ยุทธศาสตร์ "โลจิสติกส์" เปิดมิติใหม่ระบบขนส่งสินค้า
ยุทธศาสตร์ “โลจิสติกส์” เปิดมิติใหม่ระบบขนส่งสินค้า
ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหม่ที่เกิดขึ้น สำหรับการประชุมยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ที่หัวหิน ซึ่งเป็นการจัดขึ้นร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐบาล 2 หน่วยงาน คือ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง โดยที่มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ เป็นต้น
เนื่องจากที่ผ่านมา ในการทำงานร่วมกันเองระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลมักจะมีการปัดแข้งปัดขากันเอง แก่งแย่งงบประมาณ ทำให้การประสานงานกันมักจะเป็นการ “ประสานงา” เสียมากกว่า
ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ มีมาตรการที่เห็นออกมาชัดเจนภายหลังการประชุมคือ การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมศุลกาการและการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกแบบเบ็ดเสร็จภายใน 1 วัน (One Day Clearance) โดยทั้ง 2 หน่วยงานยืนยันว่าหลังจากการประชุมอีก 1 เดือน มาตการนี้จะมีการทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งหากมีการดำเนินการได้จริง ก็จะส่งผลดีต่อต้นทุนในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกของประเทศได้มากทีเดียว
รวมไปถึงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการขนส่งพอร์ต ทู ดอร์ และ ดอร์ ทู พอร์ต, ข้อตกลงเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า และข้อตกลงการนำส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ด่วนถึงมือผู้รับ ส่วนยุทธศาสตร์ทางอากาศนั้น มี 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ
1. โกลบอล ดิสติเนชั่น เน็ตเวิร์ก โดยขยายเครือข่ายเส้นทางบินครอบคลุมทั่วโลก เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของสินค้าในกลุ่มประเทศจีเอ็มเอส และเอเชียใต้
2. พัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติให้เป็นประตูระดับโลก โดยให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นประตูสู่ระดับโลก และให้สนามบินเชียงใหม่และภูเก็ตเป็นประตูสู่ภูมิภาค
และ 3. เป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ของโลกด้านอาหาร ผัก ผลไม้สด ดอกไม้ แฟชั่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อะไหล่รถยนต์ และเครื่องประดับ
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากว่าไทยเรามีต้นทุนการขนส่งสินค้าสูงถึง 25-30% เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐ ยุโรป ซึ่งมีต้นทุนค่าขนส่งน้อยกว่า 10% จึงเห็นว่าหากไม่ดำเนินการใดๆ ประเทศเราหมดอนาคตแน่ เพราะการแข่งขันในตลาดโลกนับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ความรวดเร็ว และต้นทุนที่ถูก เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความได้เปรียบ
โดยเรื่องดังกล่าว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวว่า “นอกเหนือจากการร่วมมือกับกระทรวงการคลัง เพื่อวางแผนในการกำหนดแผนพัฒนาโลจิสติกส์ระดับประเทศแล้ว ในส่วนของกระทรวงคมนาคม จะดูว่ามีศูนย์กระจายสินค้า คลังสินค้าที่รวบรวมสินค้า แล้วดูว่าจะส่งไปถึงปลายทางได้อย่างไร แต่เดิมเคยคิดว่าจะให้มีคลังสินค้า 4 มุมเมือง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ขณะนี้กำลังดูรูปแบบที่เหมาะสม แล้วจะนำมาผสมผสานกับการขนส่งหลายรูปแบบ ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ เรือ มาเชื่อมโยงกัน เพื่อให้สินค้าขนส่งได้เร็วที่สุดในราคาถูกที่สุด”
“เราต้องดูถึงตัวสินค้าว่าสมควรจะใช้การขนส่งทางไหน ค่าขนส่งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศแตกต่างกันอย่างไร หากเป็นทางอากาศก็ต้องเป็นสินค้าที่มีราคาแพง บรรจุในแพ็กเกจจิ้งที่สวย ต้องการความรวดเร็ว หรือเป็นสินค้าเทกอง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรต่างๆ ก็ต้องขนส่งทางเรือ การบริหารจัดการเพื่อความรวดเร็วนั้นสำคัญ แต่ว่าการขนส่งให้ต้นทุนถูกก็สำคัญเช่นกัน แล้วแต่สินค้าแบบไหน แต่ต้องมีการบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้เยอะขึ้น เพราะโลจิสติกส์คือต้องควบคุมทุกอย่าง ซึ่งเรามีข้อมูลแล้วว่าสินค้าแต่ละประเภทจะขนส่งทางไหนบ้างจึงจะคุ้มค่าที่สุด”
โดยที่กระทรวงคมนาคมได้ทำยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไว้แล้วทั้งทางภาคพื้น และทางอากาศ โดยในทางภาคพื้นนั้น มี 4 ยุทศาสตร์หลัก คือ
1. พัฒนาท่าเรือไทยให้เป็นประตูไปสู่ภูมิภาค โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะต้องขยายขีดความสามารถของสถานบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ให้มากขึ้น ขณะที่องค์การขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ต้องตั้งสถานีบรรจุและขนถ่ายตู้สินค้า เพื่อการนำเข้าและส่งออกย่านพหลโยธิน ส่วน กทท. ก็ต้องปรับปรุงท่าเทียบเรือให้รองรับเรือโรล์ ออน โรล์ ออฟ ระหว่างประเทศได้ ควบคู่ไปกับพัฒนาท่าเรือที่ยังว่างอยู่ ให้มีผู้เข้ามาบริหารท่าให้เต็ม และพัฒนาท่าเทียบเรือภูมิภาคให้เข้มแข็งมากขึ้น เป็นต้น
2. พัฒนาศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า โดยตั้งฮับประจำภาค เพื่อประสานระบบขนส่งให้สมบูรณ์ โดยมีโครงการที่จะพัฒนาย่านคอนเทนเนอร์ในภูมิภาค และขนส่งจากย่านคอนเทนเนอร์ในภูมิภาคไปยังปลายทาง
3. พัฒนาวิธีการขนส่งไปสู่ระบบราง ทางน้ำและทางท่อ เพื่อให้การขนส่งมีปริมาณมากขึ้น แต่สามารถลดต้นทุนการขนส่ง และประหยัดพลังงานได้ ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) ได้เริ่มศึกษาเพื่อพัฒนาระบบราง น้ำ และท่อ ให้เกิดความเชื่อมโยงกันแล้ว ส่วน ร.ฟ.ท. นั้น ก็ต้องเร่งก่อสร้างทางคู่ในช่วงชุมทางเส้นทางขนส่งสินค้ามายังท่าเรือแหลมฉบังให้มากขึ้น ด้าน บทด. ต้องเร่งส่งเสริมการใช้เรือโรล์ ออน โรล์ออฟ ให้มากขึ้นเช่นกัน
และ 4. พัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านโลจิสติกส์ สำหรับระบบการขนส่งทางภาคพื้น เพื่อให้บริการแบบ ดอร์ ทู ดอร์ ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการโลจิสติกส์แห่งชาติขึ้นมาแล้ว เพื่อให้เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานทั้งหมด พร้อมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีขั้นตอนมากๆ ให้น้อยลง นำระบบไอทีเข้ามาใช้มากขึ้น
นอกจากนี้ ในส่วนของการขนส่งคนนั้น จะมีการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้น และโดยเฉพาะระบบราง ซึ่งขณะนี้มีเพียง 42 ก.ม.เท่านั้น โดยขณะนี้รัฐบาลมีโครงการที่จะก่อสร้างการขนส่งด้วยระบบรางให้ครบ 200 ก.ม.ภายใน 6 ปี โดยมีวงเงินลงทุน 400,000 ล้านบาท คงจะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้หาเงิน กับกระทรวงคมนาคมที่เป็นเจ้าของโครงการ
จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้ถือเป็นมิติใหม่ในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐบาลที่จะต้องมีการประสานงานกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มักจะมีกลิ่นไม่ค่อยดีเข้ามาโดยตลอดในอดีตที่ผ่านมา
ดังนั้น คงจะต้องจับตาดูว่า เมื่อมีนโยบายต่างๆ ออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว เมื่อถึงเวลาที่ปฏิบัติจริง จะสามารถทำได้อย่างที่พูดกันไว้หรือไม่ เพราะการพัฒนาระบบการขนส่งของประเทศนั้น อาจจะถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลเลยทีเดียว
ที่มา เศรษฐกิจ มติชนรายสัปดาห์ หน้า 22 วันที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 24 ฉบับที่ 1255