มองจุดเด่นมากกว่าจุดอ่อน

มองจุดเด่นมากกว่าจุดอ่อน
ในโลกปัจจุบันรวมทั้งประเทศไทยด้วย คนส่วนใหญ่จะสนใจแต่เรื่องข้อมูล ข่าวสาร ความรู้กันอย่างมากมาย และคนไทย ส่วนมากมักจะพูดว่า “รัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการให้ความรู้แก่ประชาชนน้อยเกินไปบ้าง ผิดวิธีบ้าง ผิดทางบ้าง” แล้วก็ชอบไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาว่า เขาดีกว่าเราตรงโน้น ดีกว่าเราตรงนี้มาโดยตลอด คนที่วิจารณ์อย่างที่ผมกล่าวข้างต้นไม่ได้มองที่ตนเอง แต่ชอบโทษคนอื่น บางคนก็ไปเรียนจบต่างประเทศมาด้วยก็ไปได้ความรู้ของต่างประเทศ จึงพูดว่าทำไมเราไม่ให้ความรู้เช่นนั้นกับคนไทยตามแบบที่เห็น หรือเรียนมาจากเมืองนอกบ้างผมอยากให้ข้อสังเกตว่าทุกประเทศก็มีทั้งจุดเด่นและจุดอ่อน ความรู้ของคนในแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน (และก็ไม่ควรที่จะเหมือนกันไปหมดด้วย) เพราะมีเรื่องของการพัฒนาการศึกษาซึ่งมีมาไม่เท่ากัน เรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของการครองชีพ เรื่องภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศเป็นตัวแปรอยู่ด้วย

ฉะนั้นถ้าเราไปลอกเขามามากเกินไปโดยไม่ประเมินตนก็อาจจะเป็นปัญหาอีก อย่างที่นักวิจารณ์ชอบพูดกันว่า เราเอาวัฒนธรรมของชาติอื่นมามากเกินไป เดี๋ยวเราก็พูดว่า ทำไมเราไม่เอาเรื่องดีๆ ของเขามาบ้างผมมีความรู้สึกว่า บางทีเราวิจารณ์ผู้อื่นอย่างเช่น รัฐบาล การศึกษา ตำรวจ คนวัยรุ่น นักการเมือง ฯลฯ ในทางลบอยู่ตลอดเวลาจนกลายเป็นแฟชั่น บางคนเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความคิดเรื่องเหล่านั้นเท่าไร แต่ต้องฟังคนอื่นแล้วเอามาวิจารณ์กับเขาบ้างจะได้ทันสมัยผมอยากจะขอร้องหรืออยากจะเรียกร้องเลยก็ว่าได้ว่า ขอให้เรามาสร้างแฟชั่นการชื่นชมผู้อื่นกันบ้าง คนดีๆ ในสถาบันต่างๆ ยังมีอีกมากมาย ผมว่าคนที่ชื่นชมผู้อื่นนั้นมี แต่ชื่นชมอยู่ในใจหรือชื่นชมในหมู่คนไม่กี่คน แต่ไม่มีใครชื่นชมดังๆ และมากพอ แต่พอเรื่องตำหนิคนอื่นก็จะทั้งดังทั้งถี่ ผมอยากเห็นหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเปิดคอลัมน์ชื่นชมผู้อื่นขึ้นมาบ้าง ประชาชาติธุรกิจจะเริ่มก่อนก็น่าจะดี ให้คนส่งคำนิยมเข้ามาลงในคอลัมน์นี้ได้

คนชื่นชมคนที่ทำความดีหรือเป็นคนดีจะทำให้คนอยากทำความดีมากขึ้น เด็กๆเห็นภราดรดี เล่นเทนนิสเก่ง ก็มีเด็กเล่นเทนนิสมากขึ้น รู้สึกดีๆ เกี่ยวกับกีฬามากขึ้น ถ้าเราชื่นชมคนที่ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างมากและมีความถี่พอเพียง ก็มีคนที่อยากจะช่วยผู้อื่นมากขึ้น แต่คนบางคนชอบพูดในแง่ลบว่า คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้สนใจแต่เรื่องของตนเอง โดยสภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่าใช่ แต่เราไม่ควรย้ำ สังคมในประเทศสหรัฐอเมริกาก็เช่นเดียวกัน ในเรื่องที่ว่าอเมริกาจะมีการสร้าง Hero อยู่เป็นประจำ (อย่างเช่นในภาพยนตร์) ทำให้การช่วยเหลือคนอื่นในอเมริกายังมีเหลืออยู่บ้าง ซึ่งโดยลักษณะของคนอเมริกาประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ การช่วยเหลือกันน่าจะมีน้อยกว่าประเทศไทย โดยธรรมชาติเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เวลามีสิ่งใดมาคุกคามจากภายนอก ก็จะเริ่มรวมตัวกัน ช่วยเหลือกันเพื่อความอยู่รอด เมื่อมีความสุขสบาย ท้องอิ่มแล้ว และไม่มีสิ่งใดคุกคามก็จะเริ่มมีอาการไม่ค่อยสนใจผู้อื่น เมื่อมีความอดอยากขาดแคลนก็จะแก่งแย่งกัน ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็น ปรากฏการณ์เช่นเดียวกับสัตว์ แต่มนุษย์บางคนมีหลักศาสนาและศีลธรรม อาการเช่นนี้ก็อาจมีน้อยกว่าสัตว์ แต่ถ้าสังคมใดที่หลักศาสนาเสื่อม ศีลธรรมเสื่อม คนในสังคมนั้นๆ ก็จะเข้าใกล้สัตว์เข้าไปทุกที

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ – ยกเครื่องความคิด
วันที่เขียน 2/2/2548 วันที่ตีพิมพ์ 2/2/2548
บันทึกบทความเมื่อ 13/7/2550 19:33:41 โดย Narin
ปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อ 13/7/2550 19:34:41 โดย Narin

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *