ภัยแฝงจากการ ‘นอนกรน’

ภัยแฝงจากการ ‘นอนกรน’
• คุณภาพชีวิต
เสี่ยงโรคร้าย ทั้งความดัน-อัมพฤกษ์-หัวใจ

“การนอนกรน” ไม่ใช่ปัญหาที่สร้างความรำคาญให้กับคนข้างตัวเท่านั้น แต่หมายถึงชีวิตที่อาจจะสั้นกว่าที่ควรจะเป็นก็ได้ นายเพทย์พิชัย นำศิริกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคอายุรกรรมและโรคทางเดินหายใจ ได้รวบรวมข้อเขียนเผยแพร่เกี่ยวกับปัญหาของการนอนกรนว่า

การนอนกรนเป็นปัญหาจากการนอนหลับที่ผิดปกติ โดยเนื้อเยื่อในช่องคอหย่อนตัวไปกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดกับคนวัยผู้ใหญ่ โดยจากการศึกษาประชากรทั่วไปจะมีโรคนี้ประมาณร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมด

ซึ่งอาการนอนกรนนี้จะรุนแรงเพิ่มขึ้นตามอายุและความอ้วน โดยในอนาคตจำนวนประชากรที่มีปัญหาจากการนอนหลับที่ผิดปกตินี้จะมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป การออกกำลังกายที่น้อยลง การรับประทานอาหารที่มีผิดสัดส่วนและมากเกินไป

การนอนกรนสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ ประเภทนอนกรนอย่างเดียวและประเภทนอนกรนแบบมีอาการหยุดหายใจร่วมด้วย ซึ่งแบบที่มีอาการหยุดหายใจร่วมด้วยนี้ คิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้ป่วยนอนกรนทั้งหมด

การนอนกรนที่มีอาหารหยุดหายใจร่วมด้วย (Obstructive Sleep Apnea) นับเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพมากมาย โดยจากการวิจัยต่างๆ พบว่า โรคร้ายแรงหลายชนิดมีสาเหตุมาจากการนอนกรนชนิดนี้ เช่น โรคหัวใจ (Cardio Vascular Disease) ความดันโลหิตสูง (Hypertension) โรคอัมพฤกษ์อัมพาต (Cerebrovascular Accident) และอาจมีความเกี่ยวโยงไปถึงการขาดสมรรถภาพทางเพศของคุณผู้ชายอีกด้วย

จากผลการสำรวจกว่าร้อยละ 40 ของผู้เป็นโรคความดันมีอาการ OSA ดังนั้นผู้ที่รู้สึกว่าตนเองง่วงนอนตลอดเวลา สมาธิและความจำสั้น ก็ควรเริ่มสำรวจตนเองว่าเป็นคนนอนกรนหรือไม่ และเป็นคนนอนกรนประเภทใด โดยเริ่มจากการถามคนใกล้ชิดและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับการรักษาอาการนอนกรนแบบที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย (Obstructive Sleep Apnea) วิธีที่ใช้โดยทั่วไป คือ

1.การผ่าตัด แต่ผลการรักษาในระยะยาวยังไม่ชัดเจน ควรทำการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางและพิจารณาเป็นรายๆ ไป

2.การใช้เครื่องอัดอากาศ (CPAP หรือ Continuous Positive Airway Pressure) เป็นทางเลือกที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางและใช้ได้กับทุกความรุนแรงของโรค ได้ผลทันทีที่เริ่มใช้อย่างถูกหลัก

3.ในการรักษาที่มีความรุนแรงของโรคน้อยถึงปานกลาง การใช้เครื่องดึงกรามล่างไม่ให้ตกขณะหลับ (MAS หรือ Mandibular Advancement Spint) จะทำให้ช่องทางเดินหายใจกว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการอุดกลั้นทางเดินหายใจได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Update 12-03-52

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *