ปูนซีเมนต์นครหลวง กับการขนส่ง Containerization

ปูนซีเมนต์นครหลวง กับการขนส่ง Containerization
Source: ทีมงานปูนซีเมนต์นครหลวง

ในยุคสมัยโลกาภิวัตน์ การขนส่งทางภาคพื้นไม่ว่า จะเป็นทางรถยนต์ และรถไฟ สำหรับปูนซีเมนต์ผงและถุง เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการที่จะกระจายสินค้าจากโรงงานไปสู่ลูกค้า ในส่วนภูมิภาคต่างๆ ซึ่งการขนส่งทุกวันนี้ จะต้องคำนึงถึงการกระจายของสินค้าอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ไม่เสียหาย และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับในชุมชนนั้นๆ ซึ่งการขนส่งทางรถยนต์นั้น สามารถที่จะรองรับการความต้องการของลูกค้าได้อย่างดี แต่เนื่องจาก ปัจจุบันการปรับตัวขึ้นของอัตราน้ำมันดีเซลที่มีผลอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดในช่วง 1–2 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้หลายๆ บริษัทจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการขนส่งทางรถบรรทุก ซึ่งโดยปกติจะมีค่าใช้จ่าย 60-70% จากน้ำมันดีเซล โดยหันมาใช้การขนส่งทางรถไฟเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดการใช้น้ำมันลง และเป็นการช่วยรัฐบาลในการประหยัดพลังงานอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวทางที่บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ได้นำมาเป็นแนวทางในการดำเนินการเสมอมา
การกระจายสินค้าทางรถไฟนั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยส่วนที่สำคัญหลายๆ ปัจจัย อาทิ

* หน่วยงานของการรถไฟ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการที่จะขนส่งปูนซีเมนต์ถุง จากโรงงาน (สระบุรี – สถานีรถไฟ มาบกะเบา) ไปยังสถานีปลายทาง เช่น สถานีรถไฟ อุบลราชธานี อุดรธานี ชุมทางบางซื่อ และสถานีในพื้นที่ทางภาคใต้ (พูนพิน–หาดใหญ่–และยะลา) ซึ่งการขนส่งดังกล่าวจะส่งไปเป็นตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 20 ฟุต หรือ 40 ฟุต วางอยู่บนแม่แคร่ โดยการขนส่งสินค้านั้น อาจจะมีการขนไปทั้งขบวน (18–22 แม่แคร่ แล้วแต่พื้นที่ในการวิ่ง) หรือเป็นการฝากไปกับขบวนอื่นๆ อาทิ ขบวนบรรทุกน้ำมัน ขบวนรถผู้โดยสาร

* การบรรทุกปูนซีเมนต์ถุงขึ้นบนตู้คอนเทนเนอร์ จะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม โดยทางฝ่ายที่ดูแลเรื่องการขนส่งทางรถไฟนั้น จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความสามารถในการบังคับหัวรถจักร (ของทางบริษัทฯ) และข้อปฎิบัติฯ ต่างๆ ที่ทางการรถไฟกำหนด เพื่อที่จะทำการลากตู้ที่พร้อมทำการขนส่งทั้งหมด มาจอดไว้สถานีต้นทางเพื่อให้ตรงกับตารางเวลาการเดินรถของหัวรถจักรของทางการรถไฟที่จะมาลากขบวนสินค้าไปยังปลายทาง เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ ให้เกิดการบรรทุกให้มากที่สุดและเพิ่มปริมาณการขนส่งทางรถไฟได้มากขึ้น และยังเป็นการช่วยลดการแออัดการจ่ายสินค้าภายในโรงงานลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถช่วยลดการจราจรภายในโรงงาน

* สภาพคลังสินค้าที่ปลายทาง และการนำปูนซีเมนต์ถุงลงจากตู้คอนเทนเนอร์ จำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์ ในการยกสินค้าออกจากตู้ (รถยก) การเตรียมพื้นที่ในการกองเก็บปูนซีเมนต์ถุงให้เพียงพอต่อการขนส่งในแต่ละขบวน เนื่องจากปริมาณการขนส่งในแต่ละเที่ยวนั้น มีปริมาณมากกว่ารถบรรทุก การออกแบบคลังสินค้าให้รองรับกับการขนถ่ายสินค้า จากตู้คอนเทนเนอร์ ทางรถไฟ ลงบนพื้นคลัง ก็เป็นที่สำคัญ ที่จะทำให้เกิดการขนถ่ายอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และรวมถึงลดปัญหาในการขนถ่ายในช่วงหน้าฝน และลดมลภาวะทางด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การขนถ่ายสินค้า รวดเร็วมากยิ่งขึ้นเท่าไร ก็สามารถที่จะส่งตู้คอนเทนเนอร์กลับไปได้เร็วขึ้น
Backhauling experience
ข้อดีอีกส่วนหนึ่งของการขนส่งทางรถไฟนั้นคือ สามารถที่จะทำการส่งสินค้าขากลับมา (backhauling) พร้อมกับตู้คอนเทนเนอร์ที่จะทำการส่งกลับเข้าโรงงาน ซึ่งปัจจุบัน ทางปูนซีเมนต์นครหลวงก็ได้มีการดำเนินการดังกล่าวจากสถานีปลายทาง ทั้งนี้ ยังได้มีการวางแผนรวมกับหน่วยงานภายในบริษัทฯ ในการนำวัตถุดิบ และเชื้อเพลิงทดแทน ที่สามารถจะบรรทุกลงในตู้คอนเทนเนอร์ และส่งกลับเข้าสู่ อาทิ การนำยางรถยนต์ / กะลาปาล์ม ที่ใช้แล้วนำมาเป็นเชื้อเพลิง จากทางภาคเหนือ และภาคใต้

