มุมมองของคุณอานันท์ ปันยารชุน
|มุมมองของคุณอานันท์ ปันยารชุน
Post Today – สัปดาห์ก่อนผมได้เกริ่นให้ท่านผู้อ่านทราบว่าจากการประกาศผลรางวัล Thailand Corporate Excellence Awards 2006 ซึ่งดำเนินมาครบรอบ 6 ปี ผมและคุณวรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหารสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ท่านผู้นำ 6 ท่าน ซึ่งได้เขียนรายงานบทสรุปผู้บริหารลงในสัปดาห์ก่อนไปแล้ว …
ในสัปดาห์นี้ผมจะขอเริ่มที่บทสัมภาษณ์บางส่วนของคุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัยของเรา…
ขอเรียนถามท่านว่าจากองค์กรที่ได้รับรางวัลใน 5 ปี ที่ผ่านมา ท่านคิดว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรเหล่านั้นประสบความสำเร็จครับ
ในการประเมินว่าองค์กรใดมีความเป็นเลิศนั้นทำได้หลายวิธี แต่องค์กรที่ประสบความสำเร็จนั้นต้องมีผลงานโดดเด่นในหลากหลายด้านและหลากหลายทิศทาง
ในระยะหลังๆ เราจะได้ยินคนพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับธรรมาภิบาลกันมากขึ้น เพราะธรรมาภิบาลเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งขององค์กรที่ประสบความสำเร็จ และเป็นความจำเป็นขององค์กรที่จะต้องแสดงให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นว่า ธรรมาภิบาลเป็นสิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญเทียบเท่ากับความสามารถในการทำกำไร
ธรรมาภิบาลมีหลายแง่มุม แต่มีใจความสำคัญเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบตอบสนองต่อความไว้วางใจที่ได้รับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการและนโยบายที่องค์กรทั้งหลายเป็นผู้ควบคุมและกำหนดทิศทาง
ธรรมาภิบาลสามารถใช้ได้กับทุกหน่วยงานและทุกระบบ เมื่อคนเริ่มตระหนักว่าองค์กรได้รับเอาธรรมาภิบาลมาปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง เขาก็จะมั่นใจว่าสินค้าหรือบริการขององค์กรย่อมได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม จรรยาบรรณต่างๆ ตลอดจนได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
สิ่งที่มักคู่ขนานมากับธรรมาภิบาล คือความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility-CSR) ซึ่งเป็นแนวคิดที่สนับสนุนให้องค์กรเห็นความสำคัญของผลประโยชน์ของสังคม
องค์ประกอบของทั้ง 2 เรื่อง อาจไม่เหมือนกันโดยตรง แต่มีความสัมพันธ์กันเปรียบเสมือนล้อรถที่ก้าวไปด้วยกัน เพราะไม่มีองค์กรที่ดีหรือประสบความสำเร็จใดที่ปฏิบัติเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แม้ทั้ง 2 อย่างมีความคล้ายคลึงกันในบางเรื่อง แต่ท้ายที่สุดแล้วมีเป้าหมายเดียวกันคือ การเป็นองค์การที่รู้จักความรับผิดชอบ
ท่านคิดว่าองค์กรในบ้านเราสามารถที่จะปฏิบัติตามแนวคิดทั้ง 2 ได้ในระดับไหนครับ
ผมเห็นว่าในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา มีหลายองค์กรชั้นนำในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจธนาคารและองค์กรขนาดใหญ่อย่างเครือซิเมนต์ไทย ได้นำธรรมาภิบาลไปปฏิบัติใช้กันอย่างจริงจัง แต่ก็ถือว่ายังไม่แพร่หลายนัก เพราะน่าเสียดายที่องค์กรใหญ่ๆ บางองค์กรไม่ให้ความสำคัญ ทั้งที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรอย่างเต็มเปี่ยม แต่ขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม
แนวทางที่จะช่วยทำให้องค์กรในบ้านเรานำแนวคิดทั้ง 2 ไปปฏิบัติใช้กันมากขึ้น คือการที่องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องออกมาร่วมกันรณรงค์และพูดถึงเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น แล้วอยากเห็นองค์กรขนาดใหญ่ให้ความสำคัญกับทั้ง 2 แนวคิดนี้ให้มากขึ้น
ที่สำคัญผู้บริหารระดับกรรมการบริษัท ต้องเห็นความสำคัญ ไม่ควรมองว่าเป็นเพียงลูกเล่นในการบริหารหรือการประชาสัมพันธ์ ตัวอย่างเช่น ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ผมเป็นกรรมการอยู่ได้มีการแยกงบประมาณ CSR และการประชาสัมพันธ์ออกจากกันอย่างชัดเจน
ท่านพอจะขยายความได้ไหมครับว่า ทำไมการแยกงบจึงมีความจำเป็น
เพราะว่าทั้ง 2 งานมีแนวคิดพื้นฐานที่แตกต่างกัน การประชาสัมพันธ์ หรือ PR เป็นการส่งเสริมตราสินค้า ผลิตภัณฑ์ และภาพลักษณ์ แต่ CSR มีความลึกซึ้งกว่านั้นมาก เพราะไม่ใช่ทำเพื่อรับ แต่เป็นการทำเพื่อให้
แต่ไม่ใช่ว่าการประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งไม่ดี แต่เมื่อใดที่ทำเรามักต้องการบางอย่างตอบแทน เช่น ต้องการให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดีขึ้น ลูกค้ามีความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้น สร้างการรับรู้ในตราสินค้า หรือแม้เพื่อเพิ่มยอดขายก็ตาม
แต่ CSR คือการให้ที่มาจากสำนึกความรับผิดชอบในการตอบแทนคืนกลับไปสู่สังคม
เราต้องมองให้ไกลไปกว่าการเป็นกิจกรรมทางธุรกิจ มองให้ไกลไปกว่าผลลัพธ์ทางการเงิน มองให้ไกลไปกว่ามูลค่าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
เราต้องถามตัวเราเองว่า “เราจะตอบแทนอะไรให้กับสังคมได้บ้าง”
“เชื่อมช่องว่าง” กับ เกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย Executive Coach ภายใต้แบรนด์ The Coach คุณสามารถติดต่อเขาได้ที่ coachkriengsak@yahoo.com หรืออ่านงานเขียนที่เคยตีพิมพ์ในโพสต์ทูเดย์ ที่ www.thaicoach.com