ผนึกกำลังรับมือค้าเสรี ‘กินปลาน้ำจืดไทย’

ผนึกกำลังรับมือค้าเสรี ‘กินปลาน้ำจืดไทย’
• อาหาร
• เรื่องเด่น
ไร้โรค-ไร้พุง ‘ช่วยชาติ’

เมื่อกลางปี 2551 ได้นำเสนอเรื่องราวของ “ปลาน้ำจืดไทย” ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า และเขตการค้าเสรีไทย-จีน ซึ่งหลายฝ่าย เช่น กรมการค้าต่างประเทศ กรมประมง เกษตรกร มีความกังวลว่าข้อตกลงการค้าจะสร้างปัญหาให้อุตสาหกรรมปลาน้ำจืดไทย

“… การทำเขตการค้าเสรีอาเซียน สินค้าประมงต้องลดภาษีเป็น 0 ภายในปี 2550 ยกเว้นสินค้าที่ไทยขอสงวนสิทธิ์ 22 รายการ จะลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2552 เมื่อถึงกำหนดเวลา สินค้าปลาจากประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำจะทะลักเข้าไทยอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันไทยก็มีการนำเข้าปลาสดแช่เย็นแช่แข็งจากประเทศสมาชิกอาเซียนต่อปีกว่า 400,000 ตันอยู่แล้ว …”

“… หากผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดในประเทศไทยที่มีกว่า 400,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดเล็ก ไม่ได้รับการพัฒนาส่งเสริมให้เข้มแข็งเพื่อ รองรับการแข่งขันที่สูงขึ้น ก็จะได้รับผลกระทบแน่ …”

“… จะทำให้สินค้าปลาที่มีต้นทุนการผลิตต่ำทะลักเข้าไทยจำนวนมาก ส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวประมงไทย และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดที่ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดเล็ก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพฟาร์มปลาน้ำจืดของไทยให้เข้มแข็งเพื่อรองรับการแข่งขัน …”

ที่ว่ามาข้างต้นเป็นจุดที่สร้างความกังวลว่าจะเกิดปัญหา

และมาวันนี้ก็เริ่มมีการเร่งป้องกันปัญหาในระดับหนึ่ง !!

ทั้งนี้ นอกจากในส่วนของหน่วยงานรัฐ-ของกรมที่เกี่ยวข้องแล้ว ทางศูนย์หัวใจหลอดเลือด และเมแทบอลิซึม โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สสส. ก็เข้ามามีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่การจัดโครงการรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยบริโภค “ปลาน้ำจืดไทย” ซึ่งมีคุณค่าโภชนาการสูง บริโภคแล้วไม่อ้วน โดย นพ.ฆนัท ครุฑกูล เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่าทางศูนย์หัวใจฯจะจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลดีต่อสุขภาพจากการบริโภคปลาน้ำจืด รวมถึงจัดเมนูอาหารปลาบริการผู้ป่วยที่ใช้บริการโรงพยาบาลรามาธิบดีด้วย

ล่าสุดทางศูนย์หัวใจหลอดเลือด และเมแทบอลิซึม โรงพยาบาล รามาธิบดี โดยการสนับสนุนของกองทุนเอฟทีเอ กระทรวงพาณิชย์ และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ผนึกกำลังทำโครงการนำร่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมปลาน้ำจืด เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมนี้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ปลาแปรรูปที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย เกิดการกระจายรายได้แก่เกษตรกรอย่างเป็นธรรม และก่อให้เกิดการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทำให้อุตสาหกรรมนี้สามารถแข่งขันกับปลาจากต่างประเทศได้

อีกทั้งระหว่างวันที่ 19-21 ก.พ.นี้ ในงาน “ฝ่าวิกฤตการค้าพัฒนาผู้ประกอบการ : ด้วย FTA” ที่ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซน A เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่ต้องการได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการเลี้ยงปลาที่ถูกต้อง การแปรรูป และประชาชนทั่วไปที่ต้องการทราบข้อมูลคุณค่าโภชนาการของปลา ก็สามารถจะไปหาความรู้เรื่องนี้กันได้ รวมถึงมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปลาแปรรูปคุณภาพด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.fishsupplychain.com ของ โครงการนำร่องการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปลาน้ำจืด ระบุไว้ว่า… ทางโครงการได้ศึกษาปลาน้ำจืด 3 ชนิดคือ “ปลานิล-ปลาดุก-ปลาสวาย” ที่มีศักยภาพในการผลิตและการตลาด ที่จะได้รับผลกระทบในอันดับต้น ๆ ซึ่งทำให้เห็นปัญหาและโอกาส ที่จะทำให้เกษตรกร ผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดทั้งระบบสามารถพัฒนาเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ปลาน้ำจืดในแต่ละห่วงโซ่อย่างมีประสิทธิภาพ มากที่สุด

“ผลกระทบโดยตรงจากการที่ประเทศไทยอนุญาตให้มีการนำเข้าปลาอย่างเสรีในทุกรูปแบบ ทำให้อุตสาหกรรมปลาน้ำจืดไทยต้องเกิดการแข่งขันกับปลานำเข้า ทั้งปลาสดแช่แข็ง ปลาแปรรูปในแบบต่าง ๆ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาจึงจำเป็นจะต้องศึกษาแนวทางที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับปลาน้ำจืดไทย ด้วยการแปรรูปปลาเป็นอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ หลากหลายเมนู เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผลผลิตปลาน้ำจืดให้สามารถเกิดทางเลือกที่หลากหลายมากกว่าเดิม”

ทางโครงการฯระบุอีกว่า… ปัจจุบันนี้ตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ปลาแปรรูปพร้อมรับประทานเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดี ถ้าหากภาคเกษตรกรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อการศึกษาด้านการเพิ่มมูลค่าปลาน้ำจืด จากในอดีตที่ผ่านมาการแปรรูปปลาน้ำจืดยังจำกัดอยู่ในวงแคบ ยังไม่สามารถขยายไปยังตลาดขนาดใหญ่ได้ ทั้งที่มีความต้องการของตลาด มีโอกาสจะขยายได้อีกมาก

“มีการศึกษาเพื่อให้ปลาน้ำจืดไทยสามารถปรับตัวแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ โดยมุ่งเน้นเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิต การพัฒนา ผลิตภัณฑ์ปลาน้ำจืดแปรรูปให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากตลาดโลก ซึ่ง ถือเป็นการสร้างตลาดใหม่ให้กับผลผลิตปลาน้ำจืดของประเทศไทย” …นี่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้างเกราะคุ้มกันเกษตรกรไทยผู้เลี้ยงปลาน้ำจืด-อุตสาหกรรมปลาน้ำจืดไทย

และจะยิ่งดี…ถ้าคนไทยเองช่วยกันบริโภคปลาไทยให้มาก ๆ

ดีแน่…ต่อเกษตรกรไทยผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดและเศรษฐกิจไทย

ที่สำคัญ…ราคาไม่แพง-บริโภคแล้วสุขภาพดี-ไม่อ้วน !!!.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *