พลังงาน : “เคบีเอส” ทุ่ม 1.5พันล้านตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล

พลังงาน : “เคบีเอส” ทุ่ม 1.5พันล้านตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล

“เคบีเอส” ทุ่ม 1.5 พันล้านบาท ขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวล วอนรัฐดันราคารับซื้อไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มเป็น 2-3 บาทต่อหน่วย ส่งเสริมโรงงานน้ำตาลและโรงสีข้าว ช่วยลดปริมาณรับซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบทรุด 19 เซ็นต์ต่อปอนด์ ยังไม่ได้รับผลกระทบ เหตุเซ็นสัญญาขายล่วงหน้าปี 2556 ที่ 25-26 เซ็นต์ต่อปอนด์ไปแล้วกว่าครึ่งของยอดขายทั้งหมดที่ 2.8 ล้านตัน

นายถกล ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ เคบีเอส เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้บริษัทได้สั่งเครื่องจักรเพื่อติดตั้งขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้กากอ้อยเป็นวัตถุดิบจาก 15 เมกะวัตต์ เป็น 35 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5 พันล้านบาท โดยมาจากเงินหมุนเวียนของบริษัท 500 ล้านบาท และอีก 1 พันล้านบาทมาจากการกู้สถาบันการเงิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการว่าจ้างผู้รับเหมา คาดว่าจะก่อสร้างและสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปี 2557 โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ประมาณ 22 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะใช้ในโรงงานน้ำตาลในจังหวัดนครราชสีมา

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันภาครัฐจะมีการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวล ในรูปแบบราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่ม(Adder) 30-50 สตางค์ต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปี แต่หากมีการปรับ Adder เพิ่มขึ้นเป็น 2-3 บาทต่อหน่วย จะทำให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลและโรงสีข้าวที่มีแกลบ หันมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความคุ้มค่า เพราะมีวัตถุดิบที่เป็นเชื้อเพลิงอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีกำไรจากการขายไฟฟ้าด้วย อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ผู้ประกอบการยังทำโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่มาก เพราะราคาต่ำเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งมี Adder อยู่ที่ 6-8 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ การส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลยังเป็นประโยชน์กับประเทศอย่างมาก เพราะนอกจากจะสามารถใช้เชื้อเพลิงที่ผลิตในประเทศแล้ว ยังลดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย เนื่องจากปัจจุบันไทยยังไม่เปิดรับโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์มากนัก ทำให้ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติมากถึง 70% ซึ่งบริษัทมีกากอ้อยที่ได้จากการผลิตประมาณ 1 แสนตันต่อปี สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้ 10 เดือน

นายถกล กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทจะครอบคลุมการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลในอนาคต ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าปริมาณอ้อยเข้าหีบ 2.5 ล้านตันอ้อย และปีหน้าจะเพิ่มเป็น 2.8 ล้านตันอ้อย ขณะที่ราคาขายน้ำตาลทรายดิบปีนี้ปรับลดลงจากปีก่อน โดยปีนี้อยู่ที่ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 25-26 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งมองว่าเป็นระดับราคาที่ต่ำสุดแล้ว เนื่องจากในปี 2554 ตลาดโลกมีน้ำตาลทรายดิบในสต๊อก 4-5 ล้านตัน แต่ปี 2555 มีสต๊อก 8 ล้านตัน ขณะเดียวกันวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งอินเดียและจีนก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ส่งผลให้ความต้องการบริโภคลดลง

“ปัจจุบันบริษัทได้เซ็นสัญญาขายน้ำตาลทรายล่วงหน้าของปี 2556 ไปแล้วกว่า 50% ในราคา 25-26 เซ็นต์ต่อปอนด์ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งต้องดูแนวโน้มตลาด หากราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น เชื่อว่าบราซิลจะหันไปผลิตเอทานอลมากกว่าน้ำตาล ก็จะทำให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ในปี 2555 เป็นต้นไปบริษัทหันมาผลิตน้ำตาลทรายขาวทั้งหมด เพราะมีราคาสูงกว่าน้ำตาลทรายดิบ 5-6 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมที่มีน้ำตาลทรายดิบส่งออก 10-15% ซึ่งปัจจุบันบริษัทมียอดขายในประเทศ 30% และส่งออก 70% ของยอดขายทั้งหมด โดยจะส่งออกไปยังตลาดเอเชียและตะวันออกกลาง”

ขณะนี้ผู้ประกอบการน้ำตาลกำลังได้รับผลกระทบจากพื้นที่ปลูกอ้อย เนื่องจากเกษตรกรหลายรายหันไปปลูกมันสำปะหลัง เพราะรัฐบาลประกันราคาในอัตราสูง ทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยลดลง โดยบริษัทต้องการส่งเสริมพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น อาทิ การให้พันธุ์อ้อย ปุ๋ย เงินทุนหมุนเวียน และค่าเตรียมดิน ให้กับเกษตรกร โดยในปีนี้ขยายพื้นที่ในระยะ 50 กิโลเมตรจากโรงงาน จากเดิม 1 แสนไร่ เป็น 1.5 แสนไร่ และในอีก 2 ปีข้างหน้าจะขยายเป็น 2 แสนไร่ เพราะการส่งเสริมดังกล่าวจะช่วยให้มีปริมาณอ้อยเพียงพอต่อการขยายกำลังการผลิตในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,786 วันที่ 25-27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *