ผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงกีฬา 2

ผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงกีฬา 2

โรเจอร์ กูเดลล์
ประธานเอ็นเอฟแอลผู้คอยสอดส่องเรื่องอื้อฉาว สิ่งที่ทำให้เขาตาค้างยามค่ำคืนคือการพยายามรักษาสมดุลของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบมีเดีย
โดย โกฟฟ์ โกลกเคลอร์และทอม โลว์รี
ทุกๆ วัน โรเจอร์ กูเดลล์มักจะถูกเตือนใจให้เห็นถึงความเชื่อมั่น บนผนังห้องทำงานของประธานคณะกรรมาธิการลีกอเมริกันฟุตบอลอาชีพแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอฟแอล) ที่ปาร์กอะเวนิวของเขามีจดหมายใส่กรอบแขวนไว้ มันเป็นจดหมายของชาร์ลส อี กูเดลล์ พ่อผู้ล่วงลับไป อดีตวุฒิสมาชิกนิวยอร์กที่เขียนถึงประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เพื่อให้ล้มเลิกสงครามเวียดนาม มีสมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคริพับลิกันเพียงไม่กี่คนในสมัยนั้นที่ออกมาคัดค้านสงครามดังกล่าว และจุดยืนของวุฒิสมาชิกกูเดลล์ ทำให้เขาต้องชดใช้ด้วยอาชีพนักการเมืองของตนเอง
ในการเป็นผู้บริหารเอ็นเอฟแอลสมัยที่ 2 กูเดลล์ได้แสดงนิสัยไม่อ่อนข้อเหมือนพ่อของเขาออกมา เมื่อต้องจัดการธุรกิจที่กว้างขวางซับซ้อนที่สุดกับวงการกีฬานี้ การตัดสินใจที่รวดเร็วเด็ดเดี่ยวเกี่ยวกับการทำผิดเรื่องแข่งกัดสุนัขของควอเตอร์แบ็คอย่างไมเคิล วิค หรือการแอบสอดแนมทีมคู่แข่งของโค้ชบิล บีลิชิคแห่งทีมแพทริออทส์ รวมทั้งนโยบายใหม่ที่ช่วยปกป้องนักกีฬาที่ต้องทุกข์ทรมานบาดเจ็บจากการปะทะ ช่วยนิยามกูเดลล์ว่าเป็นผู้บริหารที่มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว แนวทางการบริหารงานลักษณะดังกล่าวสร้างความแตกต่างไปจากผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นทนายอย่างพอล ทาเกลียบู ผู้ชอบใช้ความคิดอย่างนักกฎหมายหรือนักการตลาดผู้พูดคล่องอย่างพีท โรเซลล์
แต่อดีตพวกบ้ากีฬาสมัยเรียนมัธยมวัย 48 ปีผู้นี้ (เขามีความรู้ดีในกีฬาถึง 3 ชนิด) ต้องการความเชื่อมั่นทั้งหมดที่มี หากต้องการจะปกป้องแบรนด์ที่เจิดจรัสเช่นเอ็นเอฟแอลและผลักดันให้ลีคแห่งนี้ซึ่งมีรายได้ต่อปีถึง 6 พันล้านเหรียญก้าวไปอีกระดับ “เป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่จริงๆ” กูเดลล์กล่าว “ไม่ใช่แค่ต้องรักษาระดับความสำเร็จของเอ็นเอฟแอลเอาไว้ให้ได้ แต่ต้องต่อยอดของความสำเร็จด้วย” เขาเสริมพร้อมรอยยิ้ม “หลายคืนเลยที่ผมนอนไม่หลับ”
กูเดลล์ไม่ใช่พวกชอบพูดมาก แต่คุณคงพอนึกออกว่าอะไรทำให้เขาตื่นตัวตลอดเวลา นั่นก็คือความพยายามที่จะทำให้กีฬาอเมริกันฟุตบอลโด่งดังไปทั่วโลกยังไกลเกินเอื้อม ความรุนแรงในการแข่งขันและผลกระทบต่อสุขภาพของนักกีฬาทำให้กีฬาประเภทนี้ได้รับการพิจารณามากขึ้น รวมทั้งการโกงก็อาจเป็นชนวนที่เสี่ยงต่อเอกภาพของเอ็นเอฟแอลได้
กูเดลล์สืบทอดมรดกเพื่อดูแลลีคที่เขาช่วยสร้างขึ้นมาจากธุรกิจที่มีการดำเนินงานเล็กๆ จนกลายเป็นธุรกิจความบันเทิงซึ่งมีความซับซ้อนที่ต้องการความปรองดองจากทั้ง 32 ทีมและผู้นำสหภาพนักอเมริกันฟุตบอล เขาใช้ชีวิตการทำงานทั้งชีวิตกับเอ็นเอฟแอล โดยเริ่มทำงานเมื่อปี 1982 ในฐานะเด็กฝึกงานในแผนกประชาสัมพันธ์ของลีค เนื่องจากเป็นคนหัวไว กูเดลล์จึงเป็นที่ต้องตาของประธานคณะกรรมาธิการโรเซลล์ และกลายเป็นผู้ช่วยคนสำคัญให้กับทาเกลียบู กูเดลล์ยกความดีให้กับคนทั้งสอง ที่ทำให้เขามีทุกวันนี้ได้ “พวกเขาสอนให้ผมรู้จักแง่มุมที่สำคัญด้านต่างๆ ในงานนี้” เขากล่าว “และนั่นถือเป็นการเรียนเอ็มบีเอของผม เป็นโอกาสที่ได้เรียนรู้ว่าจะทำงานนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อย่างไร และทำในวิถีทางของผมเอง” กูเดลล์ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบริเริ่มโครงการใหม่ที่จะขับเคลื่อนให้เอ็นเอฟแอลเติบโตขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีเงินนับพันๆ ล้านจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดจากสถานีโทรทัศน์ มีบริษัทต่างๆ เข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์และมีการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ นั่นคือสาเหตุที่แม้ว่าในตอนแรกจะมีการเสนอชื่อผู้ที่มีความเป็นไปได้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ต่อจากทาเกลียบูถึง 185 ชื่อเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งรวมทั้งคอนโดลีซซา ไรซ์และเจบ บุช แต่ที่สุดแล้วตำแหน่งนี้ไม่มีทางจะพ้นมือของกูเดลล์ไปได้
สำหรับกูเดลล์เขาตั้งใจจะทำให้เอ็นเอฟแอลเป็นเหมือนบริษัทใหญ่ๆ ที่มีแผนกย่อย 32 แผนก โดยมีแฟนๆ เป็นลูกค้า “การบริหารงานของเรามีศักยภาพสูงมาก” เขากล่าว “ผมคุยกับซีอีโอหลายคนที่เป็นผู้บริหารบริษัทที่ติดอันดับฟอร์จูน 500 ว่าเขาทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ และเราต่างก็ประยุกต์ใช้หลักการบางข้อเหมือนกัน” บรรดาคนสนิทของเขาก็มีทั้ง บ็อบ ไอเกอร์แห่งวอลท์ ดิสนีย์, เจฟฟ์ อิมเมล์ทแห่งเจเนอรัล อิเล็กทริก และแซม พัลมิซาโนแห่งไอบีเอ็ม
ที่ปรึกษาวงในของกูเดลล์ในลีกอเมริกันฟุตบอลประกอบไปด้วยทีมคณะรองประธานบริหารของเอ็นเอฟแอลที่มีทั้งอีริค กรับแมน อดีตนายธนาคารจากโกล์ดแมน แซคส์ แอนด์ โค, เจฟฟ์ แพช ผู้เคยทำงานบริษัทกฎหมายเดียวกับ ทาเกลียบู, โจ บราวน์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานและเริ่มเข้ามาอยู่ในลีกเอ็นเอฟแอลตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมปลาย และสตีฟ บอร์นสไตน์ อดีตหัวหน้าของอีเอสพีเอ็น ผู้ดูแลช่องเคเบิลเอ็นเอฟแอล เน็ตเวิร์ก สำหรับเรื่องที่กูเดลล์ต้องการคำปรึกษาก็เช่น การเตรียมนโยบายการลงโทษนักกีฬาที่กระทำผิดกฎ การเปลี่ยนให้ทางลีกเป็นผู้จัดการเว็บไซต์เอ็นเอฟแอลดอทคอมเอง (ก่อนหน้านี้เว็บไซต์ดังกล่าวได้จ้างซีบีเอส สปอร์ตส์ไลน์ดอทคอมดูแลให้) รวมทั้งการปิดลีกเอ็นเอฟแอลยูโรปาซึ่งกำลังขาดทุน กลยุทธ์ระดับนานาชาติของเอ็นเอฟแอลในปัจจุบันจะเน้นไปที่การเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน 2 รายการในต่างประเทศเป็นประจำ ซึ่งเป็นการรุกคืบที่กูเดลล์หวังว่าจะสามารถชนะใจแฟนในต่างประเทศได้เช่นเดียวกับที่เบสบอลและบาสเก็ตบอลทำสำเร็จมาแล้ว
กูเดลล์พูดมามากเรื่องการสร้างนวัตกรรมให้กับวงการอเมริกันฟุตบอลอาชีพอยู่เช่นกัน อาทิ การที่เขาคิดจะติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณของโมโตโรล่าในหมวกกันกระแทกอเมริกันฟุตบอลของผู้เล่นในทีมบุก เพื่อให้นักกีฬาได้ยินเสียงของควอเตอร์แบ็ค ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหานักกีฬากระโดดล้ำหน้า ซึ่งหมายความว่าจะมีการลงโทษน้อยลงและทำให้เกมเล่นเร็วขึ้น ขณะที่กูเดลล์เห็นว่าโทรทัศน์เป็นช่องทางที่จะเข้าถึงแฟนกีฬาได้ดีที่สุด เพราะไม่ว่าอย่างไรเครือข่ายโทรทัศน์ช่องอีเอสพีเอ็น และช่องไดเร็คทีวีก็ต้องจ่ายเงินให้เอ็นเอฟแอลถึง 3.7 พันล้านเหรียญต่อปีเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขัน แต่เขายังคงประเมินการเปลี่ยนแปลงของช่องทางการสื่อสารอยู่เสมอ “มีคลื่นลูกใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอด” กูเดลล์กล่าว “เราเลยต้องตั้งรับให้ได้”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้กูเดลล์กังวลที่สุดคือความใจเย็นหรือการปล่อยให้ช่วงหลายปีแห่งความสำเร็จในฐานะแบรนด์และธุรกิจของเอ็นเอฟแอลให้หลับใหลหยุดนิ่งไปด้วยความรู้สึกแบบผิดๆ ว่าได้ก้าวเข้าสู่ความสำเร็จและมั่นคงปลอดภัยแล้ว การเรียกวิค และบีลิชิคมาลงโทษอย่างรุนแรงเป็นเรื่องง่าย แต่การครองอันดับหนึ่งให้ได้ตลอดสิ เป็นคนละเรื่องกันเลย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *