พลังงาน : ‘ปิโตรเลียมไทย’ผลประโยชน์ของชาติ! (จบ)
|พลังงาน : ‘ปิโตรเลียมไทย’ผลประโยชน์ของชาติ! (จบ)
รู้ทันกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : เจาะลึกปิโตรเลียมไทย กับผลประโยชน์ของชาติ (จบ)
มาคุยเรื่องปิโตรเลียมกับผลประโยชน์ของชาติกันอีกตอนนะครับ ประเทศไทยนำระบบสัมปทานมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจปิโตรเลียม เป็นไปตามศักยภาพเชิงพาณิชย์ของพื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายในประเทศ โดยระบบสัมปทานจะเป็นระบบที่ให้สิทธิประโยชน์และจูงใจนักลงทุนมากกว่าระบบอื่นสำหรับประเทศที่มิได้มีทรัพยากรปิโตรเลียมมหาศาล
ประเทศไทยได้ออกแบบและปรับปรุงระบบการจัดเก็บผลประโยชน์ของรัฐจากธุรกิจปิโตรเลียมให้สอดคล้องกับสภาพอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศและสถานการณ์พลังงานของประเทศในแต่ละช่วงเวลา หลายฝ่ายอาจจะเห็นว่าประเทศไทยนั้นเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมในอัตราค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อีกทั้งได้เสนอแนะให้ทบทวนอัตราค่าภาคหลวง แต่หากเราไปดูข้อมูลกระทรวงพลังงานจะพบว่า ค่าภาคหลวงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นของรายได้ทางตรงที่รัฐเรียกเก็บจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม
ดังนั้น ในการวิเคราะห์รายได้ของรัฐจำเป็นต้องดูองค์ประกอบทุกส่วนของรายได้รัฐทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย (1) ค่าภาคหลวง (2) ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และ (3) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซึ่งในปีพ.ศ.2554 ประเทศสามารถจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่สัมปทานในประเทศได้เป็นจำนวน 133,617 ล้านบาท และจากข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 จนถึงสิ้นปี พ.ศ.2554 มีมูลค่าการขายปิโตรเลียมที่ผลิตจากแหล่งในประเทศโดยผู้รับสัมปทาน รวมเป็นเงิน 3.415 ล้านล้านบาท มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงินประมาณ 1.461 ล้านล้านบาท
ค่าใช้จ่ายที่ผู้รับสัมปทานจ่ายให้รัฐ ได้แก่ ค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ รวมเป็นเงินประมาณ 1.074 ล้านล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิของผู้รับสัมปทานเท่ากับ 0.88 ล้านล้านบาท ซึ่งสัดส่วนรายได้รัฐ (1.074 ล้านล้านบาท) ต่อรายได้สุทธิของผู้รับสัมปทาน (0.88 ล้านล้านบาท) เท่ากับสัดส่วนร้อยละ 55 ต่อร้อยละ 45 และหากนับเฉพาะสัดส่วนรายได้รัฐต่อรายได้สุทธิของผู้รับสัมปทานที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2532 (Thailand III) ตั้งแต่ พ.ศ.2532 จนถึงสิ้นปี พ.ศ.2554 เท่ากับสัดส่วนร้อยละ 74 ต่อร้อยละ 26
ทั้งนี้ ในการเปิดให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 ผู้รับสัมปทานทุกรายจะอยู่ภายใต้ Thailand III สัมปทานปิโตรเลียมในระบบ Thailand III เป็นระบบที่เกิดขึ้นเพื่อให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยเก็บค่าภาคหลวงแบบขั้นบันได (ร้อยละ 5-15) เก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจ่ายเมื่อมีผลกำไรจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมร้อยละ 50 และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษรายปีแบบขั้นบันได ร้อยละ 0-75 ขึ้นอยู่กับสัดส่วนรายได้กับความพยายามในการสำรวจและลงทุนเพิ่มเติมของผู้รับสัมปทานในปีนั้น ซึ่งหากเป็นแหล่งปิโตรเลียมขนาดเล็กก็เก็บค่าภาคหลวงในอัตราที่น้อย หากเป็นแหล่งขนาดใหญ่ก็เก็บในอัตราที่มากขึ้น
สำหรับในปีล่าสุดนั้น รัฐบาลคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเป็นจำนวนเม็ดเงินกว่า 97,000 ล้านบาท และค่าภาคหลวงปิโตรเลียมได้จำนวน 46,445.9 ล้านบาทสำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 เห็นมั้ยครับว่า ธุรกิจปิโตรเลียมมีความสำคัญและสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากเพียงใด
———————
(รู้ทันกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : เจาะลึกปิโตรเลียมไทย กับผลประโยชน์ของชาติ (จบ) : โดย … ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com)