ลดน้ำหนักปลอดภัยไม่ต้องพึ่งยา
ลดน้ำหนักปลอดภัยไม่ต้องพึ่งยา
• อาหาร
แนะออกกำลังกาย-คุมอาหารอย่างเหมาะสม
ยาลดความอ้วนจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เป็นยาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควบคุมการจำหน่าย แต่ก็ยังพบการลักลอบขาย โรคอ้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพก็จริง แต่โรคกลัวอ้วนหลายครั้งทำให้เกิดอันตรายยิ่งกว่า เพราะส่วนใหญ่บุคคลที่กลัวอ้วนไม่ได้เป็นโรคอ้วนจริงๆ เพียงแต่คิดไปเองว่าตัวเองอ้วน จนนำไปสู่การลดความอ้วนด้วยวิธีผิดๆ
การคำนวณหาค่าดัชนีมวลร่างกาย (Body Mass Index, BMI) ที่ชี้ว่าแต่ละคนอยู่ในเกณฑ์อ้วนหรือไม่ สามารถคำนวณได้เองง่ายๆ โดยนำน้ำหนักตัว (หน่วยกิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง (หน่วยเป็นเมตร) แต่ไม่สามารถใช้ได้ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโต สตรีมีครรภ์ และนักกีฬา จากนั้นนำค่าดัชนีมวลร่างกาย (BMI) มาแปลผล ดังนี้
ถ้าได้ค่าต่ำกว่า 20 หมายความว่า น้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน
20.0 – 24.9 หมายความว่า น้ำหนักปกติ (เกณฑ์มาตรฐานเมืองไทยคือ 18.5-24.9)
25.0 – 29.9 หมายความว่า น้ำหนักเกิน
30.0 – 39.9 หมายความว่า เป็นโรคอ้วน
มากกว่า 40 คือเป็นโรคอ้วนรุนแรง ต้องได้รับการรักษาและดูแลอย่างถูกต้อง เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงหลายอย่างด้วยกัน ทั้งความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ
การควบคุมน้ำหนักที่แพทย์แนะนำและปลอดภัยที่สุดก็คือ การออกกำลังกายควบคู่กับการควบคุมอาหารอย่างเหมาะสม โดยรับประทานให้ครบ 5 หมู่และครบ 3 มื้อ แต่เป็นวิธีที่ปฏิบัติได้ยาก หากไม่ตั้งใจจริง หลายคนจึงเลือกใช้ยาเป็นตัวช่วย
แต่สำหรับผู้ป่วยโรคอ้วน แพทย์จะพิจารณาให้ยาควบคู่กับการใช้วิธีอื่น เพราะยาลดความอ้วนจะมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และยาส่วนใหญ่จัดเป็นอนุพันธ์ของ Amphetamine ซึ่งอยู่ในประเภทเดียวกับยาบ้า ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือไม่อยู่นิ่งเฉย นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ วิตกกังวล เคลิ้มฝัน ปวดศีรษะ สั่น ตาพร่า
หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดการติดยาได้ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีประวัติเคยใช้ยาในทางที่ผิด หรือมีภาวะซึมเศร้ามาก่อน แม้ใช้ยาในขนาดปกติเพื่อลดความอ้วน หากหยุดยาอย่างทันทีทันใดก็อาจเกิดภาวะถอนยาได้ อาการดังกล่าว ได้แก่ การเกิดภาวะทางจิต (psychosis) อย่างเฉียบพลัน เช่นอาการสับสน หวาดระแวง และประสาทหลอน
หลักการในการใช้ยาลดน้ำหนัก มีคำแนะนำที่สำคัญคือ การใช้ยาลดน้ำหนักต้องใช้ร่วมกับการควบคุมอาหารและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสมอ ยาไม่ทำให้หายจากโรคอ้วนอย่างเด็ดขาด มีโอกาสน้ำหนักขึ้นได้อีกเมื่อเลิกใช้ยา และการเลือกใช้ยาต้องชั่งข้อดี ข้อเสีย ผลข้างเคียงด้วย
ก่อนที่จะเริ่มใช้ยาลดน้ำหนัก ควรจะให้การรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างน้อย 3 เดือน หากน้ำหนักลดก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ที่สำคัญคือไม่ควรใช้ในผู้เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง และควรหยุดสูบบุหรี่
ยาทุกชนิดมีผลข้างเคียง ฉะนั้นถ้าไม่อยากเสี่ยงก็สามารถเลือกใช้วิธีธรรมชาติ และการสร้างวินัยให้กับตนเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด