รถไฟห้องเย็นคือคำตอบ
รถไฟห้องเย็นคือคำตอบ
หลังจากทนกับสินค้าเกษตรที่เน่าเสียระหว่างการขนส่งข้ามประเทศมานาน
บริษัทขนส่งในอเมริกาคิดวิธีแก้ปัญหาได้แล้วด้วยการใช้รถไฟห้องเย็นที่ออกแบบ
พิเศษ ผักและผลไม้ยังสดเหมือนเมื่อเริ่มบรรทุกเมื่อถึงอีกฟากมหาสมุทร
หากส่งบรอคโคลี 3-4 ตันไปกับตู้สินค้ารถไฟปกติจากวัลลา วัลลาในรัฐวอชิงตันทางฝั่งตะวันตกของอเมริกา กว่าจะถึงปลายทางทางฝั่งตะวันออกด้วยระยะทาง 4,400 กว่ากิโลเมตร กระหล่ำหัวเขียวเหล่านั้นคงมีค่าพอแค่ใช้ปาใส่นักร้องโอเปร่าที่ร้องเสียงผิดคีย์ได้เท่านั้น แต่ถ้าหากส่งมันไปกับรถไฟห้องเย็นขบวนพิเศษที่วิ่งข้ามฟากอเมริกาของ Railex บรอคโคลีนั้นสามารถกลายเป็นผักนุ่มลิ้นบนอาหารจานละ 210 ดอลลาร์ (7,770 บาท) ในภัตตาคาร Per Se ร้านอาหารระดับ 3 ดาว “มิชิลีน” ของทอมัส แคลเลอร์เชฟดังของอเมริกาได้
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การขนส่งสินค้าเกษตรด้วยรถไฟห้องเย็นประหยัดทั้งน้ำมัน แรงงาน แถมยังปลอดภัยและถูกกว่าทางรถหลายเท่าตัว และยังไม่ต้องไปติดบนถนนไฮย์เวย์ด้วย
การส่งสินค้าเกษตรด้วยตู้รถไฟธรรมดาข้ามฟากในอเมริกานั้น รถไฟต้องหยุดจอดคอยระหว่างทางเพื่อสับตู้หรือถ่ายขบวน การเสียเวลารังแต่จะทำให้ของเน่าเสีย การขนส่งวิธีนี้ใช้เวลาตั้งแต่ 10-25 วันกว่าสินค้าจะถึงที่หมาย แล้วยังต้องรอให้รถบรรทุกมาถ่ายสินค้าออกไปกระจายต่อ แต่หากใช้รถบรรทุกชนิดที่แวะจอดเพียงไม่กี่จุดและคนขับรถไม่เถลไถลมากก็จะใช้เวลาประมาณ 5 วันเป็นอย่างน้อย
แอนดี้ พอลลัค เจ้าของและผู้บริหารของ Ampco Distribution Services บริษัทผู้จัดจำหน่ายสินค้าเกษตรในนครนิวยอร์กเอือมระอากับการเสียของและเสียเวลาของการขนส่งข้ามประเทศแบบเดิมเต็มที เพราะมันทำให้มันฝรั่งเกรดเอที่โหลดขึ้นจากโอไฮโอกลายเป็นมันบด (แบบไม่ได้ตั้งใจ) เมื่อถึงฟิลาเดลเฟีย และการกระจายสินค้าต่อด้วยรถบรรทุกก็ยุ่งยาก เพราะคนขับรถหายากและน้ำมันก็แพงเหลือแสน
พอลลัคอยากส่งสินค้าของเขาข้ามฝั่งด้วยรถไฟด้วยความรวดเร็ว เขาเข้าไปเจรจากับ Union Pacific Railroad และ CSX Transportation สองบริษัทคมนาคมใหญ่ขอให้พวกเขาจัดขบวนรถไฟที่ทำเป็นห้องเย็นทั้งขบวนและสามารถวิ่งข้ามฝั่งโดยไม่ต้องหยุดแวะที่ไหน ทั้งสองบริษัทสนใจและบอกเขาว่าการขนส่งจะใช้เวลาเพียง 5 วัน แต่มีข้อแม้ว่าพอลลัคต้องทำให้รถไฟขบวนนี้เล่นอย่างน้อยสัปดาห์ละเที่ยว เพื่อเป็นหลักประกันว่าขบวนรถไฟและหัวรถจักรที่ยกให้เขาบริหารได้ทำงานและพอลลัคต้องเป็นผู้กระจายสินค้าต่อเอง
ขั้นตอนต่อไปที่พอลลัคต้องทำคือหว่านล้อมเกษตรกรที่เจ็บปวดกับการเห็นผลผลิตของตนเน่าเสียระหว่างทางมานักต่อนักให้มาใช้บริการรถไฟขบวนพิเศษของเขา “พวกเขาไม่เห็นด้วยในตอนแรกและลังเลเพราะไม่คิดว่าการรถไฟจะร่วมมือด้วย ต้องกล่อมกันนานมาก” พอลลัคเล่า
พอลลัคมั่นใจว่าความคิดของเขาน่าจะสัมฤทธิ์ผลและคิดว่าอย่างไรเสียเขาจะต้องได้ขนส่งสินค้าสัปดาห์ละเที่ยวแน่ เขาลงมือสานต่อแผนของเขาโดยลงทุนก้อนแรก 50 ล้านดอลลาร์ (1,850 ล้านบาท) เพื่อสั่งทำตู้ห้องเย็นขนาดใหญ่เพื่อบรรทุกสินค้าจากวัลลูลา รัฐวอชิงตันจากทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกไปจดฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกที่รอตเตอร์ดัมในนิวยอร์ก และสร้างแวร์เฮาส์ห้องเย็นที่จำเป็น
รถไฟขบวนปฐมฤกษ์ของ Railex เริ่มวิ่งในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เป็นรถไฟขนสินค้าเกษตรข้ามฝั่งล้วนๆ ขบวนแรก รถไฟขบวนพิเศษนี้สามารถบรรทุกสินค้าได้เท่ารถบรรทุก 200 คัน สินค้าเกษตรตามฤดูกาลที่ใช้บริการมีทั้งหัวหอม มันฝรั่ง แอปเปิล บรอคโคลี ลูกแพร์ เชอร์รีและอื่นๆ ที่จัดเก็บในตู้ตามอุณหภูมิที่เหมาะสำหรับพืชผักแต่ละชนิด รถไฟไม่แวะหยุดที่ไหนเลยนอกจากจอดเพื่อเปลี่ยนพนักงานขับรถไฟกับเติมเชื้อเพลิง
5 วันต่อมาของทั้งหมดก็ถูกขนด้วยรถห้องเย็นเพื่อถ่ายเก็บไว้ในแวร์เฮาส์ห้องเย็นขนาดใหญ่ในรอตเตอร์ดัมก่อนจะถูกกระจายไปตามร้านค้าปลีกในฝั่งตะวันออกต่อไป “สินค้าจะคงความสดไว้เสมอเพราะจะไม่มีการถูกทิ้งไว้นอกห้องเย็นเลย” พอลลัคยืนยัน และยังบอกว่าผลประโยชน์ที่เห็นได้จากบริการรถไฟห้องเย็นของเขาก็คือร้านค้าทางตะวันออกไม่ต้องเผื่อเวลาในการสั่งของและไม่ต้องมีสินค้าในสต๊อกมากเหมือนเมื่อก่อน และยังได้สินค้าสดวางจำหน่ายได้ภายใน 24 ชั่วโมง ช่วยลดค่าใช้จ่ายคงคลังของร้านค้าได้มาก “ร้านค้าเหล่านี้ไม่ต้องสั่งแอปเปิลวอชิงตันจากรัฐวอชิงตันแล้วรอไป 1 อาทิตย์กว่าสินค้าที่สั่งจะมาถึง ลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้จากรอตเตอร์ดัมในนิวยอร์กได้เลยและจะได้ของที่อยู่ในสภาพสดในวันรุ่งขึ้น” พอลลัคบอก
“สำหรับคนทางฝั่งตะวันออก การได้ของจากอีกฟากของประเทศภายใน 24 ชั่วโมงถือว่าสุดยอดแล้ว” พอลลัคคุย “เรากำลังพลิกโฉมอุตสาหกรรมนี้กันเลย”
เมื่อเปรียบเทียบกับรถบรรทุก รถไฟใช้น้ำมันดีเซลลดลงถึง 100,000 แกลลอน พอลลัคบอกว่าหากรถไฟวิ่งสัปดาห์ละเที่ยวก็จะประหยัดน้ำมันได้ปีละ 5,000,000 แกลลอนแล้ว และ Railex ก็ได้คุ้มต้นทุนหากวิ่งสัปดาห์ละเที่ยวการวิ่งมากเที่ยวกว่านั้นก็จะเป็นกำไร พอลลัคมั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มการวิ่งให้ได้สัปดาห์ละ 5 เที่ยว แต่ปัญหาติดขัดตอนนี้คือเที่ยวกลับรถไฟยังต้องตีตู้เปล่ากลับ เขากำลังจะจีบสินค้าพวกเบียร์ ไวน์ น้ำอัดลม น้ำและสินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิจากผู้ผลิตที่อยากหาตลาดทางฝั่งตะวันตกมาใช้บริการรถไฟขบวนที่เขาคิดขึ้น เขายังมีเป้าหมายต่อไปคือการปรับเส้นทางอีกเล็กน้อยเพื่อให้รถไฟแวะแคลิฟอร์เนีย ฟลอริดาและเทนเนสซี เมื่อนั้นแหละ Railex ก็จะเป็นขบวนรถไฟที่ขนส่งข้ามทวีปอเมริกาอย่างเต็มรูปแบบ
ข้อมูลจาก http://www.forbe.com/