พลังงาน : เยือนโรงไฟฟ้า’ญี่ปุ่น’ ย้อนดูพลังงานไทย
|พลังงาน : เยือนโรงไฟฟ้า’ญี่ปุ่น’ ย้อนดูพลังงานไทย
แม้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มีความพยายามผลักดันโรงไฟฟ้าทางเลือกใหม่อย่างถ่านหินและนิวเคลียร์ให้เกิดขึ้น แต่ก็ยังดูเหมือนเป็นลูกผีลูกคน จากปัญหาการต่อต้านของกลุ่มเอ็นจีโอและประชาชนในพื้นที่ที่มองต่างมุมว่าอาจกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว อย่างไรก็ดีเพื่อไขข้อข้องใจว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะมีผลดีผลเสียอย่างไรต่อชุมชน ล่าสุดระหว่างวันที่ 6-12 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ทางกฟผ.นำโดยนายพงษ์ศักดิ์ พจนา รองผู้ว่าการด้านสังคม กฟผ.พาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมตัวอย่างโรงไฟฟ้า ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในเวลานี้
โรงไฟฟ้าถ่านหินไร้ข้อขัดแย้ง
โรงไฟฟ้ามัตชูอุระ ที่เมืองนางาซากิ เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิดขนาดใหญ่ ภาพที่เห็นจากมุมสูงของอาคารจะเห็นถ่านหินสีดำกองมหึมา เพื่อรอส่งผ่านไปยังขบวนการผลิต ขณะที่พื้นที่รายรอบอาณาบริเวณโรงไฟฟ้าจะเป็นทะเลทำการประมง มีพื้นที่เกษตรและชุมชนที่อยู่ร่วมกันได้ อย่างไม่มีข้อขัดแย้ง จากการยืนยันของวิศวกรชาวญี่ปุ่นได้อธิบายอย่างน่าสนใจว่า ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าแห่งนี้ไม่สร้างผลกระทบด้านมลพิษให้กับชุมชนและพื้นที่เกษตรตลอดจนปัญหาสารปนเปื้อนลงทะเลแต่อย่างใดโดยดูจากปฏิกิริยาชาวบ้านไม่ออกมาร้องเรียนแต่อย่างใด
อีกทั้ง ยังได้สัมผัสโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบปิดอิโชโกะ เมืองโยโกฮามา ที่ใช้ระบบเทคโนโลยีชั้นสูงสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่มีระบบการจัดเก็บถ่านหินไม่ให้ฟุ้งกระจาย โดยการสร้างไซโลเก็บถ่านหินขึ้นมา พร้อมการทุนเทคโนโลยีในการดักจับก๊าซไนโตรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ให้ลอยตัวขึ้นไปแพร่กระจายในชั้นบรรยากาศกระทบต่อชุมชนรอบข้าง
สังเกตว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ตั้งประชิดติดขอบทะเล ที่มีการทำประมงรวมถึงเกษตรกรรม ทำให้การขยายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าเป็นไปได้ยาก ประกอบกับมีเงื่อนไขสัญญาประชาคมกับชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะต้องไม่กระทบวิถีความเป็นอยู่ของพวกเขา และจากการสำรวจรอบๆพบว่าชาวบ้านยังใช้ชีวิตแบบปกติโดยไม่กระทบกับระบบนิเวศ
ระดมกู้นิวเคลียร์เปิดใช้งาน
ขณะที่การเยี่ยมชมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาซิวาซากิ เมือง นิอิกาตะของบริษัทโตเกียว เล็กทริคพาวเวอร์หรือเทปโก เจ้าของเดียวกันกับโรงไฟฟ้าฟุคุจิมาซึ่งมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเครือรวม 17 โรง และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก2โรง ขนาดพื้นที่ 4.2 ตารางกิโลเมตร ที่นี่ ได้รับการถ่ายถอดจากผู้เชี่ยวชาญประจำโรงงานว่าอยู่ระหว่างหยุดเดินเครื่องผลิตชั่วคราว หลังสึนามิโจมตีเมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้สั่งปิดโรงงานไฟฟ้าลง 57 โรงลง บางโรงเกิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รั่ว ชาวบ้านออกมาต่อต้านเพราะหวั่นเกรงว่าจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ส่งผลให้ โรงไฟฟ้านิวเคลียส์แห่งนี้ได้รับผลกระทบไปด้วย การแก้ปัญหาเวลานี้ได้มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่สูงเท่ากับตึก5ชั้นหรือ 15เมตร เพื่อกันคลื่นสึนามิ พร้อมทั้งปลูกสนใหญ่เป็นแนวกันคลื่นลม ที่สำคัญยังช่วยดูดซับสารกัมมันตภาพรังสีและอันตรายรอบด้านที่อาจโจมตีโรงไฟฟ้าให้เกิดอันตราย พร้อมทั้งลงทุนสร้างฝายขนาดใหญ่คล้ายแก้มลิงเก็บกักน้ำไว้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นลูกบาศก์เมตร รวมถึงรถผลิตไฟฟ้าสำรองที่พร้อมทำงานตลอดเวลา หากระบบขัดข้องเนื่องจากเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกสั่งปิดโดยรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ มีเงื่อนไขว่าหากเอกชนสามารถลงทุนระบบป้องกันสึนามิให้เกิดความปลอดภัยจนมั่นใจแล้วรัฐบาล ก็จะอนุญาตให้เดินเครื่องผลิตได้ต่อไป แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชาวบ้านว่าจะเอาด้วยหรือไม่
แม้ขณะนี้ญี่ปุ่นจะมีปัญหาพลังงานไฟฟ้าขาดแคลนเหลือใช้เพียง 10% จากการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลหาทางออกด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงาน สังเกตได้จากเครื่องปรับอากาศของทุกอาคารถูกให้ปรับอุณหภูมิอยู่ที่เฉลี่ย 26-27 องศา และสลับเวลาปิดเปิดกระแสไฟฟ้าตลอดจนการสลับเหลื่อมเวลาทำงาน เพื่อรอให้ทุกอย่างคลี่คลายและกลับมาเดินเครื่องผลิตกันใหม่เรื่องนี้ชาวญี่ปุ่นกลับให้ความร่วมมือแบบไม่มีเงื่อนไขหรือออกมาเดินขบวนประท้วงเหมือนบ้านเรา
ต้องเร่งทำความเข้าใจ
เมื่อถามว่าความสำเร็จจากการสร้างโรงไฟฟ้าทั้งนิวเคลียร์และถ่านหินของประเทศญี่ปุ่นเกิดขึ้นได้อย่างไร ทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องใช้เวลาเจรจาทำความเข้าใจกับชาวบ้านร่วม 10 ปี ถึงก่อกำเนิดโรงไฟฟ้าแต่ละโรงได้ ที่สำคัญรัฐบาลให้การสนับสนุน อีกทั้งการให้ผลประโยชน์กับพวกเขาอย่างสูงสุด ที่สำคัญให้ความจริงใจ ในเรื่องของสารพิษต่างๆที่ต่ำกว่าที่ชาวบ้านต้องการเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะลึกๆแล้วเขาต่างเข้าใจว่าพลังงานไฟฟ้าคือสิ่งจำเป็นสูงสุดในการดำรงชีวิต และภาคผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ
โดยทางโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น ให้มุมมองกับประเทศไทยว่า ควรจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิดผ่านระบบเทคโนโลยีสะอาด หรือแม้กระทั่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ เนื่องจากมีภูมิประเทศค่อนข้างกว้างใหญ่ สามารถสร้างในพื้นที่แบบไม่ต้องจำกัด แต่ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้ดี โดยมีเงื่อนไขจูงใจที่เกินมาตรฐานที่ตั้งไว้ เชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีแม้ต้องใช้เวลานานก็ต้องอดทน
อย่างไรก็ดี จากบทเรียนสึนามิถล่มญี่ปุ่นจนทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียส์รั่วไหล ส่งผลกระทบอย่างจังให้กับ กฟผ.ต้องชะลอแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียส์ออกไปจากเดิม และปรับแผนเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีสะอาดแทน 4 โรง โดยพุ่งเป้าไปที่ จังหวัดกระบี่ซึ่งจะเริ่มผลิตได้ในปี 2562 และพื้นที่แม่เมาะ จังหวัดลำปางที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ แทนระบบเดิมที่เสื่อมสภาพลง
กฟผ.ยังหวังนิวเคลียร์เกิดได้
ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น กฟผ.ก็มีความหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ภายในไม่เกิน 20 ปี หากหมั่นทำความเข้าใจกับประชาชน ที่สำคัญการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์รัฐบาลจะต้องเป็นธงนำและควรกำหนดเป็นวาระแห่งชาติไม่ปล่อยให้ฝ่ายปฏิบัติทำงานแบบเดียวดาย และร่วมกันทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยปราศจากการเมือง เชื่อว่าไทยจะได้ประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบัน แม้จะมีโรงไฟฟ้าจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 20 โรง ขณะที่พลังงานหมุนเวียนอาทิ แสงอาทิตย์ ลม มูลสัตว์ ก๊าชจากอ่าวไทย ฯลฯ ที่ชาวบ้านต้องการ ก็มีอุปสรรคไม่คงเส้นคงวาที่จะรีดเอาพลังงานไฟฟ้ามาได้ตามความต้องการ
ขณะเดียวกันกฟผ.วิเคราะห์ว่า อีก 10 ปีข้างพลังงานที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนนับวันจะลดน้อยถอยลงสวนทางกับการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก ภาคการผลิตอย่างอุตสาหกรรม คุณภาพชีวิตของคนที่ต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากสิ่งอำนวยความสะดวก ของประชาชนทั่วไป
ทางออก …หากชาวบ้านไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ แน่นอนว่า จะต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลักและใช้พลังงานหมุนเวียนต่อไป แต่จะรับได้หรือไม่หากต้องบริโภคค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นหากไม่ผลิตขึ้นเองโดยใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ
ดังนั้น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหิน หลังจากนี้ไปจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการทำความเข้าใจให้ทุกฝ่ายยอมรับได้แค่ไหน เพราะหากทุกฝ่ายไม่ทำความเข้าใจกันแล้ว และตราบใดยังมีปัญหาการเมืองเข้าแทรกแล้ว ก็เชื่อว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์คงต้องปิดฉากลง แต่เหนือสิ่งอื่นใดความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า โรงไฟฟ้าทั้งสองประเภทจะให้ประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,771 2-5 กันยายน พ.ศ. 2555