พลังงาน : จีนซิวโรงกำจัดขยะ-โรงไฟฟ้าหนองแขม

พลังงาน : จีนซิวโรงกำจัดขยะ-โรงไฟฟ้าหนองแขม

ซีแอนด์จี จากจีน มั่นใจผุดโรงกำจัดขยะและโรงไฟฟ้าที่หนองแขม มูลค่า 900 ล้านบาท ไม่เกินกลางปีหน้า มั่นใจคุมเข้มมาตรฐานมลพิษ ด้วยเทคโนโลยีจากยุโรป มีธนาคารโลกการันตี ยันไม่กระทบอาชีพคัดแยกขยะ เป็นเพียงแค่ผู้กำจัดขยะ แต่มีรายได้เสริมจากการขายไฟฟ้าเพิ่ม หากสำเร็จพร้อมเดินหน้าอีก 6 เมืองใหญ่ทั่วไทย

นายหนิง เหอ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่บริษัทได้รับสัมปทานจากรุงเทพมหานคร(กทม.) ให้เป็นผู้ดำเนินงานโครงการกำจัดมูลฝอยปริมาณ 300-500 ตันต่อวันและผลิตไฟฟ้า ขนาด 6-7 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ของกทม.เป็นระยะเวลา 20 ปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 900 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้ทำการออกแบบระบบเครื่องจักร เทคโนโลยี และโรงงาน ส่งให้ทางกทม.ตรวจเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าไม่เกินไตรมาสแรกของปีนี้ น่าจะเริ่มก่อสร้างได้ และจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางปี 2557 เนื่องจากได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือไออีอี และได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอแล้ว

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนจากนักลงทุนจีนโดยตรง ผ่านบริษัท ซีแอนด์จีฯ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฮ่องกง เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการลงทุน ก่อสร้างและดำเนินโรงเตาเผามูลฝอยและผลิตไฟฟ้า ที่ปัจจุบันดำเนินงานอยู่ 10 แห่ง ในประเทศจีน มีกำลังการกำจัดมูลฝอยรวม 1.035 หมื่นตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้ารวมได้ประมาณ 150 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับขยะมูลฝอยที่กทม.มีอยู่ประมาณ 8.7-8.9 พันตันต่อวัน
“การที่สนใจมาลงทุนกำจัดมูลฝอยให้กทม.เนื่องจากบริษัทดำเนินธุรกิจด้านนี้อยู่แล้ว อีกทั้ง คุณภาพขยะมูลฝอยของประเทศไทยมีคุณภาพมากกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ เพราะมีการแยกขยะ ทำให้ลดขั้นตอนการแยกขยะ ที่สำคัญเป็นการช่วยลดปริมาณขยะให้กับเมืองใหญ่ๆที่ประสบปัญหาการกำจัดขยะอยู่ในเวลานี้”
นายหนิง เหอ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีข้อกังวลว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดมลพิษและทำให้มีการออกมาต่อต้าน เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้อาชีพการคัดแยกขยะหายไปนั้น ในส่วนนี้ขอยืนยันว่า แม้จะเป็นบริษัทที่มาจากจีน แต่เทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นของสหภาพยุโรป ที่มีประสิทธิภาพชั้นสูง อุณหภูมิการเผาสูงถึง 870-1,100 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถเผามูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขี้เถ้าหนักที่เหลือจากการเผาไหม้ ที่ไม่สามารถเกิดปฏิกิริยาได้ จะถูกนำไปฝังกลบหรือแปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้างได้

“ส่วน ขี้เถ้าลอยที่ดักจับได้ จะถูกนำไปตรวจสอบ และถูกรวบรวมไว้ไม่ให้ฟุ้งกระจายและนำไปกำจัดตามข้อกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป ส่วนน้ำเสียในโรงงานทั้งหมดจะผ่านกระบวนการบำบัด เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ โดยไม่มีการปล่อยทิ้งออกมาสู่ภายนอกโรงงาน รวมถึงไอเสียที่เกิดจากกระบวนการทั้งหมดจะถูกบำบัดจนได้มาตรฐาน ก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศต่อไป”

ที่สำคัญ การที่บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศหรือไอเอฟซี ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในเครือธนาคารโลก เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น และเป็นผู้สนับสนุนกิจการของบริษัท เป็นเครื่องยืนยันได้ว่ามาตรฐานโรงงานของซีแอนด์จี เท่ากับมาตรฐานโลกในการดูแลไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันอาชีพคัดแยกขยะ จะยังคงอยู่ต่อไป เพราะทางโรงงานไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว เป็นเพียงรับกำจัดขยะมูลฝอยที่ทางกทม.ส่งให้ไปกำจัดเท่านั้นในอัตรา 970 บาทต่อตัน ที่สำคัญ การที่บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศหรือไอเอฟซี ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในเครือธนาคารโลก เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นและผู้สนับสนุนกิจการของบริษัทจึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่ามาตรฐานโรงงานของซีแอนด์จีเท่ากับมาตรฐานโลกในการดูแลไม่ให้มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ผลพลอยได้จากการกำจัดขยะมูลฝอยแล้ว ความร้อนที่ได้จะถูกนำไปต้มน้ำจนเป็นไอน้ำไปปั่นเป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งออกแบบไว้ถึง 9.8 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการขยายงานหรือปริมาณขยะมูลฝอยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งการผลิตไฟฟ้านี้ บริษัทได้รับค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มหรือ Adder ในอัตรา 3.50 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปี จากการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)

อย่างไรก็ตาม หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ทางบริษัทก็มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่หัวเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นพัทยา ขอนแก่น เชียงใหญ่ ระยอง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น ซึ่งเป็นโครงการและเงินลงทุนในลักษณะเดียวกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,807 วันที่ 6 – 9 มกราคม พ.ศ. 2556

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *