รักษา‘หัวใจ’ โดยไม่ผ่าตัด

รักษา‘หัวใจ’ โดยไม่ผ่าตัด
• คุณภาพชีวิต
เผย ควบคุมไขมัน – งดสูบบุหรี่ ช่วยได้

อวัยวะใดสำคัญที่สุด?

คำตอบของคำถามนี้อาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันไปบ้าง แต่สุดท้ายต้องลงเอยที่ “หัวใจ” เพราะหากหัวใจไม่ทำงานแล้วไซร้ ชีวิตจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร

ดังนั้น ทุกคนจึงควรถนอมหัวใจของตัวเองไว้ให้ดี ไม่ให้เป็นโรค ซึ่งในที่นี้รวมถึง “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” หรือหัวใจขาดเลือด (Coronary Artery Disease-CAD) ด้วย ปัจจุบันพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นทั่วโลก และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตเป็นลำดับต้นๆ ทั้งในไทยและทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สำหรับไทยนั้นยังโชคดีอยู่บ้างที่แพทย์ไทยมีความสามารถในการรักษาโรคนี้ได้ทัดเทียมกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการรักษาผ่านสายสวนหรือการขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่งและขดลวด หรือที่เรียกว่า ทำบอลลูน และยังพยายามปรับปรุงพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หัวใจคนเรานับว่าเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานหนักที่สุดอวัยวะหนึ่ง ทำงานเต้นและบีบตัวตั้งแต่แรกเกิดจนวินาทีสุดท้ายที่เราหมดลมหายใจ ดังนั้น หัวใจจึงต้องมีหลอดเลือด ซึ่งทำหน้าที่นำเลือดจากหลอดเลือดใหญ่ซึ่งประกอบด้วย สารอาหาร พลังงาน และออกซิเจน ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นการตีบหรือการอุดตันของหลอดเลือด ก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกหล่อเลี้ยงโดยหลอดเลือดนั้นขาดเลือดหรือตายไป ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้ไม่ดี ผลที่ตามมาคือ หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้เพียงพอ และอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตตามมา

สาเหตุที่หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจตีบตัน ส่วนหนึ่งเกิดจากวัยที่มากขึ้น เพราะโดยธรรมชาติผนังหลอดเลือดจะหนาขึ้นอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มักเกิดกับวัยกลางคนและผู้สูงวัยเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่คนที่อายุน้อยก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เหมือนกัน เมื่อมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้ผนังหลอดเลือดมีการตีบและหนาตัวเร็วขึ้น ซึ่งได้แก่ การมีไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วก็มีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่

โรคนี้ทำให้มีอาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอก หรือเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะในเวลาออกกำลังกาย ซึ่งในบางรายอาจเป็นแบบฉับพลันและรุนแรง จนทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือที่เรียกว่า หัวใจวาย (Heart Attack) ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม

การรักษาที่สำคัญคือ วิธีรับประทานยา การผ่าตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจหรือที่เรียกว่า ผ่าตัด “บายพาส” และการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัดผ่านสายสวนและการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด ซึ่งการรักษาด้วยวิธีใดจะอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา และความต้องการของผู้ป่วย

ในกรณีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยไม่ผ่าตัดนั้น แพทย์ไทยมีความเชี่ยวชาญมานานนับ 17 ปี และพยายามปรับปรุงพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดรับเทคนิคใหม่ๆ จากนานาประเทศด้วย ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ชมรมมัณฑนากรหลอดเลือดหัวใจ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติแพทย์โรคหลอดเลือดหัวใจแห่งเอเชียครั้งที่ 4 (Asian Interventional Cardiovascular Therapeutics 2008-AICT 2008) ระหว่างวันที่ 25-27 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยการสนับสนุนของสมาคมการตรวจสวนหัวใจและการรักษาผ่านสายสวนแห่งอเมริกา สมาคมแพทย์ผู้ปฏิบัติการรักษาผ่านสายสวนแห่งเอเชียแปซิฟิก และยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันโรคหัวใจชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศอีกหลายแห่ง และมีแพทย์ชั้นนำ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญ เข้าร่วมงานประมาณ 1,000 คน

ในการประชุมนอกจากได้แลกเปลี่ยนความรู้วิทยาการความก้าวหน้าใหม่ๆ แล้ว ยังมีการสาธิตการรักษาโรคหัวใจผ่านสายสวนผ่านดาวเทียม โดยในวันแรกเป็นการถ่ายทอดจากต่างประเทศมายังโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์ สถานที่จัดการประชุม โดยส่งสัญญาณภาพมาจากญี่ปุ่น จีน อินเดีย และสิงคโปร์ เพื่อให้ความรู้และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ซักถาม ส่วนใน 2 วันสุดท้าย เป็นการถ่ายทอดสัญญาณภาพไปยังต่างประเทศ โดยดำเนินการที่จุฬาฯ

รศ.นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ ของโรงพยาบาลจุฬาฯ เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นประโยชน์ ช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนได้เห็นเทคนิคการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบใหม่ๆ เพื่อให้แพทย์ไทยนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพในการรักษาต่อไป หรือกล่าวได้ว่า สุดท้ายประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนหรือผู้ป่วย

โดยในขณะนี้ทั่วประเทศมีโรงพยาบาลที่ให้การรักษา 44 แห่ง ด้วยคุณภาพในการรักษาเทียบเท่ากับต่างประเทศ เนื่องจากเครื่องมือส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับสนนราคาค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 1-2 แสนบาท ซึ่งถูกกว่าการรักษาในต่างประเทศ

“แนวโน้มมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยการทำบอลลูนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากตัวเลขล่าสุดเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 10,000 คนต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3,000 คน” รศ.นพ.วสันต์กล่าว

ในเวลาเดียวกันการเคลื่อนไหวจัดการประชุมนานาชาตินี้ ยังนับว่าช่วยส่งเสริมหรือเป็นไปในทางเดียวกับนโยบายของภาครัฐ ที่มุ่งให้ไทยเป็นฮับหรือศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคอีกเช่นกัน ซึ่งในเวลานี้นับว่าไทยมีบุคลากรที่มีความสามารถในการรักษา หรือทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจอย่างเพียงพอ และที่ผ่านมามีชาวต่างประเทศเข้ามาใช้บริการรักษากันมาก โดยเฉพาะในแถบเอเชีย ทั้งจากบังกลาเทศ ลาว พม่า

อย่างไรก็ดี รศ.นพ.วสันต์กล่าวว่า ยังมีสิ่งที่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาศักยภาพของไทยอยู่บ้าง ตรงที่อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ยังไม่กระจายเพียงพอ มีเฉพาะในโรงพยาบาลหลักๆเท่านั้น ขณะที่การรักษายังคงกระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาลของภาครัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น จากอัตราผู้เข้ารักษา 10,000 คน จะเป็นการรักษาในโรงพยาบาลของเอกชนเพียงประมาณ 20-30% ที่เหลือเป็นการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ

“ทั่วประเทศมีโรงพยาบาลที่สามารถให้การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบผ่านสายสวนหรือบอลลูนขยายหลอดเลือดอยู่เพียง 44 แห่ง เฉพาะในกรุงเทพฯมีอยู่เกินครึ่งแล้ว ส่วนในต่างจังหวัดจะอยู่ในเขตเมืองสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา อุบลราชธานี ชลบุรี และจันทบุรี” รศ.นพ.วสันต์กล่าว

ในอนาคตคาดว่าคงจะมีการปรับปรุงดีขึ้น ทั้งในเรื่องการขยายตัวของสถานที่ให้บริการรักษา และความเพียงพอของอุปกรณ์เครื่องมือ

อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.วสันต์ได้ให้ข้อคิดว่า แม้จะมีอุปกรณ์และเทคนิคใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ที่ช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทางที่ดีควรจะเน้นการป้องกัน ลดเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่างๆลง

“ถ้าคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆได้ เช่น การป้องกันและควบคุมโรคเบาหวาน ควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูง คุมไขมันในเลือดให้ได้ และงดสูบบุหรี่ ก็จะเป็นโรคนี้น้อยลงได้” รศ.นพ.วสันต์กล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *