ผู้นำที่ดี : ต้องเริ่มจากอยากจะรับใช้ผู้อื่น ตอน 1
|ผู้นำที่ดี : ต้องเริ่มจากอยากจะรับใช้ผู้อื่น ตอน 1
มองมุมใหม่ : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ pasu@acc.chula.ac.th คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549
ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่า ทำไมหลายๆ คนถึงอยากจะเป็นผู้นำกันนัก ไม่ว่าจะเป็นผู้นำของหน่วยงาน ขององค์กร หรือระดับประเทศ เราอยากจะเป็นผู้นำเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตนเองเป็นหลัก เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง หรือเป็นผู้นำเพราะอยากจะช่วยเหลือองค์กรและบุคคลอื่นๆ ภายในองค์กร? ท่านผู้อ่านลองมองไปรอบๆ ตัวนะครับ และลองสังเกตดูว่าเราพอจะหาผู้นำในลักษณะหลังได้หรือไม่?
ในปัจจุบัน มีแนวคิดเกี่ยวกับผู้นำประการหนึ่งที่น่าสนใจครับ เรียกว่า Servant Leadership หรือผู้นำที่เป็นผู้รับใช้ โดยแนวคิดนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Robert K. Greenleaf ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารของ AT&T โดยในปัจจุบัน Greenleaf ได้เสียชีวิตไปสิบกว่าปีแล้ว แต่แนวคิดเกี่ยวกับ Servant Leadership ที่เขาพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 1970 นั้น กลับได้รับการกล่าวถึงกันมากขึ้นในปัจจุบัน และตัว Greenleaf เองก็ได้รับการยกย่องให้เทียบเท่านักคิดทางด้านผู้นำหลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็น Douglas McGregor หรือ Peter Drucker (ตามความเห็นของ Warren Bennis กูรูทางด้านภาวะผู้นำในปัจจุบัน)
แต่ก็น่าแปลกใจนะครับที่ในต่างประเทศเขาสนใจแนวคิดเรื่อง Servant Leadership กันมาก จนถึงขั้นมีการตั้ง Greenleaf Center for Servant Leadership ขึ้นมา และมีสาขาอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก แต่ในประเทศไทยนั้น กลับไม่ค่อยเป็นที่กล่าวขวัญ หรือพูดถึงกันเท่าใด หรือไม่รู้ว่าพอบรรดาผู้นำของเราได้ยินคำว่า Servant Leadership ปุ๊บ จะนึกว่าตนเองต้องมาเป็นผู้รับใช้ลูกน้องหรือเปล่า?
Robert Greenleaf ระบุไว้เลยครับว่า Servant Leader นั้น เริ่มต้นจากการรับใช้ (เขาใช้คำว่า Servant ครับ) ก่อนเลยครับ โดยผู้บริหารที่เป็น Servant Leader นั้น จะต้องมีความรู้สึกอยากจะช่วยเหลือผู้อื่นก่อน และจากความรู้สึกดังกล่าว ถึงอยากจะเป็นผู้นำ ซึ่งจะต่างจากผู้นำที่ไม่ได้เป็น Servant Leader นะครับ โดยผู้นำทั่วๆ ไปนั้น จะคิดถึงการได้ขึ้นมาสั่งการ ชี้นำ มีอำนาจ ก่อนที่จะคิดช่วยเหลือหรือรับใช้ผู้อื่น
Greenleaf ระบุอีกนะครับว่า จะรู้ว่าผู้นำที่เป็น Servant Leader ประสบผลหรือไม่ ก็คือคนที่ผู้นำช่วยเหลือและรับใช้นั้น (หรือผู้ใต้บังคับบัญชา) เติบโตและพัฒนาขึ้นในด้านต่างๆ หรือไม่? และสุดท้ายบุคคลผู้นั้น ก็จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้ช่วยเหลือหรือผู้รับใช้คนอื่นต่อไป
