พลังงาน : จัดโซนนิ่งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์

พลังงาน : จัดโซนนิ่งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์

ส.อ.ท.จี้”อารักษ์”จัดโซนนิ่งตั้งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ใหม่ ให้เน้นเฉพาะพื้นที่ไม่ทำประโยชน์ภาคอีสานแทน ลดความขัดแย้งการแย่งพื้นที่เกษตรกรรม พร้อมดันโซลาร์เซลล์บนหลังคาช่วย เจ้ากระทรวงพลังงานระบุ ปีหน้ารื้อแผนพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ทั้งหมด ตัดส่วนที่ไม่ทำจริงทิ้ง และจะดึงนักลงทุนจีนมาตั้งโรงงานผลิตแผงช่วยลดต้นทุน

นายอาณัติ ประภาสวัสดิ์ รองประธานกลุ่มพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่กระทรวงพลังงานได้กำหนดแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 10 ปี(2555-2564) โดยวางเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์ม 2 พันเมกะวัตต์ จากปัจจุบันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วประมาณ 200 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ มองว่า หากภาครัฐจะดำเนินการส่งเสริมต่อไป ควรจะมีการทบทวนพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่

เนื่องจากเวลานี้ไม่มีการกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้า ทำให้ต้องไปแย่งพื้นที่ทางการเกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางซึ่งเป็นที่ราบลุ่มมีการทำเกษตรกรรมค่อนข้างมาก หากมีการตั้งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์เกิดขึ้น จะทำให้พื้นที่ทางการเกษตรลดน้อยลง เพราะการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ จะต้องใช้พื้นที่ 15 ไร่ หากดำเนินการครบทั้ง 2 พันเมกะวัตต์ จะทำให้พื้นที่หายไปถึง 3 หมื่นไร่ เป็นอย่างต่ำ

“พื้นที่ที่เหมาะกับการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ควรจะส่งเสริมให้ไปตั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก เนื่องจากเป็นพื้นที่แห้งแล้งและไม่ใช่พื้นที่ทางการเกษตรที่มีจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งการใช้พื้นที่ในการผลิตพืชอาหารกับพลังงานได้” นายอาณัติ กล่าวและว่า

ที่สำคัญกระทรวงพลังงานควรจะหันมาผลักดันและเพิ่มสัดส่วนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ) เพิ่มขึ้น เพราะเป็นการใช้พื้นที่ว่างบนหลังคาให้เกิดประโยชน์ ซึ่งในยุโรปพบว่ามีการส่งเสริมให้ติดตั้งโซลาร์รูฟถึง 80% ส่วนโซลาร์ฟาร์มเพียง 20% เท่านั้น

นอกจากนี้ภาครัฐยังไม่มีการกำหนดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟที่ชัดเจน ซึ่งราคารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวยังผูกรวมกับโซลาร์ฟาร์ม ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมโซลาร์รูฟควรให้ส่วนต่างราคารับซื้อไฟฟ้า(แอดเดอร์)ที่เพิ่มขึ้นจากโซลาร์ฟาร์ม เพื่อเป็นการจูงใจประชาชน ให้หันมาติดตั้งโซลาร์รูฟเพิ่มขึ้นด้วย โดยราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟ ในระยะแรก 10 ปี ควรอยู่ที่ 13 บาทต่อหน่วย ในปีแรกๆ

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงอยู่ระหว่างการทยอยยกเลิกผู้ประกอบการที่ได้สิทธิ์ในการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างจริงและเลยระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบที่ คาดว่ามีประมาณ 1 พันเมกะวัตต์ และหลังจากนั้นจะมาดูที่เหลือว่าจะดำเนินการจริงได้ในปริมาณเท่าไร เพื่อเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ต่อไปในช่วงปีหน้าให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งมองว่าการตั้งโรงไฟฟ้าที่กระจัดกระจายอยู่ไม่ได้ไปแย่งพื้นที่ทำการเกษตร เพราะผู้ประกอบการทราบอยู่แล้วว่าควรจะใช้พื้นที่ไหน และกำลังการผลิตที่ 2 พันเมกะวัตต์ ก็ใช้พื้นที่ไม่มาก แต่หากจะเลือกพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าในภาคอีสานก็ถือว่าเหมาะสม เพราะแสงอาทิตย์ค่อนข้างดี และเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์อีกมาก

ทั้งนี้ จะมีการทบทวนแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนใหม่ จากที่ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2564 จะเพิ่มสัดส่วนการใช้เป็น 25% จากปัจจุบันทำได้ 9% ส่วนที่เหลือ 16% คงจะทำได้ยากขึ้น ซึ่งจะต้องมาทบทวนโซลาร์เซลล์ที่อาจจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการมีโซลาร์รูฟเพิ่มเข้ามาในแผนด้วย เบื้องต้นอาจเป็นการร่วมมือกับหมู่บ้านจัดสรร ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งอาจเป็นการส่งเสริมในรูปแบบการลดภาษี เป็นต้น อย่างไรก็ตามคงไม่ใช่กระทรวงพลังงานฝ่ายเดียว แต่จะต้องร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลังด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการใช้ที่มากขึ้น กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการหารือกับผู้ประกอบการที่ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จากจีน ที่มีเทคโนโลยีผลิตแผงโซลาร์เซลล์ได้ในราคาต่ำ เพื่อให้มาตั้งโรงงานผลิตแผงเซลล์ในประเทศไทย แต่เรื่องดังกล่าวคงต้องใช้ระยะเวลา และต้องดูความต้องการของตลาดด้วยว่ามากพอหรือไม่ ทั้งนี้ หากมีผู้สนใจลงทุนโรงงานในไทย เชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนผลิตต่ำลง รวมทั้งยังเป็นโอกาสให้ไทยสามารถเป็นผู้ส่งออกแผงสร้างรายได้ให้กับประเทศทางหนึ่งด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,778 27-29 กันยายน พ.ศ. 2555

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *