ยิ่งใหญ่แล้วกลับย่ำแย่
|ยิ่งใหญ่แล้วกลับย่ำแย่
ก้าวไกลวิสัยทัศน์ : ดร. บวร ปภัสราธร กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
หลายปีที่ผ่านมา นักปราชญ์คนหนึ่งไปได้ข้อมูลมาว่า ผู้บริหารของบริษัทที่ประสบความสำเร็จ จนติดอันดับของนิตยสารธุรกิจชื่อดังฉบับหนึ่ง มีถึงกว่าหนึ่งในสามที่ไม่สามารถรักษาตำแหน่งของตนไว้ได้นานเกินกว่าสามปี ซึ่งกว่าครึ่งของผู้บริหารที่พ้นตำแหน่งในเวลาอันรวดเร็วนี้ เป็นผู้บริหารที่เพิ่งก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดขององค์กรเป็นครั้งแรก และล้วนแต่เคยเป็นนักบริหารที่มีฝีมือระดับดาวรุ่งมาก่อนทั้งสิ้น เป็นดาวรุ่งที่เป็นใหญ่แล้วกลับย่ำแย่ ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ก็พอมีตัวอย่างความล้มเหลวที่เกิดขึ้นง่ายๆ อย่างไม่น่าเชื่อของผู้ยิ่งใหญ่หลายคนในอดีต เหตุใดนักบริหารที่ชาญฉลาดกลับพลาดท่าอย่างง่ายดายเมื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดขององค์กร ตอนเป็นลูกน้องเก่งกาจ เป็นลูกพี่กลับล้มเหลว นักปราชญ์หลายคนช่วยหาคำตอบในเรื่องนี้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ที่จะรวบรวมคำตอบเพื่อมาดูกันว่าผู้บริหารคนใดที่กำลังมีพฤติกรรมที่นำไปสู่ความล้มเหลวนี้บ้าง
เมื่อรู้แล้วถ้าเป็นพรรคพวกกันก็จะได้บอกกล่าวให้รู้ตัว ว่าท่านผู้บริหารกำลังเดินตามรอยเท้า ของผู้ที่เคยประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ แต่แล้ววันหนึ่งกลับพลาดท่าอย่างน่าเสียดาย แต่ถ้าไม่ได้เป็นพรรคพวกกัน ก็ขอให้ใจเย็นๆ ไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่ทนรอสักพักก็จะได้เห็นผู้บริหารคนนั้น ตกเก้าอี้ไปด้วยตัวเองโดยไม่มีใครมาทำอะไร
คนเก่งคนใดที่ก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดขององค์กรแล้วเริ่มรู้สึกว่าตนเองรู้ทุกเรื่อง ตนเองเก่งทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ก็คิดว่าตนเองหาคำตอบได้ทั้งหมด ท่านว่าให้ระวังความล้มเหลวที่กำลังเดินหน้าเข้ามาหาไว้ดีๆ อาการแปลกๆ อันหนึ่งที่มักเกิดขึ้นให้เห็นเมื่อผู้บริหารเริ่มออกอาการนี้ ได้แก่
การที่ผู้บริหารคนนั้นมักชอบเข้าไปก้าวก่ายงานเล็กงานน้อย ที่แทบไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับงานบริหารในระดับสูง ซึ่งเป็นหน้าที่ของตน เป็นซีอีโอที่ชอบแย่งงานผู้จัดการฝ่ายทำ แต่ที่แย่งมาทำนั้นไม่ได้เป็นเพราะอยากทำงานระดับฝ่าย แต่ทำเพราะต้องการแสดงให้ผู้คนได้เห็นว่าฉันรู้ดีในทุกเรื่องทุกระดับ ซึ่งวันใดก็ตามที่ผู้บริหารรู้สึกพออกพอใจ กับความคิดที่ว่าตนเองรอบรู้ทุกเรื่องแล้ว
อาการต่อไปก็จะเริ่มรู้สึกว่าตนเองเป็นศูนย์กลางแห่งความถูกต้องภายในองค์กร ถ้าใครกระทำสิ่งใด แล้วสอดคล้องกับความคิดความเชื่อของผู้บริหารท่านนั้น ก็จะถือว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องทันที โดยปราศจากการคิดวิเคราะห์ให้รอบคอบว่า แท้จริงแล้วดีหรือไม่ดีอย่างไร และด้วยความที่ตั้งตนเองเป็นศูนย์กลางแห่งความถูกต้อง ถูกผิดจะเริ่มไม่เป็นไปตามกฎกติกาขององค์กร มีสองมาตรฐานในเกือบทุกเรื่อง คนอื่นทำผิด แต่ถ้าฉันทำเหมือนกัน ถือว่าถูก คนอื่นทำถือเป็นการแสวงหาประโยชน์ แต่ถ้าฉันทำแบบเดียวกันถือเป็นความเสียสละที่ยิ่งใหญ่
ความถูกผิดในองค์กรจึงกลับกลายเป็นความรู้สึกของผู้บริหารมากกว่าที่จะเป็นไปตามตรรกะ กฎและกติกา ทางเลือกดีๆ ที่สามารถใช้แก้ปัญหาได้จะเริ่มถูกละเลย เพราะไม่มีใครกล้าแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับผู้บริหาร หรือแม้จะเสนอความคิดออกไปแล้ว ผู้บริหารก็ไม่ใส่ใจ เพราะคิดไปว่าตนเองรู้คำตอบทุกเรื่องแล้ว
เมื่อมองเห็นแต่คนที่เห็นดีเห็นงามตามผู้บริหาร คราวนี้ถ้าคนไหนแสดงท่าทางไม่เห็นด้วย ก็มีหวังถูกกำจัดออกไปจากองค์กร คนมีฝีมือที่มีความคิดขัดแย้งกับผู้บริหารก็จะลดน้อยถอยลงไป แต่ไม่ใช่ลดลงจากการเปลี่ยนใจหันมาเชื่อถือผู้บริหาร แต่มาจากการละทิ้งองค์กร เพราะอยู่ไปก็ทำอะไรไม่ได้ และถ้าคนเก่งคนใดไปทางไหนไม่ได้แล้ว คนเก่งคนนั้นก็จะเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่แสดงความเก่งใดๆ ให้ปรากฏ
ผู้บริหารแบบนี้จึงทำให้คนเก่งกลายเป็นคนไม่เก่งได้รวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อคนค้านหมดไปเหลืออยู่แต่กองเชียร์ ผู้บริหารก็ยิ่งจะคิดอย่างมั่นใจว่า ตนเองคือความถูกต้อง ตนเองคือผู้รู้ทุกเรื่อง จนกระทั่งมองเห็นปัญหาใหญ่จากภายนอกองค์กร เป็นเรื่องเล็กไปเสียทั้งหมด เกิดเป็นความประมาทต่อปัญหาใหญ่ที่กำลังมุ่งหน้าเข้ามาหา เห็นเป็นเรื่องกระจอกไปเสียทั้งหมด การเตรียมตัวตั้งรับปัญหาจึงไม่มี หรือมีก็ไม่เพียงพอ คนมีฝีมือที่จะมาช่วยตั้งรับปัญหานั้นก็ไม่มี เพราะกำจัดไปหมดองค์กรแล้ว
ดังนั้นพอถึงเวลาที่ปัญหาใหญ่นั้นเข้ามาถึงองค์กรจริงๆ ผู้บริหารก็จะใช้วิธีเก่าๆ วิธีเดิมๆ ที่ตนเองเคยใช้มาขจัดปัญหาเหล่านี้ บางครั้งก็ผิดยุคผิดสมัยไปเลยทีเดียว สุดท้ายที่คุยว่าเก่งนักเก่งหนาก็ไม่สามารถขจัดปัญหาให้พ้นจากองค์กรได้ ซึ่งแทนที่ล้มเหลวแล้วจะสำนึก รู้ตัวในความผิดพลาดที่ทำให้เกิดขึ้น ก็กลับไปโทษทุกอย่างรอบตัว โวยวายไปเสียทุกเรื่อง โวยวายแม้กระทั่งดวงชะตา
ควบคู่ไปกับการหยิบยกความสำเร็จในอดีตเมื่อครั้งยังไม่เป็นผู้บริหารมายืนยันให้คนอื่นเชื่อในความสามารถของตน ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์จากความล้มเหลวจึงไม่มีทางเกิดขึ้นกับผู้บริหารแบบนี้ ล้มเหลวเรื่องใด ก็มีโอกาสล้มเหลวในเรื่องเดิมๆ ได้อีก ทักษะใหม่ๆ ก็ไม่มีเพิ่มขึ้น ไม่เหมือนสมัยที่ยังไม่ได้เป็นผู้บริหารที่ขยันฝึกฝนทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ
ในระหว่างที่กำลังเผชิญหน้าอยู่กับปัญหานั้น ย่อมมีทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดีหมุนเวียนกันอยู่เสมอ ผู้บริหารจะเลือกรับฟังแต่เรื่องดีๆ เกี่ยวกับงานที่ตนเองกำลังทำอยู่ ส่วนเรื่องไม่ดีจะถูกปฏิเสธไม่รับฟังทั้งสิ้น ถ้ารับฟังเฉพาะแต่เรื่องดีๆ เช่นนี้แล้ว คงไม่อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นจริงๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อความจริงในทางที่แย่ๆ ปรากฏให้เห็นต่อหน้าผู้บริหารนั่นแหละจึงจะรู้ตัว แต่ทุกอย่างก็สายไปเสียแล้ว
ถ้าวันใดผู้บริหารไม่เพียงแต่หลงคิดไปว่าตนเป็นผู้รอบรู้ เป็นศูนย์กลางของความถูกต้อง แต่ยังหลงอยู่กับภาพลักษณ์ และเครื่องประดับบารมีมากกว่าที่จะใส่ใจกับความคิดริเริ่มใหม่ๆ ท่านว่าอวสานของตำแหน่งผู้บริหาร กำลังรออยู่ข้างหน้าไม่ช้าอย่างที่คิด