ผู้นำในอนาคต

ผู้นำในอนาคต
ดิฉันโชคดีได้มีโอกาสกระทบไหล่ Dr. Marshall Goldsmith “กูรู”- Guru ซึ่งได้รับการยกย่องจากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารดังเช่น Forbes Wall Street Journal Businessweek หรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเช่น Harvard ว่าเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลอันดับต้นๆ ในเรื่องการพัฒนาผู้นำระดับโลก

จากการหารือดิฉันได้รับรู้มุมมองและประสบการณ์ของ Dr. Goldsmith เกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้นำ โดยเฉพาะผู้นำในอนาคต ว่าควรมีความเชี่ยวชาญ ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนพฤติกรรมเช่นไร

ในทัศนะของ Dr. Goldsmith ซึ่งได้ร่วมงานกับผู้นำองค์กรที่ชื่อคุ้นหูพวกเรามากมายไม่ว่าจะเป็น Ford Boeing หรือ GE เขาเห็นว่าผู้นำในอนาคตควรมีทักษะและพฤติกรรมหลักๆ ที่ไม่ต่างจากผู้นำในอดีตและปัจจุบัน การที่บุคคลหนึ่งจะประสบความสำเร็จในการนำใครๆ บุคคลนั้นจำเป็นต้องเป็นคนที่เก่งคิด มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทั้งยังต้องเก่งคนไม่ว่าจะเป็นการใส่ใจลูกค้า และลูกทีม

ที่สำคัญ ผู้นำต้องมีจริยธรรม สร้างความเชื่อมั่น และศรัทธาในหมู่ผู้ตามได้

ผู้นำที่ไม่มีใครอยากตาม ย่อมมิใช่ผู้นำที่แท้จริง

ในอีกแง่หนึ่ง Dr. Goldsmith เล่าให้ฟังว่าเขาได้มีโอกาสร่วมดำเนินการวิจัยเรื่องพฤติกรรมอันพึงประสงค์ของผู้นำในอนาคตโครงการวิจัยนี้เจาะสัมภาษณ์กลุ่มที่มีศักยภาพเป็นผู้นำในอนาคต หรือ high-potential leaders 200 คนจากทั่วโลก

ผลของการวิจัยปรากฏว่ากลุ่มผู้นำนี้ มีความเห็นไม่ต่างจากประเด็นที่กล่าวข้างต้นว่า ผู้นำจำเป็นต้องเก่งคิด และเก่งคน

นอกเหนือจากนั้น กลุ่มผู้นำยุคใหม่มีความเห็นว่า เพราะการเปลี่ยนแปลงแห่งกระแสโลก ผู้นำในอนาคตต้องให้ความสำคัญกับอีก 5 ปัจจัยเพิ่มขึ้น

5 ประเด็นดังกล่าวมีดังนี้ค่ะ

1. ผู้นำต้องมองทะลุถึงระดับโลก

ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะเป็นหัวหน้างาน เป็นผู้นำองค์กรระดับกลาง ย่อม หรือใหญ่ ต้องใส่ใจสถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงรอบตัว

ความ “รอบตัว” ในอนาคต มิได้หยุดแค่ระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ แต่ “รอบตัว” หมายถึงระดับโลก เมื่อรอบรู้ความเป็นไปของโลก จึงสามารถคาดเดาและอ่านสถานการณ์ขาด เพื่อการบริหารและตัดสินใจที่คมและทันท่วงที

ความจริงไม่ต้องรอถึงอนาคตหรอกนะคะ เพราะดิฉันมั่นใจว่าท่านผู้อ่านตระหนักถึงผลกระทบจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นห่างไกลจากบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ซับไพรม์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของอเมริกา ราคาน้ำมันในตลาดโลก ความไม่สงบจากการก่อการร้าย ทุกอย่างล้วนพัวพันมีผลซึ่งกันและกันเป็นลูกโซ่

ใครอ่านขาด อ่านเร็ว คิดแก้ คิดกัน คิดคว้าโอกาสได้ก่อนย่อมได้เปรียบ

ในโลกใบเล็กนี้ไม่มีอะไรไกลตัวอีกแล้วค่ะ

2. ความสามารถในการนำในสภาวะที่มีความแตกต่าง

โลกในอนาคตมีความแตกต่างมากขึ้นในหลายมิติ อาทิความแตกต่างด้านวัฒนธรรม เมื่อโลกกลายเป็นสถานที่เล็กๆ เพราะเทคโนโลยีของการสื่อสาร ตลอดจนการทำงานต้องใส่ใจความเป็นไประดับโลกดังกล่าวข้างต้น ผู้นำจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องความแตกต่างด้านวัฒนธรรม ศาสนา และสังคม และใช้ประโยชน์จากความแตกต่างนี้

ขณะเดียวกัน ต้องเก่งในการบริหารความขัดแย้ง ซึ่งย่อมแฝงมากับความแตกต่าง

ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวการชิงชัยเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลง และความแตกต่างที่โดดเด่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัย ที่การหาเสียงแข่งขันเริ่มใช้เป็นประเด็นว่าผู้แทนเดโมแครต บารัก โอบามา อายุ 46 ยังน้อยเกินไป ขณะที่มีคนโจมตีว่า จอห์น แมคเคน ผู้แทนพรรครีพับลิกัน อายุมากเกินไป ด้วยวัย 71

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องเพศ ฮิลลารี คลินตัน เป็นคู่แข่งหญิงที่แข็งแกร่ง แม้ต้องพ่ายโอบามาก็ตามที และยังมีเรื่องเชื้อชาติ อเมริกาอาจได้มีประธานาธิบดีผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์ภายในไม่นานเกินรอ

ผู้นำในอนาคตที่ไม่คุ้นกับการนำและทำงานท่ามกลางความแตกต่างในหลายมิติย่อมเสียเปรียบ เทียบไม่ติดกับผู้นำที่ยืดหยุ่นคุ้นกับความหลากหลาย

3. ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี

ผู้นำยุคดิฉันยังมีข้ออ้างว่าห่างเทคโนโลยี ไม่มีทักษะ เงอะๆ งะๆ เรื่อง “ไฮเทค”… ผู้นำในอนาคตหมดข้ออ้างแล้วค่ะ

เทคโนโลยีช่วยการสื่อสาร ช่วยงานสารพัด ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ วิจัย การดูแลลูกค้า การประมวลข้อมูลฉับไวเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ล้วนแล้วแต่เป็นความรู้พื้นฐานที่คนทำงานต้องมี

ผู้นำ แม้ไม่รู้ลึกเรื่องเทคโนโลยี แม้อาจไม่มีเวลาพอเพียงที่จะติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านไฮเทคที่เกิดทุกนาที แต่ต้องรู้ “พอเพียง” เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการนำองค์กร

หากจะให้ดี ดิฉันแนะนำว่า ผู้นำควรมีผู้ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีซึ่งมีความเข้าใจด้านธุรกิจเอาไว้ใกล้ตัว

4. ความสามารถในการสร้างเครือข่ายและพันธมิตร

โลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเดิมเป็นหลายเท่าทวีคูณ ดังนั้นการบริหารธุรกิจ และองค์กร จึงแตกต่างจากปัจจุบัน โดยเฉพาะในแง่ที่องค์กรจำนวนมากจะไม่เน้นการสร้างและลงทุนขยายอาณาจักรของตนเองอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นในอดีต แต่จะหันไปพึ่งพาการจับมือกับเครือข่ายและพันธมิตรรอบด้าน…รอบโลก

การสร้างเครือข่ายข้ามองค์กรและข้ามพรมแดน ต้องอาศัยทักษะ ความสามารถ ตลอดจนรูปแบบการนำและการบริหารที่ต่างจากการนำทีมในอาณัติ ที่จัดทัพได้ง่ายกว่า หรือสั่งการได้ดั่งใจกว่า ถือเป็นความท้าทายของการนำทีมแบบใหม่ของผู้นำในอนาคต

5. การสร้างทีม

ผู้นำในอนาคตมีความเห็นว่าสถานการณ์ขององค์กรที่มีผู้นำเป็นดาวเด่น เล่นคนเดียว แม้จะประสบความสำเร็จในอดีต แต่สูตรในอนาคตจะแตกต่างออกไป

เนื่องจากความหลากหลาย ความรวดเร็ว ตลอดจนความกว้างไกลในเรื่องที่ผู้นำต้องรอบรู้ ต้องรับ ต้องขยับให้ทันกาล ผู้นำมีความจำเป็นที่ต้องทำเป็นทีม มีหลายสมองหลายมือร่วมกันนำ ร่วมกันทำงาน

ภารกิจสำคัญของผู้นำในอนาคตคือสร้างทีมและสร้างตัวตายตัวแทน ซึ่งถือยังจำเป็นข้อจำกัดในปัจจุบันของผู้นำในวันนี้

ท่านผู้อ่านลองวิเคราะห์เจาะมองตนเองในทั้ง 5 ประเด็น ซึ่งดิฉันเห็นว่ามิได้เป็นทักษะเฉพาะสำหรับ “ผู้นำ” เพราะคนทำงานทุกคนสามารถพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานผ่านทั้ง 5 ปัจจัยได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ปิดไว้ใช้แต่ระดับผู้นำ

ระหว่างรอให้สถานการณ์บ้านเมืองและเศรษฐกิจกระเตื้อง…ลองเลือกเพิ่มทักษะใดก็ได้ตามถนัด

…ดีกว่าอยู่เปล่าๆ ค่ะ

ที่มา : พอใจ พุกกะคุปต์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *