พลังงาน : อุตสาหกรรมเหล็กเปิดแผนลดพลังงานลดต้นทุน

พลังงาน : อุตสาหกรรมเหล็กเปิดแผนลดพลังงานลดต้นทุน

สถาบันเหล็กฯ เตรียมทำแผนลดการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก จี้ผู้ประกอบการเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ เพื่อลดต้นทุนรับการแข่งขันในอนาคต พร้อมวางมาตรการขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเงินทุนสนับสนุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เผยจับมือญี่ปุ่นนำเทคโนโลยีในการหลอมเหล็กมาใช้ ลงทุนไปกว่า 1.4 พันล้านบาท เป็นโมเดลนำร่องในการประหยัดพลังงาน

นายวิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้สถาบันอยู่ระหว่างจัดทำแผนลดการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมเหล็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว 20 ปี โดยระยะสั้น 5 ปี จะเน้นเรื่องของการรณรงค์ในการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ตามที่ภาครัฐมีนโยบายออกมา ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าเป็นแบบหลอดผอม ปิดไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้งาน การลดการสูญเสียพลังงานในการผลิต เป็นต้น

ส่วนแผน 10 ปี เป็นเรื่องของการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเหล็กใหม่ ที่จะต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีที่จะนำเข้ามาใช้ให้เกิดการประหยัดพลังงาน หรือโรงงานเก่าที่ต้องการปรับปรุงเครื่องจักรให้มีการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนำไปสู่การลดใช้พลังงาน

ขณะที่แผน 20 ปีนั้น จะเป็นการพิจารณาถึงโรงงานผลิตเหล็กที่หมดสภาพการใช้งานแล้ว และจะต้องมีการก่อสร้างใหม่ จะทำอย่างไรให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้าใช้ เพื่อที่จะทำให้ลดต้นทุนด้านพลังงานมากยิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคตได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี เวลานี้ทางสถาบันเหล็กฯได้มีการหารือกับผู้ประกอบการถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเหล็กไปบ้างแล้ว ว่าทิศทางจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร รวมไปถึงรายการของเทคโนโลยีที่จะเป็นตัวเลือกในการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเหล็ก เทคโนโลยีที่เก่าจะมีการยกเลิก หรือจะมีการปรับปรุงไปใหม่ ด้วยวิธีไหนอย่างไร ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปมาแล้ว ต่อไปจะดูของมาตรการทางการเงิน ว่าจะเข้าไปให้การช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างไร ด้วยกลไกที่ภาครัฐมีอยู่ในปัจจุบัน

“แผนดังกล่าวจะเน้นแนวทางในการลดการใช้พลังงาน ซึ่งจะลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ โดยปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมเหล็กมีการใช้พลังงานค่อนข้างสูง หรือประมาณ 3 % ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างเยอะ ขณะที่ในส่วนภาคของอุตสาหกรรมด้วยกัน อุตสาหกรรมเหล็กใช้พลังงานอยู่ที่ 7 % รองจากภาคใหญ่ๆเช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น”

นายวิกรม กล่าวอีกว่า หากแผนดังกล่าวเสร็จ จะเสนอต่อกระทรวงพลังงาน เพื่อขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐต่อไป อาทิ โครงการส่งเสริมวัสดุและอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมาตรการดังกล่าว ผู้ที่ได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการ จะได้การสนับสนุนเงินลงทุน 20 % ของมูลค่าโครงการ แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาทต่อราย และวงเงินสนับสนุนต่ำสุด 50,000 บาทต่อราย ในการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงาน หรือจะเป็นมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากทาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่องจักร ในกลุ่มกิจการที่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงานและพลังงานทดแทน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความสนในการร่วมลงทุนกับบริษัท ยู เอ็ม ซี เม็ททอล จำกัด ในประเทศไทย ในการนำเทคโนโลยีในการหลอมเหล็กเข้ามาใช้ โดยมีมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท และทางบริษัท ยู เอ็ม ซี เม็ททอลฯ ต้องลงทุนเองอีกประมาณ 600 ล้านบาท รวมมูลค่าประมาณ 1.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบในการที่แสดงถึงเทคโนโลยีในการลดใช้พลังงาน ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานได้มากกว่า 20 % คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณปลายปี 2555 นี้

นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือจากประเทศเยอรมนีเช่นกันในการช่วยเหลือทางด้านความรู้ สนับสนุนผู้ประกอบการในการเข้าไปดูเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้จริง ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นเจรจารายละเอียดอยู่เช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,776 20-22 กันยายน พ.ศ. 2555

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *