ยุทธศาสตร์การจัดการโลจิสติกส์สู้วิกฤติน้ำมัน

ยุทธศาสตร์การจัดการโลจิสติกส์สู้วิกฤติน้ำมัน

 

จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้น และแรงกดดันสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบต้องแบกรับภาระต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการด้านธุรกิจโลจิสติกส์ จะต้องมีการดำเนินการ เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้เป็นรูปธรรมที่มีประสิทธิภาพ และเป็นแผนงานที่สามารถดำเนินการได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

คำถามยอดฮิตในปัจจุบันก็คือ ทำอย่างไร? กับวิกฤติน้ำมัน ในการที่จะลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ และสร้างความสามารถทางการแข่งขันได้ ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการควรมีการสร้างกลยุทธ์ 7 ประการคือ กลยุทธ์แรก 4 S ซึ่งประกอบด้วย

การมีมาตรฐานการทำงาน (Standard) โดยมีการกำหนดมาตรฐานและวินัยที่จะปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น มาตรฐานการปฏิบัติงานขนส่ง การผลิต การทำบัญชี การบริการ การซ่อมบำรุง เป็นต้น

ระบบรักษาความปลอดภัย (Safety) โดยเฉพาะความปลอดภัยตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต จนกระทั่งส่งมอบสินค้าสำเร็จรูปถึงผู้บริการ รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น ขั้นตอนการกู้ภัย การรายงานอุบัติเหตุ การฝึกฝนทักษะบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย

การพูดจาในประเด็นความปลอดภัย (Safety Talk) การตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์และสารเสพติดพนักงานขับรถ การตรวจเช็คสภาพรถยนต์ก่อนออกปฏิบัติงาน เป็นต้น

ความรวดเร็ว (Speed) เป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ตั้งแต่เริ่มแรกที่ลูกค้ามาติดต่อจนกระทั่งงานเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เช่น รวดเร็วในการแก้ไขปัญหา รวดเร็วในการรับโทรศัพท์ รวดเร็วในการจัดส่ง เป็นต้น และการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Satisfaction) ให้คำนึงถึงลูกค้าเป็นหลักว่า ลูกค้าคือบุคคลสาธารณะที่จะเลือกใช้บุคคลใดก็ได้ ดังนั้น จะต้องทำให้เกิดการบริการที่เหนือความคาดหวังของลูกค้า (Over Customer expectation)

กลยุทธ์ที่ 2 OEMUMC ประกอบด้วย ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในระบบการทำงาน (Optimized Efficient : OE) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างทีมงาน ภาวะผู้นำ ข้อมูลพื้นฐานของการปฏิบัติงาน การมีแผนระยะสั้น เป็นต้น ทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด (Maximized Utilization : MU) ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงข่ายการขนส่ง ใช้ระบบ Just in Time แยกกลุ่มรถ เป็นต้น และการทำให้เกิดต้นทุนที่ต่ำสุด (Minimized Cost : MC) โดยการตั้งต้นทุนเป้าหมายต่อหน่วย ให้ต่ำสุด ควบคุมติดตามการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง การควบคุมการใช้ยาง การดูแลเชิงป้องกัน เปรียบเทียบต้นทุนกับมาตรฐาน เป็นต้น

กลยุทธ์ที่ 3 หันมาใช้พลังงานทางเลือก โดยปรับเปลี่ยนพลังงานที่ใช้ในการขนส่งจากน้ำมันดีเซล เบนซิน เป็นไบโอดีเซล และก๊าซ NGV ไปพร้อมกัน ถึงแม้จะเป็นการลงทุนแรกเริ่มที่ติดตั้งจะมีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็จำเป็นในยุคที่น้ำมันมีแต่ปรับสูงขึ้น

กลยุทธ์ที่ 4 รูปแบบการขนส่งทางเลือก เน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนระบบการขนส่ง (Modal Shift) ใหม่ รวมทั้งหันมาใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น เนื่องจากการใช้น้ำมันต่อระยะทางที่วิ่งเท่ากันจะพบว่า การขนส่งทางรถไฟหรือระบบรางจะประหยัดกว่าการขนส่งทางถนน 3 เท่า ส่วนทางน้ำประหยัดกว่าการขนส่งทางถนน 8-9 เท่า รวมทั้งการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) เช่น ทางถนนกับทางน้ำ ทางถนนกับทางรถไฟ ทางรถไฟกับทางน้ำ หรือทางท่อกับทางถนน เป็นต้น

กลยุทธ์ที่ 5 ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า หาตำแหน่งที่ตั้งของศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตามจังหวัดใหญ่ๆ ที่สามารถกระจายส่งต่อไปยังจังหวัดใกล้เคียงหรือประเทศเพื่อนบ้าน หรือจังหวัดที่เป็นเขตติดต่อตามชายแดนที่สามารถกระจายส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ มีการจัดระบบการขนถ่ายสินค้า การจัดพื้นที่จัดเก็บสินค้า ระบบการจัดส่งสินค้า (บาร์โค้ด/ระบบสายพาน) ระบบบริหารคลังสินค้า มีการจัดประเภทสินค้าที่จัดเก็บ การบรรจุด้วยหน่วยมาตรฐาน Stock Keeping Units : SKU มีอุปกรณ์ในการจัดวางสินค้า เช่น พาลเลท ชั้นวางของ ถังบรรจุสินค้า ฯลฯ

กลยุทธ์ที่ 6 การขนส่งสินค้าทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการจัดการโลจิสติกส์ในธุรกิจ เพื่อไม่ให้เกิดรถวิ่งเที่ยวเปล่า ซึ่งการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีมารวบรวมข้อมูลว่า เราจะส่งสินค้าไปจังหวัดนั้นๆ หากมีการตั้งศูนย์ไอที มีข้อมูลเกี่ยวกับรถเข้า-ออก มีสินค้าอะไรให้ขน ถ้ามีตัวเลขข้อมูลอยู่ ผู้ประกอบการก็จะได้กำหนดเวลาส่งสินค้าขึ้นไป แล้วรับสินค้าลงมาได้ตามเวลา

กลยุทธ์สุดท้าย คือ การร่วมมือกันในลักษณะพันธมิตร ระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจที่จะสามารถสนับสนุนกันประมาณ 5-6 ราย โดยใช้ขนส่งสินค้าเพื่อไม่ให้มีรถเที่ยวเปล่า อย่างส่วนไหนที่ไม่ต้องขนส่งเองก็ให้ใช้วิธีจ้างบริษัทจากภายนอก (Outsource) รับงานไป ซึ่งวิธีนี้ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้

อย่างไรก็ตาม การรอความหวังจากรัฐบาลในการที่จะทำให้เกิดระบบโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเมกะโปรเจคต่างๆ โครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่ง ฯลฯ นั้น ย่อมไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายนอก นอกจากนี้ การเปิดเสรีธุรกิจโลจิสติกส์ ในส่วนของธุรกิจทางอากาศที่เริ่มในปี 2008 นี้ อีกทั้งในปี 2013 ก็จะเป็นการเปิดให้ขนส่งต่อเนื่องได้หลายรูปแบบ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรจะสร้างความสามารถทางการแข่งขันและพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งเตรียมความพร้อมปรับปรุงวิธีการตั้งรับ ก่อนต่างชาติจะพาเหรดเข้ามามากกว่านี้

 

ที่มา สิทธิชัย ฝรั่งทอง วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก  กรุงเทพธุรกิจ  วันจันทร์ที่ 02 มิถุนายน พ.ศ. 2551

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *