พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543

พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543

ส่วนที่ 1 หลักการและเหตุผล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นผลของความพยายามที่จะทำการ
ปฏิรูปการเมือง เพื่อลดปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในระบบการเมืองไทย คือปัญหาการทุจริต
คอรัปชั่นของนักการเมือง ตลอดจนสร้างความโปร่งใสให้กับการบริหารราชการแผ่นดินในระดับ
ต่าง ๆ ด้วยเหตุดังกล่าวสภาร่างรัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติมาตรการในทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อ
ป้องปรามการทุจริต และการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของนักการเมืองไปในทางมิชอบ ตลอดจนมี
การจัดตั้ง “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ขึ้นทำหน้าที่สอดส่องดูแลให้มาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ เกิด
สัมฤทธิผล
มาตรการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น ปรากฏอยู่ใน
รัฐธรรมนูญหลายส่วนด้วยกัน อาทิเช่น การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรง
ตำแหน่งทางการเมือง การจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
การถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตลอดจนการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ซึ่งมาตรการเหล่านี้ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในหมวดที่ 10 ว่าด้วย การตรวจสอบการใช้อำนาจ
รัฐเป็นการเฉพาะ แต่มิได้หมายความว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ต้องการสร้างเสริมความ
โปร่งใสในระบบการเมืองนั้นจะมีอยู่แต่ในหมวด 10 เท่านั้น บทบัญญัติที่สำคัญมีขึ้นเพื่อ
ตรวจสอบควบคุมมิให้ฝ่ายบริหารกระทำการในทางมิชอบอีกมาตราหนึ่ง คือบทบัญญัติใน
มาตรา 209
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 209 บัญญัติว่า “รัฐมนตรีต้อง ไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือ
ผู้ถือหุ้น ในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทต่อไป ทั้งนี้ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ กรณีที่รัฐมนตรี
ผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไป ให้รัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งให้ประธาน
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้
รับแต่งตั้ง และให้รัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคลซึ่งจัดการ
ทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการนี้ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นกระทำการอันใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร
จัดการใด ๆ เกี่ยวกับหุ้น หรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว

ซึ่งเพราะมีบทบัญญัติในมาตรา 209 นี้จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการออกพระราชบัญญัติ
การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดเกี่ยวกับการเป็น
หุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นของรัฐมนตรีเพื่อสร้างเสริมมาตรการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีผลใช้บังคับ
อย่างเต็มที่

ส่วนที่ 2 สาระสำคัญของพระราชบัญญัติจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของ
รัฐมนตรี พ.ศ. 2543

1.ข้อจำกัดสิทธิรัฐมนตรีในการเป็นหุ้นส่วน และเป็นผู้ถือหุ้น
รัฐมนตรี อันหมายถึง นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีแต่ละคณะรัฐมนตรี จะถูก
จำกัดมิให้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท นอกจากนี้ยังถูกห้ามมิให้คงไว้
ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทอีกด้วย(มาตรา 4)
2.ข้อยกเว้น
สืบเนื่องมาจากสาระสำคัญในข้อที่ 1 นั้นเป็นการจำกัดสิทธิรัฐมนตรีมิให้เข้าไปมีผล
ประโยชน์เกี่ยวข้องกับกิจการ ธุรกิจต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็มีข้อยกเว้น
ที่เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีสามารถเข้าไปมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องได้ในสองกรณี คือ
กรณีที่ 1 กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่รัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่
เกินร้อยละห้าของทุนทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น และในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน
จำกัด รัฐมนตรีเป็นผู้ถือหุ้นไม่เกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัทนั้น
(มาตรา 4) กรณีนี้รัฐมนตรีสามารถเป็นหุ้นส่วนถือหุ้นในนิติบุคคลที่กล่าวมาได้ภายในกรอบ
ที่กฎหมายกำหนด
กรณีที่ 2 เป็นกรณีที่รัฐมนตรีประสงค์จะเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือ
บริษัท เกินกว่าที่กำหนดในข้อยกเว้นที่ 1 โดยรัฐมนตรีที่ประสงค์จะได้รับประโยชน์ต้องปฏิบัติ
ตามเงื่อนไขของกฎหมายดังนี้ 1. แจ้งเป็นหนังสือไปยังประธานกรรมการป้องกันและปราบ
ปรามการทุจริตแห่งชาติ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
2. ต้องจัดการโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้นิติบุคคลภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้แจ้งให้ประธาน
กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ และเมื่อโอนหุ้นส่วนหรือหุ้น
ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทให้นิติบุคคลแล้วให้แจ้งประธ่นกรรมการป้องกันและปราบปรามการ
ทุจริตแห้งชาติทราบภายใน 10 วันนับแต่วันที่โอน (มาตรา 5)
3. การโอนหุ้น
หลักการสำคัญในเรื่องการโอนหุ้นมีดังต่อไปนี้
ก. นิติบุคคลผู้รับโอน ลักษณะของนิติบุคคลที่รับโอน 1. ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจ
จัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือนิติบุคคล
ซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นตามกฎหมายโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (มาตรา 6) 2. นิติบุคคลนั้นต้องไม่มีกรรมการ หรือ
พนักงานซึ่งนิติบุคคลนั้นมอบหมายให้เป็นผู้จัดการในการบริหาร และจัดการหุ้นส่วน หรือ

หุ้นของรัฐมนตรี ที่มีผลประโยชน์หรือมีส่วนได้เสียกับรัฐมนตรี คู่สมรสของรัฐมนตรี เจ้าหนี้
หรือลูกหนี้ของรัฐมนตรี (มาตร 7)
ข. ขั้นตอนการโอน การโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นนั้น รัฐมนตรีจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ใน
หุ้นส่วนหรือหุ้น ให้กับนิติบุคคลโดยเด็ดขาด ซึ่งมิใช่เป็นการโอนแต่เพียงในลักษณะให้
นิติบุคคลยึดถือแทน ส่วนการจัดการ หรือการจัดหาผลประโยชน์เกี่ยวกับหุ้นส่วน หรือหุ้นของ
รัฐมนตรี ให้เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาการจัดการหุ้นส่วน หรือหุ้นของรัฐมนตรี (มาตรา 8) โดย
สัญญานี้ต้องจัดทำตามแบบที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด (มาตรา 9)
ค. ผลของการโอนหุ้น 1. การโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นนั้นไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าหนี้
ตามภาระผูกพันใด ๆ ที่มีอยู่ก่อนวันที่มีการโอน และเจ้าหนี้ตามภาระผูกพันจะโต้แย้งการโอน
ดังกล่าวมิได้ (มาตรา 8 วรรค 2) 2. นิติบุคคลที่รับการโอนหุ้นส่วน หรือหุ้น ต้องรายงานต่อ
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภายใน 10 วันนับแต่วันที่ลงนามใน
สัญญาจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี (มาตรา 10) 3. นิติบุคคลต้องจัดทำบัญชีแสดง
การจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นที่รับโอนจากรัฐมนตรี และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดการ
หุ้นส่วนหรือหุ้น ต่างหากจากบัญชีแสดงการประกอบการของนิติบุคคล ( มาตรา 13 วรรค 1 )
4. หุ้นส่วน หรือหุ้นที่นิติบุคคลรับโอนมามิให้เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคลที่เจ้าหนี้ของนิติบุคคล
จะยึด หรืออายัดเพื่อบังคับชำระหนี้ได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ของนิติบุคคลนั้นมีสิทธิบังคับตาม ภาระผูกพันที่ติดกับหุ้นส่วนหรือหุ้นหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากหุ้นส่วนดังกล่าวโดยตรง
(มาตรา 13 วรรค 2) 5. ในกรณีที่นิติบุคคลที่รับโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นมาจากรัฐมนตรี เกิดเลิก
กิจการหรือล้มละลายเมื่อรัฐมนตรีได้รับหุ้นส่วนหรือหุ้น และผลประโยชน์กลับคืนมา
ถ้ารัฐมนตรีประสงค์จะได้รับผลประโยชน์จากหุ้นส่วนหรือหุ้นต่อไป ให้รัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งไปยัง
ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้
รับคืนหุ้นส่วนหรือหุ้นนั้น และดำเนินการโอนหุ้นให้นิติบุคคลอื่นต่อไป (มาตรา 15) 6. ห้ามมิให้
รัฐมนตรีกระทำการอันใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไป บริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับ
การจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้น หรือการจัดหาผลประโยชน์ในหุ้นส่วนหรือหุ้น (มาตรา 11) นอกจาก
นี้ยังห้ามมิให้นิติบุคคล ยินยอมหรือดำเนินการใด ๆ เพื่อให้รัฐมนตรีมีโอกาสเข้าไปบริหารครอบงำ
หรือมีคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วน (มาตรา 12)
ง.มาตรการบังคับ
มาตรการต่าง ๆ ที่พระราชบัญญัติฉบับนี้สร้างขึ้นนั้นหากมีการฝ่าฝืนจะต้องมีโทษ
ทางอาญาดังต่อไปนี้
1. นิติบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 10 (การรายงานการรับโอนหุ้น) หรือตามมาตรา 13
วรรค 1 (การจัดทำบัญชีแสดงการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้น) ต้องระวางโทษปรับไม่
เกินสามแสนบาท
2. รัฐมนตรีผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 11 (การห้ามเข้าไปบริหาร ครอบงำ มีคำสั่งเกี่ยวกับการ
จัดการหุ้นส่วน หรือหุ้น) หรือนิติบุคคลฝ่าฝืนมาตรา 12 (การห้ามมิให้นิติบุคคล

ยินยอมให้รัฐมนตรีเข้า บริหาร ครอบงำ มีคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วน หรือ
หุ้น) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึง หนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะสังเกตได้ว่า พระราชบัญญัตินี้ ได้กำหนดมาตราการต่าง ๆ
อันเป็นการรองรับหลักการในรัฐธรรมนูญมาตรา 209 ไว้อย่างดี โดยการจำกัดสิทธิรัฐมนตรี
ในการเป็นหุ้นส่วน หรือถือครองหุ้น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการป้องปรามในระดับหนึ่งมิให้เกิดการใช้
ตำแหน่งหน้าที่ของตนเองไปเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจที่รัฐมนตรีเข้าไปเกี่ยวข้อง แม้บทบัญญัติบาง
ประการของพระราชบัญญัติ จะมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29
—————————————
1 รัฐธรรมนูญมาตรา 29 การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทะมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจ
ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบ
กระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพมิได้….
ประกอบ มาตรา 48 และ 50 แต่ก็สามารถกระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่ง
กฎหมายซึ่งก็ได้แก่พระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งในความคิดของผู้เขียนนั้น พระราชบัญญัติ
ฉบับนี้มีความสำคัญในฐานะกลไกชิ้นหนึ่งในรัฐธรรมนูญ ที่สามารถสร้างเสริมระบบการตรวจสอบ
ที่ดี อันนำไปสู่ความสำเร็จในการปฏิรูปการเมือง อันเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยประสงค์

ศาสตรา โตอ่อน *

—————————————–
2 รัฐธรรมนูญมาตรา 48 สิทธิบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดเช่นว่านี้
ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ…….
3 รัฐธรรมนูญมาตรา 50 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือการประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยเฉพาะเพื่อ ประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ……
* นบ. ( ธรรมศาสตร์) น.บ.ท. นักศึกษาชั้นปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สาขากฎหมายมหาชน)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *