พัฒนาภาวะผู้นำให้ทีมงาน
|พัฒนาภาวะผู้นำให้ทีมงาน |
วันที่ : 1 มิถุนายน 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : หนังสือพิมพ์ข่าวชานเมือง |
“ ไม่มีคำว่า “ผู้นำ” (leader) ในโลกนี้ มีแต่เพียงคำว่า “ภาวะผู้นำ” (leadership) เท่านั้น”
เจ้าของประโยคที่ผมยกมาข้างต้น คือ ศาสตราจารย์โรนัลด์ ไฮเฟท (Ronald A. Heifetz) ศาสตราจารย์สอนวิชาเกี่ยวกับภาวะผู้นำ ที่จอห์น เอฟ เคนเนดี้ สคูล ออฟ กอเวอร์เมนต์ (John F. Kennedy School of Government) ซึ่งเป็นสกูลหนึ่งในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ขณะที่ผมทำงานวิจัยอยู่ที่นั่น ทำให้ผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมฟังบรรยายในวิชานี้ มีโอกาสได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิด และพบว่า ศ.ไฮเฟท ตั้งใจอย่างยิ่งที่จะพัฒนาผู้เรียนให้บริหารภาวะผู้นำ (exercise leadership) ท่านมีความเชื่อว่า ผู้นำไม่ได้เป็นมาตั้งแต่เกิด และย้ำให้พวกเราตระหนักชัดว่า เราทุกคนสามารถพัฒนาภาวะผู้นำของตนเองได้ ท่านตอกย้ำให้เราเชื่อมั่นในตัวเองว่า ภาวะผู้นำในตัวเราทุกคนสามารถพัฒนาได้ โดยท่านมักจะกล่าวเสมอคือ “ภาวะผู้นำเกิดจาก แรงบันดาลใจ 1% และ หยาดเหงื่อแรงกายอีก 99%” เพื่อให้เรามุ่งมั่นที่
จะเรียนรู้และฝึกฝนภาวะผู้ในในภาคปฏิบัติของเรา ไม่เพียงแต่เรียนรู้ในเชิงทฤษฎีเท่านั้น
แนวคิดการทำงานเพื่อพัฒนาทีมงานแบบหนึ่งที่ท่านนำเสนอ และน่าสนใจอย่างยิ่ง เรียกว่า Adaptive Work หมายถึง การทำงานที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ของทีมงาน ตรงกันข้ามกับการทำงานแบบ Technical Work คือการทำงานตามแบบแผนหรือขั้นตอนที่เคยปฏิบัติกันมา การบริหารภาวะผู้นำตามแนวคิดนี้ ตั้งใจให้มีการบริหารภาวะผู้นำเพื่อเปลี่ยนแปลงทีมงาน ซึ่งโดยธรรมชาติคนทำงานมักชอบใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และไม่อยากอยู่ภายใต้แรงกดดันใดๆ คนเหล่านี้จะถูกผู้นำกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางก้าวหน้า ทำให้เขาต้องต้องเผชิญแรงกดดัน จนไม่สามารถทำงานแบบเช้าชามเย็นชามได้แล้ว แต่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อความอยู่รอด ลักษณะการทำงานแบบ Adaptive Work ผู้นำจะต้องบริหารภาวะผู้นำ 6 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่ หนึ่ง มองภาพรวม บุคคลที่มีภาวะผู้นำต้องมองเห็นภาพรวมขององค์กรทั้งระบบ เปรียบเสมือนขณะที่แข่งขันอเมริกันฟุตบอล โค้ชจะคอยเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณห้องควบคุมข้างบน ทำให้มองมาที่สนามได้ชัดเจน และควบคุมเกมได้แม่นยำ ผู้นำต้องไม่สาระวนกับการแก้ปัญหาเหมือนเป็นคนหนึ่งในเครื่องจักรกลไก แต่อยู่ในสภาวะที่สามารถมีเวลาและโอกาสในการมองจากข้างนอกเข้าไปได้สอง ระบุปัญหาใหม่ โดยการตั้งคำถามท้าทายใหม่ ๆ ที่ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดแบบเดิม ๆ การระบุสภาพปัญหาจะมีผลให้ทีมงานเกิดความกระตือรือร้นในการคิดหาทางออกร่วมกันสาม ผลักงานสู่ผู้รับผิดชอบ โดยปกติแล้วเมื่อทีมงานไม่สามารถทำงานให้บรรลุผลสำเร็จได้นั้น ผู้นำมักจะรับงานนั้นกลับมาทำเอง แต่หลักการนำแบบนี้ ผู้นำจะต้องผลักดันงานกลับไปตามความรับผิดชอบของทีมงานให้มากที่สุด เพื่อให้ทีมงานเกิดความรู้สึกมั่นใจว่าสามารถทำได้ เป็นการฝึกให้ทีมงานคิด แก้ไขปัญหา และพัฒนาภาวะผู้นำในตัวเองด้วยสี่ จัดการความเครียด ผู้นำที่ต้องคอยสังเกตสภาวะความตึงเครียดของการทำงานและทีมงาน ต้องคอยสังเกตความรู้สึก และการตอบสนองของทีมงาน เพราะบางครั้งทีมงานที่รับแรงกดดันมากเกินกว่าที่เขาจะตอบสนองอย่างดี ทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ผู้นำจึงต้องรู้จักขอบเขตความสามารถ แรงจูงใจของทีมงาน เพื่อคอยรักษาระดับความตึงเครียดไม่ให้มากจนเกินกว่าที่ทีมงานระรับได้และใช้ประโยชน์จากมันได้ และเพื่อทำให้แรงตึงเครียดเป็นสิ่งที่กระตุ้นเร้าให้เกิดการทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพห้า ยึดเป้าหมายให้มั่น ต้องระวังมิให้ประเด็นยิบย่อยที่มาเบี่ยงเบนความสนใจจากเป้าหมายหลัก จนบางครั้งทำให้ทีมงานไม่ได้ทำงานที่สำคัญที่สุดก่อนหก รับฟังความคิดเห็น ผู้นำต้องเรียนรู้จักฟังความคิดเห็นของทีมงาน โดยเฉพาะเสียงที่สะท้อนความคิดของทีมงานที่สำคัญๆ แม้ว่าผู้ที่แสดงความคิดเห็นนั้น ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นทางการ แม้จะเป็นเพียงพนักงานระดับปฏิบัติการ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาการดำเนินงานให้เหมาะสมการพัฒนาภาวะผู้นำ 6 ขั้นตอนตามแนวคิดของ ศ.ไฮเฟท ที่ผมได้เรียนรู้มาจากฮาร์ดวาร์ด เป็นสิ่งที่ท้าทายให้ผู้นำทุกระดับสามารถนำไปปฏิบัติได้ หากต้องการเปลี่ยนแปลงระดับการตอบสนองของทุกคนที่ร่วมงานไปสู่ประสิทธิภาพสูงสุดที่สมควรได้รับ |