รัฐวิสาหกิจโลจิสติกส์-ได้เวลาเปลี่ยนแปลงใหญ่

รัฐวิสาหกิจโลจิสติกส์-ได้เวลาเปลี่ยนแปลงใหญ่

 

ความจำเป็นที่ประเทศต้องมีการลงทุนทางด้านเครือข่ายโลจิสติกส์ หรือระบบการจัดส่ง รวมทั้งระบบขนส่งมวลชน เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้

ยิ่งในยุคน้ำมันแพงด้วยแล้ว การลงทุนเหล่านี้ย่อมมีความสำคัญมากขึ้นเป็นทวีคูณ และการปรับปรุงให้ระบบโลจิสติกส์ และขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ จะทำให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์ราคาพลังงานผันผวนได้

ลำพัง ศักยภาพทางการเงิน ของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งมวลชน และโลจิสติกส์ มีขีดจำกัด

ดังนั้น จึงไม่อาจหวังได้ว่ารัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะอยู่ในสถานะที่จะขยับขยายการลงทุนเองได้

การปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม หรือสภาพดังกล่าว ย่อมหมายถึง การสูญเสียโอกาสในการขยายบริการพื้นฐาน ให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ ระบบโลจิสติกส์และระบบขนส่งมวลชนที่ดี ยังเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

การคาดหวังว่ารัฐวิสาหกิจเหล่านี้ จะผลักดันเมกะโปรเจคที่ใช้เม็ดเงินในการลงทุนระดับหมื่นล้านแสนล้านย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการสนับสนุนงบประมาณหรือนโยบายจากรัฐบาล

ขณะที่งบประมาณวันนี้ก็ขาดดุลอยู่ ต้องมีภาระอุดหนุนนโยบายประชานิยมอีกต่างหาก ฉะนั้นในส่วนของมาตรการทางการคลัง จึงมีเพดานในการให้การสนับสนุน

มาตรการการคลังสามารถให้การสนับสนุนได้ในหลายลักษณะ อย่างมาตรการให้ใช้น้ำใช้ไฟฟ้าฟรี และขึ้นรถโดยสาร และรถไฟฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย รัฐใช้วิธีให้เงินอุดหนุน (Subsidy) โดยตรงจากงบประมาณไปยังรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ อาจใช้วิธีการประกันรายได้ขั้นต่ำ (Revenue Guarantee) หรือการค้ำประกันภาระหนี้ (Debt Guarantee) การช่วยเหลือเหล่านี้ จะมุ่งไปที่กิจการบริการสังคมตามนโยบายของรัฐบาล

รัฐบาลได้ทยอยลดการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการเชิงพาณิชย์ และมีฐานะทางการเงินดูแลตัวเองได้ การพยายามลดภาระทางการคลังลงอย่างต่อเนื่องนี้ ยังรวมถึงการลดการค้ำประกันรายได้และค้ำประกันภาระหนี้ลง

เมื่อพิจารณาข้อมูลภาระงบประมาณจากรัฐวิสาหกิจต่างๆ พบว่ารัฐวิสาหกิจโลจิสติกส์ติดอันดับต้นๆ ในแง่ของการก่อภาระทางด้านงบประมาณ และมีอยู่สองแห่งที่มีภาระทางด้านงบประมาณสูงมาก มีความเสี่ยงทางการเงินสูงสุด หากเป็นธุรกิจเอกชนถือว่าอยู่ในสภาพเกือบล้มละลาย หรือมีหนี้สินล้นพ้นองค์กร

รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งนี้ แห่งหนึ่ง คือ ขสมก. อีกแห่งหนึ่ง คือ การรถไฟแห่งประเทศไทยมีทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดินจำนวนมาก หากบริหารดีๆ ลดการรั่วไหลได้สัก 50-60% หรือมีการกำหนดผลตอบแทนการเช่าที่ดินการรถไฟให้เหมาะสม

ผมเชื่อว่า ร.ฟ.ท. สามารถลงทุน โครงการรถไฟฟ้าทางคู่ได้ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องขอเงินรัฐบาล

ผมสนับสนุนการเดินหน้าสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางอย่างเต็มที่ ทั้งในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ

แต่ประเทศมีเม็ดเงินจำกัด จึงต้องใช้อย่างรอบคอบและมี ประสิทธิภาพ

การลงทุนโครงข่ายระบบรางควรขยายให้ทั่วถึงและกว้างขวาง

แล้วการลงทุนในเรื่องพวกนี้อาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณทั้งหมด แต่ควรเปิดให้เอกชน เข้ามารับสัมปทานเส้นทางบางเส้นทาง ที่มีความคุ้มค่าทางธุรกิจ การลงทุนของเอกชนเหล่านี้ จะก่อให้เกิดการจ้างงาน และบริการพื้นฐาน โดยที่ไม่ต้องใช้เงินภาษีเลยก็ได้

สำคัญที่สุด คือ ความโปร่งใสในการดำเนินการ

ใครได้สัมปทานไป ต้องสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมถึงได้สัมปทาน

มีภาระงบประมาณจำนวนไม่น้อยในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า ที่จะเกิดกับหน่วยงานอย่าง รฟม. มีภาระจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง 41,675 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จำนวน 42,792 ล้านบาท และปี 2553 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จำนวน 79,550 ล้านบาท ภาระเหล่านี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เพราะต้นทุนค่าก่อสร้างอาจปรับตัวสูงขึ้น 20-25%

นอกจากรัฐวิสาหกิจขนส่งทางบกจะขาดทุนหนักแล้ว วันนี้ การบินไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ขาดทุนในไตรมาสสองถึงเก้าพ้นล้านบาท เตรียมปลดพนักงานออกไม่ต่ำกว่า 500 คน

การปฏิเสธ ไม่แปรรูป หรือเพิ่มบทบาทเอกชน ในกิจการรัฐวิสาหกิจ

ไม่สร้างปัญหาอะไร

หากเรามีงบประมาณเหลือเฟือ

หากเรามีรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพ และมีความคล่องตัวในการบริหาร

หากเราไม่ได้ต้องการเม็ดเงินก้อนใหญ่ เพื่อขยายการลงทุนขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มบทบาทภาคเอกชน ในรูปของการให้ร่วมลงทุนก็ดี ให้สัมปทานก็ดี ต้องยึดผลประโยชน์ของส่วนรวม และต้องก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อันหมายรวมถึงผู้ร่วมทุนทั้งหลาย

โครงการต่างๆ ทางด้านโลจิสติกส์และระบบขนส่งมวลชนนั้น รัฐวิสาหกิจที่ดูแลทางด้านนี้อยู่ไม่มีศักยภาพลงทุนเองแน่นอน ต้องอาศัยเม็ดเงินจากนักลงทุน และบางโครงการอาจต้องอาศัยเทคโนโลยี และการบริหารจัดการจากต่างชาติ

หากเราไม่เริ่มต้นด้วยการปฏิรูปด้วยการเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ให้เข้าที่เข้าทางเสียก่อนที่จะให้สัมปทานกับเอกชน

เราย่อมหนีไม่พ้น ปัญหาค่าโง่ทั้งหลายที่มักเกิดขึ้นเสมอ เมื่อมีโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนครับ

 

ที่มา พลวัตเศรษฐกิจ : ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ WWW.Anusornt4reform.com  กรุงเทพธุรกิจ  วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551

 

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *