มาตรวจสุขภาพ 'องค์การ' กันดีกว่า
|มาตรวจสุขภาพ “องค์การ” กันดีกว่า
คอลัมน์ human corner โดย ผศ.ดร.จิรประภา อัครบวร โครงการบัณฑิตศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 29 ฉบับที่ 3698 (2898)
ดิฉันคาดว่าท่านผู้อ่านคงเคยผ่านการตรวจสุขภาพประจำปีกันมาแล้วทุกคน หากถามว่าทำไมเราต้องทำการตรวจสุขภาพทั้งที่เราก็ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยอะไร ?
บางท่านอาจตรวจสุขภาพเพราะเป็นภาคบังคับขององค์การที่ขอให้พนักงานทุกคนต้องตรวจสุขภาพประจำปี แต่บางท่านได้จัดตารางชีวิตตัวเองเลยว่าจะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพกันเป็นประจำทุกปี หากท่านเป็นหนึ่งในจำนวนคนเหล่านี้ ท่านเคยแปลกใจหรือไม่ว่าก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพนั้น เราก็คิดอยู่ว่าเราสุขภาพดี พอตรวจแล้ววันนั้นแทบจะกลับไปทานอาหารไม่ลงเลย เพราะไม่อยากเชื่อว่าเราไม่ได้มีสุขภาพดีอย่างที่เราคิด หรือโรคที่เราคิดว่าเราเป็นกลับไม่เป็น กลับกลายมาเป็นโรคอื่นแทน
ตัวผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะแต่เดิมตนเองไม่เคยคิดว่าจะมีคอเลสเตอรอลสูง เพราะ 1.ไม่ทาน อาหารพวกที่มีกะทิ 2.ไม่ทานของหวาน 3.ไม่ทานอาหารที่มีมัน แต่เมื่อเริ่มตรวจสุขภาพประจำปีมาเป็นเวลากว่า 5 ปี พบว่าตนนั้นมีค่าคอเลสเตอรอลที่สูงเกินกว่าวัยอันควร ซึ่งคุณหมอให้คำแนะนำว่าการที่คอเลสเตอรอลสูงนั้น อาจมาจากหลายสาเหตุซึ่งไม่ได้เป็นเพราะการรับประทานอาหารเท่านั้น แต่อาจเป็นเพราะระบบการย่อยอาหาร หรือมาจากการทำงานก็ได้ มีปัจจัยอีกหลายประการที่ทำให้เราคอเลสเตอรอลสูง
มาถึงตรงนี้อยากเรียนท่านผู้อ่านว่า องค์การเองก็เช่นกัน วันนี้ผลประกอบการขององค์การท่านอาจสดใส แต่ท่านทราบได้อย่างไรว่าผลประกอบการจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไร ในช่วงชีวิตท่านผู้อ่านคงเคยเห็น หรือรู้จักองค์การที่มีผลประกอบการดี อยู่เมื่อปีที่แล้ว แต่พอผ่านมาไม่นานอาจเผชิญกับปัญหาจนถึงล้มเลิกกิจการไปก็ได้ ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 ที่ผ่านมาอาจเป็นภาพสะท้อนปรากฏการณ์ข้างตนได้เป็นอย่างดี มีองค์การกว่าร้อยองค์การที่ต้องปิดกิจการไปในช่วงเวลานั้น ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมองค์การเหล่านี้ ไม่สามารถฟันฝ่าวิกฤตไปได้ แสดงว่าผลประกอบการที่ผ่านมาไม่ได้เป็นตัวทำนายความยั่งยืนขององค์การหรือ ? แล้วองค์การที่ผ่านวิกฤตการณ์เศรษฐกิจมาได้มีอะไรที่ต่างออกไปที่ทำให้องค์การเหล่านั้นอยู่ได้ ?
Peter Senge ผู้นำแนวคิดเรื่ององค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning organization) และเป็นผู้เขียนหนังสือ The Fifth Discipline ได้กล่าวไว้ว่า องค์การส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จนั้นสุขภาพไม่ค่อยดี (most large, apparently successful corporations are profoundly unhealthy) ใช้แล้ว องค์การก็มีสุขภาพเช่นเดียวกับคน และองค์การก็ต้องการการตรวจสุขภาพประจำปีเช่นกัน
การตรวจสุขภาพองค์การมีเหตุผลไม่ต่างจากการตรวจสุขภาพของเราเอง เหตุผลหลัก 2 ประการคือ 1.เพื่อให้ผู้บริหารองค์การสามารถแก้ปัญหาองค์การได้ถูกจุด และสามารถแก้ปัญหาองค์การได้ก่อนที่จะเกิดปัญหา เช่นเดียวกับสุขภาพ บางครั้งเราคิดว่าอาการที่เราเป็นอยู่นั่นเป็นอาการของโรคหนึ่ง แต่เมื่อตรวจสุขภาพแล้วจึงพบว่าสาเหตุของอาการต่างจากที่เราคิด
ผู้เขียนเองก็เคยมีอาการเจ็บที่หน้าอกด้านซ้าย เจ็บแปลบอย่างมากขนาดต้องหยุดเดิน ตอนแรกคิดว่าเราเป็นโรคหัวใจแน่นอนเลย รีบไปหาคุณหมอให้ตรวจเช็กหัวใจโดยเฉพาะ ผลปรากฏว่าหัวใจเป็นปกติดี แต่หลังจากทำการซักประวัติชีวิตประจำวันแล้ว คุณหมอวินิจฉัยว่าคงมาจากการ ที่หิ้วหรือสะพายของหนักจากไหล่ข้างซ้ายมาก กว่า และก็จริงดังว่า เพราะผู้เขียนชอบสะพายคอมพิวเตอร์ด้านซ้าย
เหตุการณ์เช่นนี้เกิดกับองค์การได้เช่นกัน มีโรงงานหนึ่งที่รู้จักมีอาการของโรคในองค์การคือ พนักงานทำของเสียมากขึ้นกว่าเดิม ผู้บริหารก็ สั่งให้ทำการฝึกอบรมใหม่ เพื่อให้พนักงานทราบวิธีการทำงานที่ถูกต้อง แต่ผลออกมาหลังการฝึกอบรมอาจช่วยเรื่องการลดของเสียได้เพียงเล็ก น้อย แต่เมื่อตรวจวินิจฉัยองค์การกันอย่างแท้จริงแล้ว กลับพบว่าปัญหาคือพนักงานมีปัญหาส่วนตัวเรื่องหนี้สินกันมาก ทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน การฝึกอบรมที่ผ่านมาเป็นการเสียเงินเปล่า ปัญหาที่แท้จริงต้องแก้โดยการให้คำปรึกษาไม่ใช่การฝึกอบรม
2.การตรวจสุขภาพองค์การประจำปี ทำให้ผู้บริหารและพนักงานในองค์การเกิดความตระหนักกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ดังเช่นสุขภาพเราเองซึ่งได้กล่าวในตอนต้น เราคิดว่าเราสุขภาพดี พอไปตรวจเจอคอเลสเตอรอลสูง เราก็ต้องกลับมาปรับชีวิตความเป็นอยู่ไม่ให้เกิดผลต่อสุขภาพ องค์การ ก็เช่นกันเมื่อมีการตรวจวินิจฉัยกันแล้วทราบดี ว่าปัญหามาจากเรื่องใดก็จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือ stakeholders ของปัญหานั้นเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา หลายครั้งผลจากการสำรวจความผูกพันของพนักงานในองค์การ (mployee engagement survey) เรามักพบว่าพนักงานผูกพันกับองค์การน้อยเป็นเหตุมาจากความสัมพันธ์กับหัวหน้างาน ดังนั้นบางองค์การที่มีตัวเลขพนักงานลาออกอยู่จำนวนมาก อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเป็น ผลจากการจ่ายค่าตอบแทนเป็นหลัก ควรทำการตรวจสุขภาพองค์การ หรือตรวจวินิจฉัยองค์การเสียก่อนทำการลงมือปรับระบบการบริหารต่างๆ มิฉะนั้นท่านอาจเสียทั้งเงินและเสียทั้งคน แถมไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอีกด้วย
ในปีนี้ทางโครงการบัณฑิตศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ (NIDA) ร่วมกับสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เราต่างตระหนักและห่วงใยสุขภาพขององค์การในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ เราจึงขอเชิญชวนให้ท่านมาเรียนรู้วิธีการตรวจสุขภาพองค์การในงานสัมมนาเรื่อง Creating a healthy organization ในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ พร้อมรับเครื่องมือการตรวจสุขภาพองค์การ หากท่านสนใจติดต่อได้ที่คุณอารีย์ มีสุข โทร.0-2727-3479 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.nida.ac.th