มะม่วง
มะม่วง
อาหาร
ขับพยาธิ แก้ท้องอืด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mangifera indica Linn.
ชื่อวงศ์ : ANACARDIACEAE
ชื่อสามัญ : Mango Tree
ลักษณะทั่วไป
มะม่วงเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10–30 เมตร ใบ ใบเดี่ยวสีเขียว ขอบใบเรียบ ฐานใบมน ปลาย ใบแหลม ดอก เป็นช่อ กลีบดอกมี 5 กลีบ เกสรสีแดงเรื่อๆ ดอกออกช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงฤดูร้อนจะติด ผล ผล ยาวประมาณ 5–20 ซม. กว้าง 4–8 ซม. ลูกดิบสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเหลืองส้ม มีเมล็ดภายใน 1 เมล็ด
พันธุ์มะม่วง
มะม่วงมีมากมายหลายสิบพันธุ์ อาจแบ่งเป็นพวกได้ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ คือ
มะม่วงสำหรับรับประทานผลดิบ เช่น พิมเสนมัน แรด เขียวเสวย มันหนองแซง ฟ้าลั่น เป็นต้น มะม่วงสำหรับรับประทานผลสุก เช่น อกร่อง น้ำดอกไม้ หนังกลางวัน ทองดำ เป็นต้น มะม่วงที่ปลูกเพื่อการอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้
– มะม่วงสำหรับดอง เช่น มะม่วงแก้ว เป็นต้น
– มะม่วงสำหรับบรรจุกระป๋อง เช่น ทำน้ำคั้น มะม่วงแช่อิ่ม เช่น มะม่วงสามปี เป็นต้น
สำหรับมะม่วงพันธุ์ที่ตลาดต่างประเทศต้องการ ได้แก่ มะม่วงสุกพันธุ์หนังกลางวัน น้ำดอกไม้ ทองดำ และมะม่วงแก้ว ซึ่งตลาดต่างประเทศที่ประเทศไทยส่งไปจำหน่ายมากได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์และมาเลเลเซีย
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์มะม่วงสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตอน การติดตา และการทาบกิ่ง เป็นต้น
การปลูก
วิธีการปลูก
การเลือกต้นพันธุ์มะม่วง เป็นพันธุ์ที่คัดเลือกจากสวนหรือแหล่งพันธุ์ที่เชื่อถือได้ ต้นพันธุ์ได้จากการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ เช่น การทาบกิ่ง การเปลี่ยนยอด เป็นต้น ต้นมีความสูงมากกว่า 60เซนติเมตร มีระบบรากแข็งแรงไม่ขดหรืองอ
ระยะปลูก
ระยะปลูกทั่วไปคือ ระยะระห่างแถว 6-8 เมตร ระหว่างต้น 6-8 เมตร ระบบการปลูกชิด เช่น ปลูกระยะ 4×4 เมตร ได้จำนวนต้นและผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่มาก ขณะที่การลงทุนเพิ่มมากขึ้น มีการควบคุมทรงพุ่มและการจัดการมากยิ่งขึ้นกว่าระยะปลูกปกติ
สรรพคุณทางยา
ผลสดแก่ รับประทานแก้คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียน กระหายน้ำ
ผลสุก หลังรับประทานแล้วล้างเมล็ดตากแห้ง ต้มเอาน้ำดื่ม หรือบดเป็นผง รับประทานแก้ท้องอืดแน่น ขับพยาธิ
ใบสด 15–30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม แก้ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องอืดแน่น เอาน้ำต้มล้างบาดแผลภายนอกได้
เปลือกต้น ต้มเอาน้ำดื่ม แก้ไข้ตัวร้อน
เปลือกผลดิบ คั่วรับประทานร่วมกับน้ำตาล แก้อาการปวดเมื่อยเมื่อมีประจำเดือน แก้ปวดประจำเดือน
ข้อมูลจาก : กรมวิชาการเกษตร