ยุทธวิธีการทำงานแบบยอดมนุษย์ (ตอน ล้างบางนิสัยพาจน)

ยุทธวิธีการทำงานแบบยอดมนุษย์ (ตอน ล้างบางนิสัยพาจน)
 
วันที่ : 22 มิถุนายน 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : หนังสือพิมพ์ก้าวหน้า
 

            ปัจจุบันประเทศไทยมีคนยากจนจำนวนหลายล้านคน สาเหตุของความยากจนประการสำคัญ นอกจากเป็นผลมาจากการขาดโอกาสด้านต่าง ๆ และความเหลื่อมล้ำจากสังคมแล้ว ในอีกมุมหนึ่ง คนจำนวนไม่น้อยมีเหตุแห่งความยากจนมาจาก การขาดความสามารถในการใช้เงิน และ ลักษณะชีวิตของบุคคลนั้น อาทิ ความเกียจคร้าน ความรักสบายโดยไม่อดทนต่อการทำงานหนัก การติดนิสัยพึ่งพาผู้อื่นอยู่เสมอ ติดการพนัน ไม่รู้วิธีใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ หรือมีนิสัยที่เป็นเหตุให้ต้องเสียเงินโดยไม่เกิดประโยชน์ เช่น ติดสุรา ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย เป็นต้น

             หากสาเหตุความยากจนมาจาก การขาดความสามารถในการใช้เงิน และ ลักษณะชีวิตของบุคคลดังกล่าว การแก้ปัญหาความยากจนจึงควรกลับไปที่ “ราก” ของปัญหา ด้วยวิธีสร้างนิสัยแก้จน ซึ่งคงเริ่มต้นด้วยการปรับทัศนคติและรณรงค์การสร้างนิสัยแก้จน ในเรื่องต่าง ๆ โดยเริ่มตั้งแต่  

            การสร้างนิสัย…ขยันหมั่นเพียร 

            ความขยันหมั่นเพียร คือการใช้ความพยายามอย่างเอาจริงเอาจัง และใช้ความอุตสาหะในงานที่รับผิดชอบหรืออาชีพอย่างต่อเนื่อง คนส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จนั้น มักเป็นผลมาจากความเหนื่อยยากจากการทำงานหนัก เป็นคนหนักเอาเบาสู้ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่ขวางอยู่ขวางหน้า แต่มีความตั้งใจที่จะเอาชนะและก้าวข้ามอุปสรรคดังกล่าวให้สำเร็จ

            ดังนั้น หากเราอยากประสบความสำเร็จในอาชีพหรือเอาชนะความยากจน เราจำเป็นต้องสร้างนิสัยขยันหมั่นเพียรให้เกิดขึ้นกับตนเอง ทำงานด้วยความอดทนอุตสาหะ และมีความมุ่งมั่นในอาชีพดังกล่าวอย่างเต็มที่ 

            ดังตัวอย่างเช่น หากเราเป็นแม่ค้าผลไม้ เราควรตัดสินใจตื่นตั้งแต่เช้ามืดไปตลาด เพื่อไปคัดเลือกให้ได้ผลไม้ที่มีคุณภาพที่ดี ล้างทำความสะอาดผลไม้เสมอเพื่อให้มีผลที่น่ารับประทานและถูกสุขอนามัย ตลอดจนขยันหมั่นเพียรขายตรงตามเวลาทุกวันไม่ใช่ขายของหนึ่งวันแล้วหยุดหนึ่งวัน ซึ่งจะทำให้เรามีลูกค้าประจำที่ชอบทานผลไม้ที่ดี สะอาด และหาซื้อได้จากร้านของเราได้เป็นประจำ แต่ถ้าปฏิบัติในทางตรงข้าม เราย่อมจะไม่มีลูกค้าที่จะมาซื้อผลไม้กับร้านเรา อันจะนำมาซึ่งความยากจนในที่สุด 

            การสร้างนิสัย…วางแผนการใช้เงิน 

            คนบางคนยากจนเพราะใช้เงินไม่เป็น ไม่ได้คิดให้รอบคอบก่อนที่จะใช้จ่ายสิ่งใดไป ไม่ได้คิดถึงอนาคต คิดเพียงสั้น ๆ เฉพาะหน้าแบบ “หามา-ใช้ไป” “ใช้หมด-หาใหม่ได้” หรือคิดเพียงว่าหาได้น้อย แม้อยากเก็บก็ไม่มีเหลือเก็บ และมักคิดว่า ถ้ามีรายได้มากกว่านี้จึงจะเก็บได้ หรือเงินเดือนขึ้นปีหน้า จะเอาส่วนนั้นเก็บสะสมไว้ แต่เมื่อถึงเวลาจริง ๆ ไม่เคยทำได้เลย ผ่านไปปีแล้วปีเล่าก็เก็บเงินไม่ได้ ใช้หมดทุกที

            กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าสาเหตุของความยากจน คือการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย นิยมซื้อสินค้าที่มีชื่อเสียงและราคาแพง ใช้จ่ายโดยไม่ได้คิด ชอบซื้อสินค้าก่อนแล้วผ่อนทีหลัง ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าว่ามีความจำเป็นที่จะต้องซื้อสินค้าดังกล่าวหรือไม่  

            ดังจะเห็นได้จากทุกครั้งที่ไปเดินห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีสินค้าและการจัดวางสินค้าที่ดึงดูดสายตาและกระตุ้นความรู้สึกอยากได้ เราจะพบตัวเองว่าได้ใช้จ่ายเงินไปสิ่งของที่ “อยากได้” มากกว่าสิ่งของที่ “จำเป็น” และพบในภายหลังว่าสินค้าชิ้นดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ในการใช้สอยหรือใช้งาน นอกจากความพึงพอใจในชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น 

            ในที่สุดแล้วเราจะพบว่าเราเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ยากจน เนื่องจากขาดการวางแผนการใช้เงิน จนทำให้ไม่มีเงินเก็บสะสมเหลืออยู่ในธนาคาร ดังนั้นทุกครั้งก่อนการใช้เงินจำเป็นต้องมี “การวางแผนด้านการใช้เงิน” ก่อนเสมอ เช่น การเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะต้องใช้จ่าย โดยคิดจากรายรับว่า เรามีรายรับเท่าใด อาจเป็นรายรับประจำวัน รายรับประจำเดือน และรายรับประจำปีว่ามีเงินจำนวนเท่าไร และจากรายรับที่มี ให้เราแจกแจงออกมาว่า เราต้องใช้จ่ายในเรื่องอะไรบ้าง โดยเรียงลำดับความสำคัญที่สำคัญที่สุดก่อน อันได้แก่

            ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ประจำ แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ และค่าใช้จ่ายประจำเดือน เช่น ค่าเช่า/ผ่อนบ้าน ค่าของใช้ภายในบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเบี้ยประกัน ฯลฯ

            ค่าใช้จ่ายตามวาระ โดยมองไปในอนาคตว่า เราจำเป็นต้องใช้จ่ายเรื่องใดบ้าง ในเดือนใด หรือเราต้องการซื้อสิ่งใด เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมได้แต่เนิ่น ๆ ไม่ต้องเดือดร้อน เช่น ค่าเทอมบุตร ค่าใช้จ่ายตอนเปิดเทอม ค่าเดินทางกลับบ้านตอนสิ้นปี ค่าเดินทางไปเที่ยวพักผ่อนประจำปี เป็นต้น

         สิ่งที่น่าไตร่ตรองก็คือ หากเราเริ่มต้นวางแผนการใช้เงินตั้งแต่ยังมีเรี่ยวแรงในการทำงาน จะทำให้ไม่เกิดความอัตคัดยามที่เราจำเป็นต้องใช้จ่าย และมีเงินเก็บสำหรับใช้จ่ายในอนาคต โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นยามที่เราแก่ชรา

            การสร้างนิสัย…รู้จักประหยัดอดออม

            ตอนหนึ่งในหนังสือ “สังคมทุรชน : ยุทธศาสตร์ความล่มสลายของสังคม“ ที่ผมเขียนไว้ มีชื่อเรื่องว่า “สังคมฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยสัญลักษณ์แห่งความฉาบฉวย” ได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะของสังคมไทยประการหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การทำลายตนเองในที่สุดคือ ความฟุ่มเฟือยและการไม่รู้จักเก็บออมของคนไทย  

การสร้างนิสัย…ด้วยการวางแผนชีวิต

            หากเราปรารถนาความสำเร็จในชีวิตและอยู่ห่างไกลความยากจน เราควรต้องรู้จักวางแผนชีวิต การวางแผนชีวิตเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะการวางแผนชีวิต ทำให้เรามีวิธีเริ่มต้นจัดการกับชีวิตของตนในแต่ละช่วงวัย เริ่มตั้งแต่วัยเรียน วัยทำงาน วัยมีครอบครัวและบุตร และวัยชรา โดยการตั้งเป้าหมายพึงประสงค์ว่าเราต้องการเรียนอะไร ประกอบอาชีพอะไร ต้องการทำสิ่งใดเมื่อใด และดำเนินการตามแผนการที่ตั้งใจไว้ เป้าหมายจะเป็นสิ่งที่ควบคุมเราให้เห็นคุณค่าของเวลา เห็นคุณค่าของการใช้จ่ายเงินทองที่เสียไป และช่วยส่งเสริมให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตด้วย|

            สรุปโดยรวมแล้ว การทำตามแผนในทุก ๆ เรื่อง ในทุกช่วงวัย ที่เขาตั้งใจกระทำไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ โดยตระหนักว่าการวางแผนชีวิตและความเตรียมพร้อมด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เป็นสิ่งจำเป็นหากต้องการให้ชีวิตประสบความสำเร็จ          หากเราไม่ต้องการเป็นคนยากจนหรือทำลายตนเองในบั้นปลายของชีวิต ควรจะต้องเป็นคนประหยัดอดออม โดยเห็นคุณค่าของการอดออม อดทนต่อสิ่งของวัตถุที่ต้องการอยากจะได้มากกว่าความจำเป็น อีกทั้งยังต้องวางแผนการใช้เงินให้ถูกต้อง เรียงลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะต้องใช้จ่าย 

         ทั้งนี้การอดออมควรจะต้องเริ่มปลูกฝังให้เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในวัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยเริ่มสอนตั้งแต่ลูกหลานของเราที่ยังอยู่ในวัยเด็กให้มีนิสัยดังกล่าวติดตัวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ เช่น ควรมีเงินเหลือจากค่าขนมในแต่ละวันและให้หยอดเงินลงในกระปุกออมสิน วางแผนที่จะเก็บเงินในแต่ละเดือนจนทำให้มีลักษณะนิสัยแห่งการเก็บออมตั้งแต่เด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นวัยทำงานและการสร้างเนื้อสร้างตัว ทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตของเราต่อไปในอนาคต 

           

            ความยากจนที่เกิดจากลักษณะชีวิตเป็นสิ่งที่เราสามารถจะแก้ไขได้ หากเราต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต ตลอดจนมีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคง คงต้องเริ่มจากปรับทัศนคติและสร้างลักษณะนิสัยดังที่กล่าวเบื้องต้น โดยเริ่มต้นที่ตนเองก่อน ซึ่งในที่สุดจะขยายผลไปยังคนรอบข้างของเราได้อีกด้วย

 

 

 

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *