พลังงาน : ‘ปิโตรเลียมไทย’ผลประโยชน์ของชาติ! (2)
|พลังงาน : ‘ปิโตรเลียมไทย’ผลประโยชน์ของชาติ! (2)
สัปดาห์ที่แล้วผมค้างไว้ที่การแบ่งปันผลประโยชน์จากธุรกิจปิโตรเลียมว่ามีรูปแบบอย่างไรบ้าง ก็มาถึงอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ ระบบอ้างอิงสัญญา (Contractual Based System) เป็นระบบที่อ้างอิงกับปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตได้ จะมีการแบ่งปันผลผลิตระหว่างภาครัฐและเอกชนตามที่ระบุในสัญญา โดยระบบอ้างอิงสัญญาสามารถกระทำในรูปแบบสัญญาการให้บริการ (Service Contracts) หรือสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) สัญญาการให้บริการมีลักษณะเป็นสัญญาที่รัฐให้สิทธิภาคเอกชนดำเนินการ รัฐจะจ่ายค่าบริการให้แก่เอกชนเป็นค่าบริการในการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม ซึ่งปิโตรเลียมที่พบจะถือเป็นของรัฐ โดยมีข้อตกลงในการแบ่งผลประโยชน์ให้แก่เอกชนในรูปแบบต่างๆ
สำหรับสัญญาแบ่งปันผลผลิต รัฐจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่จะแต่งตั้งเอกชนในฐานะผู้รับเหมา (Contractor) เข้ามาลงทุนหรือรัฐอาจตกลงร่วมทุนก็ได้ เอกชนจะได้รับการแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียมแทนค่าจ้าง ในหลักการจะมีการระบุปริมาณผลผลิตที่เอกชนสามารถนำมาใช้คิดเป็นต้นทุนการผลิต โดยปริมาณผลผลิตส่วนที่เหลือเป็นส่วนที่นำมาแบ่งปันกันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในสัญญา
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟสรุปว่า ในประเทศต่างๆ มีการใช้เครื่องมือทางภาษีและที่มิใช่ภาษีในการออกแบบการจัดเก็บผลประโยชน์ของรัฐในธุรกิจปิโตรเลียม แตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ โดยคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปริมาณปิโตรเลียมสำรอง ความสามารถในการจัดเก็บภาษี และระบบการเมืองการปกครอง ซึ่งแต่ละระบบต่างมีข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดแตกต่างกัน ไม่อาจกล่าวได้ว่า กรอบการจัดเก็บผลประโยชน์ของรัฐแบบใดดีที่สุด
โดยผลการสำรวจของไอเอ็มเอฟพบว่า การจัดเก็บผลประโยชน์ของแต่ละประเทศมีลักษณะเฉพาะของตนเอง แต่มีลักษณะร่วมที่คล้ายคลึงกัน โดยส่วนใหญ่จะกำหนดให้มีการจัดเก็บค่าภาคหลวงในกรอบการจัดเก็บรายได้เพื่อเป็นกระแสรายได้ล่วงหน้าที่แน่นอน (up-front revenue) นอกจากนี้ เกือบทุกประเทศจะคำนวณค่าภาคหลวงด้วยวิธีการคำนวณตามมูลค่า และในส่วนของภาษีเงินได้สำหรับธุรกิจปิโตรเลียม มีการกำหนดอัตราภาษีที่สูงกว่าธุรกิจประเภทอื่นๆ
สำหรับการดำเนินกิจการปิโตรเลียมของประเทศไทยในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 ผู้ได้รับสัมปทานก่อนปี 2532 (กลุ่ม Thailand I) อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ผู้รับสัมปทานมีภาระที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐประกอบด้วย ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม จัดเก็บอัตราร้อยละ 12.5 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่าย กำหนดจัดเก็บเป็นรายรอบระยะเวลา 3 เดือนปฏิทิน และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จัดเก็บในอัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ จัดเก็บเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี โดยที่กรณีปิโตรเลียมส่งออก กำหนดให้ค่าภาคหลวงเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษี และกรณีปิโตรเลียมขายในประเทศ ให้สามารถนำค่าภาคหลวงมาเครดิตภาษีได้
กรณีที่ 2 ผู้ได้รับสัมปทานหลังปี พ.ศ.2532 (กลุ่ม Thailand III) อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2532 ผู้รับสัมปทานมีภาระที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐประกอบด้วย ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม จัดเก็บอัตราร้อยละ 5-15 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่ายเป็นรายเดือนแปรผันตามปริมาณปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่ายได้ในรอบเดือน ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จัดเก็บในอัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ โดยกำหนดให้ค่าภาคหลวงเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษี
——————–
(รู้ทันกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : เจาะลึกปิโตรเลียมไทย กับผลประโยชน์ของชาติ (2) : โดย … ดร. โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com)