ผู้นำที่เป็น Servant Leader นั้น จะไม่ใช่ผู้ที่เป็นผู้นำประเภทข้ามาคนเดียว ข้าเก่งคนเดียวครับ แต่ผู้นำประเภทนี้ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนา หรือยกระดับผู้อื่นในทีมของตน และประสบความสำเร็จ ในฐานะที่เป็นทีมเดียวกัน
ผู้นำประเภทนี้จะให้บุคคลอื่นๆ ในองค์กร เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมตามหลักจริยธรรม และการเอาใจใส่ผู้อื่น และประเด็นสำคัญคือผู้นำในลักษณะนี้ ให้ความสำคัญต่อการเติบโต และพัฒนาการของบุคคลอื่นในองค์กร โดยในขณะเดียวกันก็เอาใจใส่ต่อคุณภาพชีวิต ของคนในองค์กร
ท่านผู้อ่านอาจจะบอกว่าหลักการต่างๆ ข้างต้นไม่ใหม่นะครับ ซึ่งก็จริงครับ ถ้าย้อนกลับไปดูพระศาสดาของศาสนาต่างๆ หรือรวมทั้งพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหลายพระองค์ ท่านก็ต่างมีลักษณะของความเป็น Servant Leader ทั้งสิ้น เพียงแต่ Greenleaf เขาสามารถนำเอาคำสองคำที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วอย่าง Servant กับ Leader มาไว้ด้วยกันได้
และหลังจาก Greenleaf ได้ใช้กำหนดคำและหลักการนี้แล้ว ก็ได้มีนักคิดทางด้านภาวะผู้นำคนอื่นๆ อีกที่ต่อยอดแนวคิดเรื่องของ Servant Leader ต่อจาก Greenleaf ดังนั้นเลยไม่น่าแปลกใจนะครับว่าแนวคิดของ Servant Leader จึงไม่ค่อยเป็นที่แปลกสำหรับหลายๆ ท่าน
ถึงแม้แนวคิดเรื่อง Servant Leader จะไม่ใหม่ แต่ท่านผู้อ่านลองมองไปยังผู้นำต่างๆ รอบๆ ตัวนะครับว่ามีลักษณะเป็น Servant Leader มากน้อยเพียงใด จริงๆ แล้วผมเชื่อว่าลักษณะของ Servant Leader นั้น แฝงอยู่กับวิธีการบริหารของผู้บริหารหลายๆ ท่าน ตัวอย่างเช่น Herb Kelleher ซีอีโอของสายการบินชื่อดังอย่าง Southwest Airlines มีความเชื่อว่าผู้นำที่ดีที่สุดคือผู้ที่เป็น Best Server (ขอไม่แปลเป็นไทยนะครับ) และการที่เป็นผู้รับใช้หรือช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ไม่ใช่การคอยควบคุมหรือบังคับผู้อื่น แต่เป็นการคอยดูแลและเอาใจใส่ผู้อื่นเติบโตและพัฒนา
ถึงแม้เราพอจะหาลักษณะของ Servant Leader ได้ในผู้นำหลายๆ ท่าน แต่ประเด็นสำคัญคือบุคคลเหล่านี้จะเป็น Servant Leader อย่างแท้จริงก็คือ ต้องมีความต้องการอยากจะรับใช้หรือช่วยเหลือผู้อื่นก่อน แล้วหลังจากนั้นความต้องการเป็นผู้นำ ถึงจะตามมา แต่ถ้าเราเจอผู้นำที่ขึ้นมาเป็นผู้นำเพราะต้องการอำนาจ แล้วมาอ้างทีหลังว่าต้องการช่วยเหลือผู้อื่น อันนั้นก็ไม่ใช่ Servant Leader ครับ
สัปดาห์นี้เรามาเกริ่นแนวคิดของ Servant Leader ไว้ก่อนนะครับ แล้วสัปดาห์หน้าเรามาต่อในรายละเอียด คุณลักษณะของ Servant Leader กันต่อครับ
สุดท้ายขอฝากประชาสัมพันธ์โครงการเสริมสร้างผู้จัดการยุคใหม่ (MMP) ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ซึ่งจะเปิดเป็นรุ่นที่ 53 แล้วนะครับ เป็นโครงการในลักษณะ Mini-MBA ที่เรียนในทุกศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับผู้บริหาร สนใจก็สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5701-2 นะครับ
________________________________________