Safety in Rail transportation
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องพึ่งระวังในการขนส่งทางรถไฟนั้น เป็นในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด อาทิ การบำรุงรักษาหัวรถจักร การดูแลและซ่อมบำรุงรางรถไฟ ในส่วนที่เป็นของทางบริษัทฯ ซึ่งการดูแลทั้งหมดนี้ เป็นหน้าที่ที่ทางฝ่ายดูแลการขนส่งทางรถไฟ จำเป็นที่จะต้องหมั่นตรวจสอบและเฝ้าระวังอยู่อย่างสม่ำเสมอ
Limitation of Service
ปัญหาและอุปสรรคที่พบกับการขนส่งทางรถไฟในปัจจุบันนั้น จะเกี่ยวข้องกับ เรื่องของการหมุนเวียนหัวรถจักร และแม่แคร่ ซึ่งทำให้ตารางเวลาในการวางแผนขนส่งในบางขบวนอาจจะไม่ตรงกับที่ได้กำหนดไว้ นอกจากนี้การประสานงานกับเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ตลอดจนสถานีที่เป็นทางผ่านทั้งหมดก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
ข้อจำกัดด้านอื่นๆ ของการขนส่งทางรถไฟนั้น โดยปกติยังไม่สามารถที่จะส่งเป็นแบบถึงมือลูกค้าได้ทันที (door to door) ซึ่งแตกต่างจากรถบรรทุก ที่สามารถจะทำการขนส่งไปถึงมือของลูกค้าภายในต่อเดียว นอกจากนี้ การที่จะต้องมีฝ่ายดูแลการขนส่งทางรถไฟ ซึ่งจะต้องมีการบำรุง และดูแลรักษาสภาพหัวรถจักร รางรถไฟ และตู้คอนเทนเนอร์

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) กำลังดำเนินการในการส่งเสริมการขนส่งแบบ containerization โดยการลำเลียงสินค้าภายในตู้ container และทำการสับเปลี่ยนตู้สินค้าดังกล่าวไปลงบนรถบรรทุกซึ่งจอดรออยู่ที่สถานีปลายทาง และขนส่งไปสู่ลูกค้า โดยไม่ต้องมีการลำเลียงสินค้าออกจากตู้ container ซึ่งจะทำให้ประหยัดทั้งต้นทุน และเวลาในการดำเนินการ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันมิให้สินค้ากระทบกระเทือนอันเนื่องจากการลำเลียงหลายครั้ง (double handling)

Key Success Factor
ปัจจัยหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในการบริหารการจัดส่งทางรถไฟนั้นคือ บริษัทฯ จำเป็นที่จะต้องมีบุคลากร ที่สามารถดูแลและเข้าใจ ถึงโครงสร้าง และการทำงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นอย่างดี และรวมไปถึงการดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน อาทิ แม่เคร่ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้า หัวรถจักรที่ใช้ในการลากแม่แคร่ภายในพื้นที่ โรงงาน การดูแลและรักษารางรถไฟ ที่อยู่ภายในโรงงาน และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทฯ พนักงานรถไฟ นายสถานีที่ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเป็นส่วนช่วยในการติดตามสถานะของขบวนรถต่างๆ ที่จะจัดส่งให้ได้ตรงตามเวลา
สรุปแล้วการขนส่งปูนซีเมนต์ทางรถไฟนั้น จะยังคงดำเนินต่อไปด้วยปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากปัจจัยเรื่องของการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน และในขณะเดียวกันที่ทางการรถไฟจะต้องมีการปรับปรุง และอำนวยความสะดวกในเรื่องสาธารณูปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมเพรียงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเพิ่มปริมาณหัวรถจักร และการเพิ่มปริมาณแม่แคร่ให้มากขึ้น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *