รถรับส่งนักเรียนประหยัดกว่ารถส่วนตัวอย่างน้อย 4 เท่า

รถรับส่งนักเรียนประหยัดกว่ารถส่วนตัวอย่างน้อย 4 เท่า

วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันของโลกกลับมากระตุ้นเตือนให้เราต้องใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ มาตรการต่างๆ ถูกผลักดันออกมา หนึ่งในมาตรการเหล่านี้ที่มีผลต่อการลดใช้พลังงานมากที่สุดก็คือ “ไปทางเดียวกัน ใช้รถคันเดียวกัน” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชีวิตในเมืองปัจจุบันที่ต่างฝ่ายต่างอยู่ จุดตั้งต้นเดินทางคนละที่และปลายทางก็คนละแห่ง แต่ความยากนั้นอาจไม่ได้รวมถึงเด็กนักเรียน ซึ่งมีจุดหมายปลายทางในการเดินทางร่วมกันคือ “โรงเรียน” เข้าไปด้วย

“รถโรงเรียน” จึงเป็นคำตอบหนึ่งของการลดใช้พลังงานที่อยู่ในวิสัยที่จัดการได้ด้วยการส่งเสริมให้บริการรถโรงเรียนหรือรถรับส่งนักเรียนเป็นที่นิยมแพร่หลาย

จากผลการวิจัยโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ในโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาการจัดแนวเส้นทางปลอดภัย และดัชนีชี้วัดความปลอดภัยสำหรับเส้นทางรถนักเรียน” เมื่อเดือนเมษายน 2547 ซึ่งทำการสำรวจข้อมูลจากนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียน และผู้ประกอบการจำนวน 2,521 คน จาก 12 โรงเรียนที่ตั้งอยู่บนถนนสามเสนซึ่งมีการจราจรติดขัดมาก พบว่า มีการใช้รถยนต์ส่วนตัวในการรับส่งนักเรียนมากถึงร้อยละ 59.6 และใช้รถโรงเรียนร้อยละ 17.7 เท่านั้น

การสำรวจสาเหตุที่ผู้ปกครองไม่นิยมให้บุตรหลานเดินทางไปโรงเรียนโดยรถรับส่งนักเรียนหรือรถโรงเรียนนั้น เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย เป็นห่วงเรื่องสภาพรถที่ไม่ดี ความแออัด และกังวลว่าบุตรหลานจะใช้เวลาอยู่กับการเดินทางมากเกินไปเนื่องจากต้องไปตระเวนรับส่งนักเรียนคนอื่นๆ ในบางรายยังเห็นว่า การใช้รถยนต์ส่วนตัวในการรับส่งนักเรียนมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า กล่าวคือ ประมาณเดือนละ 2,000 บาท ซึ่งถูกกว่าการใช้รถรับส่งนักเรียนหรือรถแท็กซี่ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 3,000 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาความคุ้มค่าระหว่างการเดินทางของนักเรียนโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวเปรียบเทียบกับรถรับส่งนักเรียนนั้น จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ เพื่อนำมาคำนวณหลายด้าน อาทิ ระยะทางในการเดินทาง ระยะเวลาที่ใช้ ตลอดจนความคุ้มค่าในระยะยาวหากมีการใช้รถรักส่งนักเรียนเพิ่มขึ้นจนส่งผลเป็นการลดปริมาณจราจรติดขัดลงได้

ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ปกครองนักเรียนเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือมูลค่าของเวลาที่ใช้ในการเดินทางเฉลี่ย (Value of Time : VOT) และค่าใช้จ่ายในการใช้รถ (Vehicle Operating Cost : VOC) อันได้แก่ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าน้ำมันหล่อลื่น ค่ายางรถยนต์ ค่าบำรุงรักษา เป็นต้น

การวิจัยดังกล่าวได้คำนวณค่าใช้จ่ายในการใช้รถต่อวัน เปรียบเทียบกันระหว่างการใช้รถรับส่งนักเรียนกับพาหนะประเภทอื่นๆ ได้ผลออกมาว่า การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันอยู่ที่ 93.29 บาท รถแท็กซี่ 53.78 บาท หากเป็นรถประจำทางไม่เกิน 20 ที่นั่งจะตกอยู่ที่ 18.88 บาท และสำหรับรถรับส่งนักเรียนนั้นจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 20.06 บาทต่อคนต่อวัน (การคำนวณเหล่านี้มาจากค่าเฉลี่ยที่รถยนต์ส่วนบุคคลมีผู้นั่งเฉลี่ย 1.4 คนต่อคัน รถตู้ 10 คนต่อคัน รถแท็กซี่ 2.3 คนต่อคัน และรถโดยสารประจำทาง 20 คนต่อคัน)

จะเห็นว่า การเดินทางโดยใช้รถรับส่งนักเรียนมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลประมาณ 4 เท่า หรือน้อยกว่าแท็กซี่ 2.5 เท่า

และเมื่อพิจารณาในแง่มูลค่าของเวลาที่ใช้ในการเดินทาง (VOT) นั้น จากการคำนวณในโครงการศึกษาการแปลงแผนแม่บทการขนส่งมวลชนระบบรางในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องไปสู่การปฏิบัติ, 2547) พบว่า เที่ยวของการเดินทางของแต่ละคนจะเท่ากับ 120 บาทต่อชั่วโมง และหากนำตัวเลขนี้มาใช้อ้างอิง เพื่อนำไปคำนวณกับเวลาที่ประหยัดได้เมื่อผู้ปกครองไม่ต้องเดินทางมาหรือไปเพื่อรับส่งนักเรียนก็จะพบว่า หากผู้ปกครองเปลี่ยนจากรถยนต์มาใช้รถโรงเรียน ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในภาพรวมได้ถึง 113 บาทต่อวันต่อคน หรือคิดเป็นเงินประมาณ 22,000 บาทต่อปีเลยทีเดียว

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การประหยัดรายจ่ายในภาพรวมที่เกิดกับผู้ปกครองแต่ละคนที่สูงขนาดนี้ หากรวมเป็นภาพรวมการใช้จ่ายของประเทศจะส่งผลขนาดไหน ดังนั้นการหันมาใช้บริการรถของโรงเรียน จึงเป็นทางออกที่คุ้มค่าต่อตัวเด็กนักเรียนเองที่จะได้รับบริการที่ปลอดภัยจากการควบคุมและกำกับ คุ้มค่าต่อผู้ปกครอง และต่อสังคมโดยรวมที่จะใช้พลังงาน ใช้เวลาของทรัยพากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *