรังของหลอดลมทั่วปอดทั้งสองข้าง โดยมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นที่หลอดลมขนาดเล็กและที่ถุงลม เนื่องจากการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาแรมปี สารมลพิษในควันบุหรี่หลายชนิดก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อหลอดลมและทำลายผนังถุงลม ทำให้เนื้อเยื่อซึ่งโยงยึดหลอดลมและถุงลมเสื่อมลง หลอดลมเล็ก ๆ ก็ขาดการยึดโยงที่ดี จึงแฟบตัวได้ง่าย เกิดการอุดกั้นของอากาศที่ผ่านหลอดลม โดยเฉพาะในจังหวะของการหายใจออก ทำให้มีลมค้างอยู่ในถุงลมมากขึ้น (ถุงลมโป่งพอง) การมีลมค้างในถุงลมทำให้ผู้ป่วยสูดหายใจเข้าได้ไม่เต็มที่ และเกิดอาการเหนื่อย

นอกจากนี้ ควันบุหรี่ที่ระคายเคืองหลอดลมอยู่นาน ๆ จะทำให้ผนังหลอดลมอักเสบ หนาขึ้น และมีเสมหะมากขึ้น ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง จะมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ เหนื่อย และหายใจลำบาก ซึ่งจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นตามการเสื่อมของถุงลมในปอด จนมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ และหัวใจวายตามมา ผู้ป่วยเหล่านี้จะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน ซึ่งได้แก่ ปอดบวม ภาวะการหายใจวาย และภาวะหัวใจวาย

การดำเนินโรคมี 4 ขั้น เริ่มจากขั้นแรกเป็นขั้นที่มีปัจจัยเสี่ยง และเริ่มมีการอุดกั้นของหลอดลมเล็ก ๆ ซึ่งเป็นระยะที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการและพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในหลอดลมเล็ก ๆ เหล่านั้น สามารถกลับคืนสู่ปกติได้เมื่อหยุดบุหรี่สำเร็จ ตามมาด้วยขั้นที่ 2 ซึ่งมีการอุดกั้นของหลอดลมและความเสื่อมของถุงลมชัดเจน ซึ่งทราบได้จากการตรวจสมรรถภาพปอด ในขั้นนี้ผู้ป่วยมีอาการไอและเหนื่อยไม่มาก ขั้นต่อมาคือขั้นที่ 3 ผู้ป่วยจะมีอาการไอและเหนื่อยมากขึ้น ผลการตรวจสมรรถภาพปอดเสื่อมลงอีก ส่วนขั้นสุดท้าย (ขั้นที่ 4) ผู้ป่วยมีการเสื่อมของหลอดลมและถุงลมมาก มีภาวการณ์หายใจวายและหัวใจวายเกิดขึ้น ระยะนี้ผู้ป่วย จำเป็นต้องพึ่งออกซิเจน

การตรวจสมรรถภาพปอดเป็นระยะ ๆ ในผู้ที่สูบบุหรี่ จะสามารถค้นหาโรคถุงลมโป่งพองในระยะแรก ๆ ก่อนที่จะมีอาการได้ และควรหยุดบุหรี่ให้ได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งหากหยุดได้ทันก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคขึ้น หากหยุดไม่ทัน สภาพของโรคที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ก็ไม่สามารถกลับคืนสู่ปกติ อย่างไรก็ตาม การหยุดบุหรี่ให้ได้เมื่อเป็นโรคชัดเจนแล้ว แม้ไม่สามารถทำให้พยาธิสภาพของโรคที่เกิดขึ้นแล้วนั้น กลับคืนสู่สภาพปกติก็ตาม แต่ก็ช่วยให้การเสื่อมของถุงลมนั้นเกิดขึ้นช้าลง

ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลกและองค์การโรคถุงลมโป่งพองแห่งโลก (Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease- GOLD) จึงได้ร่วมกันกำหนดให้มีวันถุงลมโป่งพองโลก (World COPD Day) ขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 เป็นต้นมา โดยกำหนดให้วันพุธสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ของเดือนพฤศจิกายนเป็นวันดังกล่าว เพื่อกระตุ้นเตือนให้บุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้ ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค ควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดเพื่อให้พบโรคในระยะแรก ๆ

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *