พฤติกรรมไม่พึงประสงค์

พฤติกรรมไม่พึงประสงค์
work like a pro : จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552
การจะพิจารณาว่าประเทศไหน สังคมใดจะเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เขาให้มองไปที่คนในชาตินั้น สังคมนั้น หรือองค์กรนั้นๆ ว่าประกอบด้วยคนแบบใด ความคิด จิตวิญญาณ ความเชื่อ ที่สะท้อนผ่านพฤติกรรมการแสดงออกเป็นไปในทางเอื้อต่อการสร้างประโยชน์ หรือทำลายล้างซึ่งกันและกัน สำหรับองค์กรทางธุรกิจคงไม่มีใครปฏิเสธที่อยากจะได้คนดีมีความสามารถ ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดีเข้ามาเป็นบุคลากรของตน แต่การคัดสรรโดยผ่านกระบวนการปกติอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
การพัฒนาอย่างเป็นระบบหลังจากการคัดเลือกเข้ามาทำงานแล้วต่างหาก ที่อาจจะช่วยหล่อหลอมให้ได้คนในแบบที่องค์กรต้องการ วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมขององค์กรจะช่วยกลั่นกรองและกำหนดรูปลักษณ์ได้ในที่สุด บางองค์กรทำได้ดีจนกลายเป็นความโดดเด่นเห็นชัดกันตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ผ่านท่วงท่าลีลา วาจา การแต่งกาย ความคิด และคำพูด
เมื่อผมได้มีโอกาสนั่งล้อมวงเสวนาถึงการพัฒนาคนในองค์กรกับผู้บริหารและผู้ประกอบการทีไร มักจะมีการเอ่ยถึงความไม่พร้อมของพนักงานอยู่เสมอ และจากการรวบรวมคุณลักษณะต่างๆ ถึงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของคนในองค์กรที่แต่ละคนได้มีโอกาสพบเจอ และไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยในองค์กรของตนเอง และนี่คือสิ่งที่ประมวลมาได้ดังนี้
– ขาดแรงจูงใจ ทำงานอย่างขอไปทีให้เสร็จจบไปตามหน้าที่ คนประเภทนี้กลัวแรงกดดัน และไม่กล้าที่จะทำอะไรแปลกใหม่
– ทำตามสั่งเท่านั้น ไม่ต่างอะไรกับเครื่องจักร ไม่สามารถใช้ความคิดเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ๆ ได้
– ขาดการมีส่วนร่วมต่อเพื่อนร่วมงาน โดยคิดว่าข้าแน่ ไม่แยแสคนอื่น ไม่มีน้ำใจ ทำตัวแปลกแยก
– ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ขาดความมั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองรู้หน่อย ด้อยปัญญา แม้บางครั้งจะมีความคิดที่แตกต่างแต่ก็ไม่กล้าแสดงออก
– สั่งลูกเดียว ออกแนวบ้าอำนาจ เผด็จการ ไม่รับฟังข้อโต้แย้งหรือข้อเสนอแนะใดๆ ทั้งสิ้น
– ไม่ประสานงานกัน ต่างคนต่างทำ แบ่งเขาแบ่งเรา โดยเฉพาะเมื่อมีข้อบกพร่องผิดพลาด ก็จะโยนความรับผิดชอบไปให้คนอื่น
– มุ่งประโยชน์ส่วนตน โดยมองผลงานความสำเร็จเฉพาะส่วนที่ตนเองได้ประโยชน์เท่านั้น ถ้าตนเองไม่ได้ประโยชน์ก็จะไม่ร่วมมือด้วย
– ทำงานเป็นทีมไม่ดี ขัดแย้งคนอื่นอยู่เสมอ พร้อมแยกวง มากกว่าการรักษาสัมพันธ์
– ไม่มองไกล มุ่งที่ผลงานหรือผลผลิตที่ได้ แต่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
– ขาดการวางแผน ลงมือปฏิบัติทันที ปัญหาอุปสรรคถ้าจะมีค่อยว่ากันทีหลัง
– เน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ค้นหาสาเหตุ แค่ขจัดขวากหนามให้พอผ่านไปได้ก็พอแล้ว
– ไม่คิดหามาตรการป้องกัน เมื่อไม่รู้สาเหตุ ก็ไม่สามารถป้องกันการเกิดขึ้นซ้ำได้อีก
– ขาดเป้าหมาย ใช้ชีวิตไปวันๆ ทำงานไปเรื่อยๆ ไม่คาดหวังอะไรมาก
– ไม่มีวินัย สังเกตได้ง่ายๆ จากการตรงต่อเวลา เพราะเพียงเรื่องเวลาก็รักษาไม่ได้ ก็คงยากที่จะให้ยึดถือระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม
– ขาดระบบ ซึ่งนำไปสู่การทำงานที่ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นผลให้มีความสูญเปล่าเกิดขึ้นมากมาย
– ไม่แยกแยะ มักนำเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวมาปนเปกัน หรือแม้แต่เรื่องงานเองก็แยกไม่ออกระหว่างความจริง และความรู้สึก
– ตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึก ไม่ใช้ข้อมูลรอบด้านในการคิดพิจารณา และตัดสินใจ แต่จะใช้ประสบการณ์และความคิดเห็นส่วนตัวเป็นหลัก
– ขาดทักษะการวิเคราะห์ แบบนี้เข้าข่ายมีข้อมูลท่วมหัว ก็เอาตัวไม่รอด ไม่สามารถสกัดออกมาเป็นสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจได้
– ขาดความอดทน เจอปัญหาหนักๆ เข้าไปทีเดียวก็จอด ล้มแล้วไม่สามารถลุกขึ้นมาใหม่ได้ เรียกว่า หนักไม่เอา เบาไม่สู้ อยู่เฉยๆ ดีกว่า
– ขาดความเพียรพยายาม เหมือนที่หลายคนมักเรียกว่า เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทำแล้วเลิกกลางคัน ไม่สามารถสร้างความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันได้
– ไม่คิดปรับปรุง ปล่อยให้ปัญหาซ้ำซากเกิดแล้วเกิดอีก โดยไม่คิดหาทางแก้ไข พอนานไปก็ปัญหานั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
– ขาดจิตสำนึก ไม่คำนึงถึงผลเสียหาย หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อลงมือกระทำสิ่งใดๆ ก็ตาม
– ไม่นำพาต่อการแก้ปัญหา มักหลบลี้หนีหน้า ปล่อยให้คนอื่นช่วยกันแก้ปัญหาไป แล้วตนเองก็รอรับผลประโยชน์จากการแก้ไขนั้น
– ปัดความรับผิดชอบ คนประเภทนี้จะมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ จะปฏิเสธไว้ก่อน และไม่พยายามรับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น พูดได้คำเดียวว่า “ไม่เกี่ยวกับฉัน”
– ไม่รู้จักคิด ก็คือไม่พยายามจะใช้สมองคิดนั่นเอง จะออกไปทางใช้แรงงานมากกว่า ไม่นานวันสมองก็ฝ่อคิดอะไรไม่ค่อยออก ที่สำคัญมีการปฏิเสธการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ด้วย
คงเป็นเรื่องยากที่ใครจะมีครบทั้ง 25 ข้อดังกล่าวข้างต้น แค่มีสัก 3 ข้อก็แย่แล้ว ลองเอาไปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินตนเอง เพื่อขจัดปัญหาอุปสรรคจากตัวเราออกไป เชื่อว่าถ้าเรามีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์น้อยเท่าใด
ความสุข ความสำเร็จ คงไม่ไกลเกินเอื้อม

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *