พื้นฐานไต่เต้าเป็นนักธุรกิจ นักการตลาด นักสร้างสัมพันธ์

พื้นฐานไต่เต้าเป็นนักธุรกิจ นักการตลาด นักสร้างสัมพันธ์
 
วันที่ : 28 พฤษภาคม 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
 
           หากกล่าวถึงเจ้าหน้าที่บริหารชั้นสูง หรือ CEO ที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักของนักธุรกิจทั่วโลก “สตีฟ บาลเมอร์” (Steven Anthony Ballmer) ซีอีโอของบริษัทไมโครซอร์ฟ อาจเป็นรายชื่อต้น ๆ ซึ่งหลายคนนึกถึง เนื่องจากเมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2007 เขาได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร ฟรอบส์ (Forbes) ว่าเป็นบุคคลรวยเป็นอันดับที่ 43 ของโลก ด้วยทรัพย์สินมูลค่าถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีเงินเดือนรวมเงินพิเศษจากการทำงานให้ไมโครซอร์ฟถึง 1.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี
 
           ตลอดเวลา 20 ปีในบริษัทไมโครซอร์ฟ บาลเมอร์มีบทบาทความรับผิดชอบจำนวนมาก ทั้งด้านการปฏิบัติงาน การปรับปรุงระบบการปฏิบัติงาน การตลาด รวมถึงกิจกรรมอื่นที่สนับสนุนการดำเนินงานของบริษัท การทุ่มเททำงานหนัก และการแสดงออกของเขากับคนรอบข้าง ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่า เป็นคนที่เปี่ยมด้วยพลัง เต็มด้วยอารมณ์ขัน และมีภาวะผู้นำสูง
 
           เมื่อสมัยเด็กบาลเมอร์ เป็นคนที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงนัก แต่เขามีความสนใจในเรื่องกีฬาเป็นพิเศษ แรงบันดาลใจนี้ทำให้เขาผลักดันตัวเองไปสู่การเป็นผู้จัดการทีมอเมริกันฟุตบอลของโรงเรียน ซึ่งทำให้ฝันของเขาในการมีส่วนร่วมในทีมอเมริกันฟุตบอลสำเร็จ
 
           ขณะที่เขาเรียนที่ฮาร์วาร์ด เขาได้ฉายแววของความสนใจด้านการตลาด และความเป็นนักธุรกิจออกมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากประสบการณ์ การค้นพบความสนใจเกี่ยวกับงานบริหาร จากการเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอล และนำพื้นฐานเหล่านั้นมาต่อยอดในการทำงาน ตัวอย่างเช่น
 
           การเข้าไปทำงานร่วมกับสื่อประจำมหาวิทยาลัย นั่นคือ หนังสือพิมพ์ ฮาร์วาร์ดคริมสัน (Harvard Crimson) หนังสือพิมพ์เก่าแก่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาทำหน้าที่ขายโฆษณาให้หนังสือพิมพ์ และการเข้าไปเปลี่ยนแปลงงานด้านการเงินให้นิตยสาร ฮาร์วาร์ดเอดโวเคต (Harvard Advocate) นิตยสารเกี่ยวกับงานประพันธ์ ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
 
           การสร้างสัมพันธ์กับเพื่อน เห็นได้จากความเป็นเพื่อนของเขากับเพื่อนร่วมหอพักคือ บิล เกตส์ ที่กลายเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจในเวลาต่อมา ทั้งสองมีลักษณะนิสัยที่เสริมสร้างกัน กล่าวคือ บาลเมอร์มีความเป็นนักธุรกิจ นักการตลาด นักสร้างสัมพันธ์ ในขณะที่เกตส์ เป็นนักคิด นักสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เมื่อแต่ละคนนำจุดดีของอีกฝ่ายมาเสริมกัน จึงเป็นพลังให้บริษัทไมโครซอร์ฟ มีชื่อเสียงได้ในเวลาไม่นาน
 
           การทำหน้าที่ผู้เรียนอย่างเต็มที่ บาลเมอร์นับว่าเป็นผู้เรียนที่มุมานะและแบ่งเวลาให้กับการเรียนและกิจกรรมอย่างสมดุล เขาสามารถทำคะแนนสอบวิชาคณิตศาสตร์ในการทดสอบมาตรฐานหรือ SAT ด้วยคะแนนสูงสุดคือ 800 คะแนน และจบการศึกษาจากฮาร์วาร์ดโดยได้รับรางวัลปริญญาบัณฑิตเกียรตินิยมสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ (Magna Cum Laude in Applied Mathematics)
 
           สตีฟ บาลเมอร์ ทำให้ผมได้ข้อคิดสำคัญว่า เราแต่ละคนควรใช้ชีวิตในทุกช่วงวัยอย่างมีคุณค่า โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว เป็นวัยที่มีพลังในการทำกิจกรรมที่หลากหลาย เมื่อได้รับแรงบันดาลใจ จะมุ่งมั่นทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อจะไปถึงฝันได้ แต่ในขณะเดียวกัน หากได้รับการปลูกฝังที่ไม่ถูกต้อง อุดมการณ์ในการดำเนินชีวิตก็จะบิดเบี้ยวไปอย่างง่ายดาย
 
           ผมเชื่อว่า เราสามารถสร้างแรงบันดาลใจที่ถูกต้องในการใช้ชีวิตวัยหนุ่มสาว และผันพลังที่เรามีอยู่มาใช้ในทางบวก เพื่อการพัฒนาสังคมรอบข้างที่เราอยู่ให้น่าอยู่มากขึ้น โดยการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านความคิด และลักษณะชีวิต
 
           ด้านความคิด เริ่มต้นจากการมีปรัชญาเรื่องความสำเร็จอย่างถูกต้องคือ การนำส่วนดีของตนทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างสุดความสามารถ และเมื่อส่วนรวมดีขึ้น ผลดีย่อยย้อยกลับมาสู่ตนเองในที่สุด
 
           ด้านลักษณะชีวิต เป็นการคำนึงว่า วันนี้เรารับผิดชอบบทบาทของเราอย่างเต็มที่หรือยัง สำรวจว่า เรามีองค์ประกอบของความสำเร็จครบถ้วนดังที่ผมเคยเสนอในหนังสือ “ยอดมนุษย์: ลักษณะชีวิต พิชิตความสำเร็จ” และหนังสือ “คนแถวหน้า: ลักษณะชีวิต กุญแจสู่ความสำเร็จ
 
           หนังสือทั้ง 2 เล่มได้กล่าวถึงลักษณะชีวิตสู่ความสำเร็จ 20 ประการ ซึ่งผมขอยกตัวอย่างบางส่วนเพื่อเป็นข้อคิดดังนี้
 
           การมุ่งมั่นพัฒนา ขยายศักยภาพของตนเองอยู่เสมอ พัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ เพื่อเรียน หรือทำงานได้มากขึ้น ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
           การเลือกคบเพื่อนที่ดี ก่อเกิดมิตรภาพที่ยั่งยืน เป็นกำลังใจ มีที่ปรึกษา มีการพึ่งพากันและกัน ในแง่ของการอยู่ร่วมกัน และการสนับสนุนความสำเร็จของกันและกัน
 
           การทุ่มเทแรงกายแรงใจ บากบั่น เอาจริงเอาจัง ลงทุนลงแรง ทุ่มเททั้งชีวิต กำลังกายกำลังสมอง ลงไป เพื่อให้สิ่งที่เราคาดหวังกลายเป็นรูปธรรม
 
           นักเรียน นักศึกษาในวันนี้น่าจะหันมาตั้งคำถามและตอบกับตัวเองว่า เราต้องการให้ความหนุ่มแน่น และพลังของวัยหนุ่มสาวในวันนี้หมดไปกับการใช้ชีวิตที่หาแก่นสารมิได้ หรือต้องการให้กำลังวังชา ความรู้   และความสามารถทั้งสิ้นไม่มีวันหมดไป แต่ยังคงเป็นพลัง แรงบันดาลใจ ที่คุกรุ่นอยู่เสมอในใจของคนรุ่นต่อไป เพราะแบบอย่างที่เราได้ทำไว้ในวันนี้
 

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *