ระวัง…ภัยเงียบจากมลพิษ ทำลายสมองลูกน้อย

ระวัง…ภัยเงียบจากมลพิษ ทำลายสมองลูกน้อย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวต่างประเทศชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ และออกจะตรงใจดิฉันที่ตั้งใจจะเขียนถึงเรื่องนี้อยู่พอดีทีเดียว

เรื่องที่ว่าก็คือมีนักวิจัยชาวเดนมาร์กได้ออกมาเตือนภัยถึง “ภัยเงียบจากมลพิษ” ซึ่งกำลังคุกคามเด็กนับล้านคนทั่วโลก ที่กำลังเสี่ยงต่อการถูกมลพิษทำลายสมอง

ปัจจุบันอันเนื่องมาจากสภาพอากาศของโลกอบอวลไปด้วยสารเคมีที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรม ซึ่งมีฤทธิ์ร้ายทำลายศักยภาพความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ได้อย่างร้ายกาจ โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์และเด็กน้อยทั้งหลาย ส่วนผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ที่ต้องสูดดมมลพิษเหล่านี้อยู่ทุกวี่วันก็เสี่ยงต่อโรคพาร์คินสัน ซึ่งกำลังคุกคามอย่างเงียบเชียบ

ในขณะที่ตัวเลขเด็กในปัจจุบันพบว่า 1 ใน 6 มักมีโรคหรืออาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ออทิสติก สมาธิสั้น สมองช้า หรือสมองพิการ ฯลฯ

ระดับมลพิษระดับต่ำ ไม่ว่าจะเป็น ตะกั่ว และสารปรอท ที่มีผลต่อสมองนั้น เป็นที่รับรู้กันมาหลายทศวรรษ จึงมีการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของมลพิษนี้ให้เหลือน้อยที่สุด

ดร.ฟิลิปเป แกรนด์จีน นักวิจัยจากคณะสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเซาท์เดนมาร์ก ระบุว่ามีสารเคมีอย่างน้อย 202 ชนิดที่เป็นอันตรายต่อสมอง แต่ยังไม่รู้ชัดว่าการสัมผัสสารเคมีเหล่านี้ในระดับต่ำส่งผลอย่างไร

“ควรมีการจำกัดระดับการสัมผัสสารเคมีเหล่านี้สำหรับหญิงมีครรภ์และเด็กเล็ก ซึ่งมีความอ่อนไหวในเรื่องของพัฒนาการทางสมอง และบอบบางต่ออันตรายจากสารเคมี”

ดร.แกรนด์จีน ซึ่งเป็นศาสตราจารย์รับเชิญของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดด้วย กล่าวว่า สมองคนเราเป็นอวัยวะล้ำค่าและบอบบาง ความเสียหายแม้เพียงจำกัดอาจส่งผลร้ายแรงได้ การกำหนดระดับการสัมผัสสารเคมีอาจเป็นเรื่องยาก แต่จำเป็นต้องทำเพื่อปกป้องพัฒนาการทางสมองของคนรุ่นต่อไป

“มีสารเคมีไม่กี่ชนิดที่ถูกควบคุม อย่างเช่นตะกั่วและสารปรอท เพื่อปกป้องเด็ก ขณะที่สารเคมีอีก 200 ชนิดที่รู้กันว่าอันตรายต่อสมอง กลับไม่ถูกควบคุมเพื่อปกป้องตัวอ่อนในครรภ์มารดาและเด็กเล็ก”

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ฟิลิป แลนดริแกน จากคณะแพทย์ศาสตร์เมาต์ไซไนในนิวยอร์ก กล่าวเพิ่มเติมมีว่าสารเคมี 202 ชนิดที่นักวิจัยกลุ่มนี้ระบุ มีอันตรายร้ายแรงหากถูกย่อยสลายในท้อง เช่น สารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน เช่น อะลูมิเนียมในกระทะแบนและกระป๋องน้ำอัดลม, อะซีโทนในน้ำยาล้างเล็บ, อะครีลาไมด์ที่ใช้ในหมึกพิมพ์ และกาว ทำให้ง่วงงุน เห็นภาพหลอน, ไซโคลเฮกเซน ใช้ในการผลิตไนลอน สี ยาฆ่าเห็ดรา มีฤทธิ์ทำให้ปวดศรีษะและเป็นตะคิว, เมทานอล เป็นส่วนผสมในน้ำมันและสีสเปรย์ ทำให้มึนเมา ปวดท้อง ขา และหลังอย่างรุนแรง

ไตรคลอโรเอททิลีน ใช้ในน้ำยาซักแห้ง น้ำยาละลายคราบน้ำมันและเรซิน การสูดดมสารเคมีชนิดนี้เป็นเวลานานๆ อาจทำให้วิงเวียน ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งใดๆ, อนิลีน ใช้ในยาฆ่าแมลง สีย้อมผ้า และยางลบ การสูดดมเข้าไปแม้เพียงเล็กน้อยแต่นานเป็นปีอาจทำให้เป็นมะเร็ง, สไตลีนใช้ในการผลิตพลาสติก สูดดมเข้าไปเล็กน้อยแต่ระยะยาวอาจทำให้สายตาเพี้ยน สูญเสียความสามารถในการได้ยิน และมีปฏิกิริยาโต้ตอบช้า

ช่องทางหลักในการแพร่กระจายของสารพิษคือ การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมระหว่างการผลิต ซึ่งทำให้สารเคมีซึมลงสู่แหล่งน้ำ ล่องลอยไปในอากาศ หรือปนเปื้อนในอาหาร

แม้เรื่องนี้จะมีการถกเถียงในหมู่นักวิจัยด้วยกันถึงระดับความรุนแรง แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า สารเคมีมีส่วนต่อการทำลายสมองอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก

ดิฉันจำได้ว่าเมื่อสมัยเป็นเด็กเคยมีเพื่อนบ้านขายยาฆ่าแมลง ซึ่งจะมีสารพัดชนิด สารพัดสูตรสารเคมี ที่เธอเติบโตขึ้นมาท่ามกลางธุรกิจของพ่อแม่ เวลาดิฉันไปบ้านเธอทีไร หายใจไม่ค่อยออก และไม่กล้าพูดอะไร เพราะตอนนั้นกลัวถึงขนาดว่าเวลาพูดแล้วสารเคมีจะเข้าไปในปากด้วย และเมื่อสอบถามด้วยความเป็นห่วงว่าทำไมถึงอยู่กันได้โดยไม่เหม็นบ้างเลย

เธอบอกว่าเธอโตมาก็ขายแล้ว และเธอก็ยอมรับว่าทุกคนในครอบครัวร่างกายไม่แข็งแรง ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องสูดดมเจ้าสารเคมีเข้าไปทุกวัน และบางคนในขณะนี้ ก็ประสบปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ จนกระทั่งได้ข่าวว่าครอบครัวของเธอได้ตัดสินใจเปลี่ยนธุรกิจไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยความที่ครอบครัวของเธอได้ประจักษ์แล้วว่า

“แม้จะได้เงินดี แต่สุดท้ายสิ่งที่เรียกกลับคืนมาไม่ได้คือสุขภาพร่างกายของคนที่เรารัก”

นั่นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในครอบครัวหนึ่ง ตัวอย่างที่กำลังหนักหน่วงสำหรับพวกเราคนเป็นพ่อแม่ขณะนี้ก็คือ คำถามที่ว่า…

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ไม่เหมาะสมที่จะให้เด็กเกิดและเติบโต…

จริงหรือ !!

ประมาณปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีข่าวชิ้นหนึ่งได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ จังหวัดกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ประสบปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมอย่างหนัก อันเนื่องมาจากความพยายามในการขยายตัวให้กลายเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

กรุงเทพฯ สูญเสียสภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์ไป จากดินในไร่นากลายมาเป็นตึกสูงระฟ้าที่ขึ้นเป็นดอกเห็ดในระยะเวลาอันรวดเร็ว ถนนหลายสายที่เพิ่มขึ้นแทนคูคลอง หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นช่วยอำนวยความสะดวกให้คนบางกลุ่ม แต่กลับกลายทำให้เกิดปัญหามลพิษกันทั้งเมือง โดยเฉพาะควันพิษและฝุ่นละอองนั้นเป็นตัวการที่ทำให้คนสมัยนี้เป็นโรคภูมิแพ้กันมากขึ้น

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ถูกออกแบบมาให้คนใช้รถยนต์ ทำให้รถยนต์เต็มท้องถนน การจราจรก็แออัด สภาพมลพิษในอากาศก็เห็นกันอยู่ทุกวี่วัน

นี่ยังไม่นับรวมปัญหาสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป กรุงเทพฯ กลายเป็นสังคมที่มีพื้นที่อบายมุขมากกว่าพื้นที่ดี

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี แต่ในทางตรงกันข้ามจิตใจของคนกรุงเทพฯ บางส่วนกลับเสื่อมลงไม่เจริญตามความก้าวหน้าทางวัตถุที่รุดหน้าไปอย่างกู่ไม่กลับ สังคมมีการแก่งแย่งแข่งขันกันสูงขึ้น จนทำให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีน้อยลงกว่าเดิม

ด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้แหละ จึงเริ่มเกิดความเชื่อใหม่ที่ว่า…

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ไม่เหมาะสมที่จะให้เด็กเกิดและเติบโต !

แต่ในขณะเดียวกัน ตัวเลขอัตราการเกิด และการขยายตัวจากพลเมืองในชนบทก็ยังคงทยอยเข้าสู่กรุงเทพฯ กันอย่างต่อเนื่อง ประหนึ่งทยอยกันเข้ามาสู่พื้นที่ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า เป็นพื้นที่ภัยเงียบจากมลพิษ ที่พร้อมจะทำลายสมองลูกน้อยได้ตลอดเวลา

คุณเห็นด้วยหรือไม่..!!

________________________________________

สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *