พบ “ปาหนัน” ชนิดใหม่

พบ “ปาหนัน” ชนิดใหม่
• คุณภาพชีวิต
• เรื่องเด่น
ดอกไม้จิ๋ว มีสารต่อต้านเนื้องอกและเซลล์มะเร็ง

นักวิจัยพบพืชสกุล “ปาหนัน” ชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด และยังพบพืชสกุลเดียวกันที่ยังไม่เคยมีรายงานว่าเคยพบในประเทศไทยอีก 5 ชนิด “ปาหนันจิ๋ว-ปาหนันยักษ์-แสดสยาม-บุหงาหยิก-ปาหนันผอม” ระบุมีฤทธิ์ทางยาสามารถเป็นยาลดไข้ ล่าสุดพบสารต้านเนื้องอกและเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย

ดร.ยุธยา อยู่เย็น อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยว่า ผลจากศึกษาความหลากหลายของพืชสกุลปาหนัน ร่วมกับ รศ.ดร.วิไลวรรณ อนุสารสุนทร อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนของโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก และโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย หรือ บีอาร์ที พบว่าในประเทศไทยมีพืชชนิดนี้ประมาณ 20 ชนิด จากทั้งหมดประมาณ 120 ชนิดทั่วโลก

พืชสกุลปาหนันนั้น เป็นพืชในวงศ์เดียวกับกระดังงา ที่รู้จักแพร่หลายของคนไทยในฐานะไม้ดอกโบราณที่มีกลิ่นหอมเย็น ถือเป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้นขนาดเล็ก จะออกดอกเป็นกระจุกตามลำต้น ตามกิ่งหรือซอกใบ มีทั้งดอกขนาดเล็กเพียง 1 ซม. เช่น ดอกปาหนันจิ๋ว จนถึงดอกขนาดใหญ่ 6-12 ซม. คือ ปาหนันช้าง ซึ่งพืชสกุลปาหนันที่ว่านี้มีศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศไทยลงไปถึงคาบสมุทรมลายู โดยบนเกาะบอร์เนียวมีความหลากหลายมากที่สุด ประมาณ 30 ชนิด บริเวณคาบสมุทรมลายูจำนวน 21 ชนิด เกาะสุมาตราจำนวน 15 ชนิด และในประเทศไทยพบในทุกภาค แต่มีความหลากหลายมากในทางภาคใต้ตอนล่าง โดยทั่วไปมักพบขึ้นอยู่ตามบริเวณพื้นล่างของป่าดิบชื้น หรือป่าดิบเขา จำนวน 20 ชนิดดังกล่าว

“ผลการสำรวจพบพืชสกุลปาหนันของ ดร.ริชาร์ด เอ็ม. เค. ซวนเดอร์ส และ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น พบปาหนันชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด ได้แก่ Goniothalamus aurantiacus, Goniothalamus maewongensis และ Goniothalamus rongklanus และได้ตีพิมพ์แล้วในวารสาร Botanical Journal of the Linnean Society นอกจากนี้ยังค้นพบพืชสกุลปาหนันชนิดที่ยังไม่เคยมีรายงานว่าเคยพบในประเทศไทยอีก 5 ชนิด คือ ปาหนันจิ๋ว (G. elegans) ปาหนันยักษ์ (G. cheliensis) แสดสยาม (G. repevensis) บุหงาหยิก (G. sawtehii) และ ปาหนันผอม (G. umbrosus)” ดร.ยุธยา กล่าว

อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมาชาวพื้นเมืองในท้องที่ต่างๆ แถบคาบสมุทรมลายูมีภูมิปัญญาพื้นบ้านในการนำปาหนันมาใช้เป็นยารักษาโรค อาทิ เป็นยาสำหรับผู้หญิงคลอดบุตร โดยใช้ต้นกิ่งเดียวดอกเดียว ปาหนันผอม และบุหงาลำเจียก ชาวชวานำเอารากต้นกิ่งเดียวดอกเดียวมาใช้ในการเป็นยาลดไข้ได้ ล่าสุดมีรายงานการศึกษาในต่างประเทศพบสารออกฤทธิ์ต้านเนื้องอกและเซลล์มะเร็งจากพืชสกุลปาหนันอีกด้วย

ในส่วนของคนไทยยังไม่ค่อยมีการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ นอกจากเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่มีกลิ่นหอมเย็น ดอกดก มีสีสันสวยงาม เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบสวนแบบไทยๆ ที่มีความร่มเย็นของพรรณไม้ รวมทั้งกลิ่นหอมของดอกในยามค่ำคืน ที่เห็นกันมากที่สุดที่คนไทยปลูกเป็นไม้ประดับ คือ สะบันงาป่า ข้าวหลามดง แสดสยาม บุหงาหยิก บุหงาลำเจียก ปาหนันมรกต ปาหนันผอม และส่าเหล้าต้น เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์คม.ชัด.ลึก

Update 16-04-52

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *