ปัญหาโอกาสเข้าถึงการศึกษาในมุมมองเศรษฐศาสตร์

ปัญหาโอกาสเข้าถึงการศึกษาในมุมมองเศรษฐศาสตร์

วันที่ : 3 มกราคม 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : การศึกษาวันนี้

ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ การศึกษาและการเรียนรู้ เป็นบริการประเภทหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษ คือ ผู้รับบริการ (ผู้เรียน) มิใช่เป็นผู้รับประโยชน์เท่านั้น แต่สังคมโดยรวมยังได้รับประโยชน์อีกด้วย โดยเฉพาะการศึกษาระดับพื้นฐานที่หากเด็กได้รับการศึกษาหรือการเรียนรู้มากขึ้น พวกเขาจะมีแนวโน้มที่ก่อปัญหาสังคมน้อยลง และยังสามารถเอาวิชาความรู้ไปช่วยผู้อื่นได้อีก นั่นหมายความถึงให้ผลตอบแทนทางสังคมสูง ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าผลกระทบภายนอกเชิงบวก (positive externality)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการศึกษาและการเรียนรู้จะมีประโยชน์ กลับพบปัญหาในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ของไทย คือ มีผู้ใช้บริการการศึกษาและการเรียนรู้ต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น (optimum level) ทั้งนี้หากวิเคราะห์จากมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ พบว่ามีสาเหตุดังนี้

การจัดการเรียนรู้โดยรัฐไม่ตรงกับความต้องการของผู้เรียน

แม้รัฐจะเข้ามาแทรกแซงการจัดการการเรียนรู้ โดยจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ผู้เรียน ซึ่งทำให้ต้นทุนการเข้าถึงการเรียนรู้ต่ำลง แต่เกิดปัญหาอีกประการคือ รัฐไม่ทราบความจำเป็นหรือความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง ซึ่งเศรษฐศาสตร์เรียกภาวะนี้ว่า “ความอสมมาตรของข้อมูล (Asymmetric information)” กรณีของประเทศไทย ระบบการเรียนรู้ทั้งหมด ทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดี” ดำเนินการจากส่วนกลางแม้ปัจจุบันจะมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแล้วก็ตาม จึงทำให้เกิดช่องว่างระหว่างรัฐกับความต้องการของประชาชน จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะทราบความต้องการของผู้เรียน จึงส่งผลให้เกิดปัญหา กล่าวคือ รัฐจัดการเรียนรู้ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการหรือความจำเป็น เช่น เด็กในพื้นที่ต่างกันมีทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ต่างกัน แต่รัฐจัดรูปแบบการเรียนรู้เหมือนกัน และเด็กบางกลุ่มขาดโอกาสในการเรียนรู้ เพราะรัฐไปไม่ถึง หรือถึงแต่คุณภาพไม่ดี เช่น หากรัฐขาดความเข้าใจในความลำบากของนักเรียนในการเดินทางไปโรงเรียน บางหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลมาก เด็กก็ไม่สามารถรับการเรียนรู้ที่โรงเรียนได้ เนื่องจากต้นทุนการเดินทางสูงเกินไป

การไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากทรัพยากรที่เป็นทุนทางสังคม

ทรัพยากรบุคคล การใช้ทรัพยากรบุคคลอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การสร้างโอกาสการเรียนรู้ไม่เกิดผลสูงสุด อาทิ ใช้คนไม่ถูกประเภท การไม่ใช้คนตามความถนัดในการสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้เด็ก เช่น มีคนคนหนึ่ง มีความมุ่งหมายที่จะตั้งโรงเรียนตามอัธยาศัย เพื่อสอนภาษาอังกฤษให้เด็กในชุมชนแออัด แต่เมื่อดำเนินการมาสักระยะเริ่มมีปัญหา เนื่องจากไม่มีทุนสนับสนุน เพราะไม่มีทักษะด้านการหาทุนแต่มีความสามารถด้านการสอนอย่างเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริง ควรมีการหาผู้ที่มีความสามารถในการระดมทุนมาช่วยเหลือ โดยไม่จำเป็นต้องทำเอง ใช้คนไม่เต็มศักยภาพ มีคนจำนวนมากมีเวลาว่างเพื่อช่วยเหลือสังคม แต่ยังไม่ได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่า “เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาส” จากการไม่ได้ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ ดังนั้น การสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้แก่เด็ก โดยมองข้ามการนำทรัพยากรเวลามาใช้ถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ในชุมชนอาจมีแม่บ้าน ซึ่งไม่ได้ทำงานประจำ คนเหล่านี้อาจนำมาฝึกอบรม เพื่อถ่ายทอดความรู้หรือจัดกิจกรรมให้กับเด็กในชุมชน เป็นต้น

ทรัพยากรวัตถุและสถานที่ นอกจากทรัพยากรด้านบุคคลแล้ว สังคมยังมีทรัพยากรอื่น ๆ เช่น ทรัพยากรทางวัตถุและสถานที่ ซึ่งในแต่ละชุมชนยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ นับเป็นการเสียโอกาสอย่างมาก อาทิ ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน วัด สวนสาธารณะ รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชนนั้น เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งโบราณสถานที่สำคัญ จังหวัดจันทบุรีและระยอง สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการทำสวนผลไม้ และการผลิตปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น ดังนั้น ควรหาช่องทางนำทรัพยากรชุมชน มาร่วมจัดการศึกษาและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ของคนในชุมชนให้มากที่สุด
ทุนทางสังคม เป็นทรัพยากรพื้นฐานของชุมชน ซึ่งแต่ละแห่งจะมีทุนทางสังคมต่างกัน อาทิ บุคคล กลุ่มบุคคล เช่น เครือข่ายทางสังคม สมาคมลูกเสือ คณะกรรมการโรงเรียน สโมสรฟุตบอล ผู้คนอยู่ร่วมกันบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ฯลฯ บ่อยครั้งทุนทางสังคมมักถูกมองข้าม และไม่นำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในการจัดการเรียนรู้ ดังนั้น หากมีการนำเอาทุนทางสังคมมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนรู้ ย่อมมีส่วนเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในชุมชนนั้นได้มากขึ้น

การตัดสินใจรับการศึกษาของผู้เรียนขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่จะได้รับ

การตัดสินใจเลือกใช้บริการนั้น ผู้เรียนจะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ตนเองได้รับเป็นหลัก ดังนั้น หากในมุมมองของมีบางคนเห็นว่าการศึกษา ให้ผลตอบแทนกลับมาไม่คุ้มค่าหรือไม่ได้รับในระยะเวลาอันสั้น เขาก็จะตัดสินใจที่จะไม่เข้ารับการเรียนรู้ แม้ว่าการเรียนรู้ของเขาจะทำให้สังคมได้รับประโยชน์ก็ตาม ยิ่งการทำให้เป็นไปตามปรัชญาด้านการศึกษาที่ต้องการให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษา 100% นั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้ แนวทางแก้ไขปัญหานี้คือ รัฐต้องเข้ามาอุดหนุนหรือเป็นผู้เข้ามาจัดบริการทางการศึกษาเอง เพื่อให้ต้นทุนการเข้าถึงการศึกษาของผู้เรียนลดลง แต่หากรัฐดำเนินการตามแนวทางนี้อย่างไม่ระมัดระวัง อาจก่อเกิดปัญหาอื่นตามมาได้ ดังเช่นปัญหาการอุดหนุนรายหัวที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การแก้ปัญหาการขาดโอกาสเข้ารับการศึกษาของเด็กไทยนั้น จำเป็นต้องพิจารณาจากหลากหลายมุมมอง จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาและกำหนดทิศทางพัฒนาการจัดการศึกษาอย่างเหมาะสม เช่น หากเกิดจากการที่รัฐไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างเหมาะสมหรือสอดคล้องตามความต้องการของผู้เรียน จำเป็นที่รัฐจะต้องสนับสนุนให้ภาคีอื่นเข้าร่วมจัดการศึกษา เช่น ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ เข้าร่วมจัดการศึกษา โดยเฉพาะเข้าร่วมจัดการศึกษาในด้านที่รัฐไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพ ฯลฯ

หากเกิดจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากทรัพยากรที่เป็นทุนทางสังคม จำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์สภาพชุมชน การวิเคราะห์จุดแกร่งและโอกาส เพื่อนำทรัพยากรในชุมชนเข้าร่วมสนับสนุนการจัดการศึกษา ฯลฯ หรือหากเกิดจากการการตัดสินใจรับการศึกษาของผู้เรียนขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่จะได้รับ จำเป็นที่จะต้องจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานหรือในระดับสูง หรือจัดการศึกษาสาขาที่จบมาแล้วมีงานทำ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เป็นต้น
สรุปแล้ว การจะพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของสังคมไทย ให้กลุ่มคนต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้ จำเป็นต้องวิเคราะห์หารากสาเหตุปัญหา และผลักดันให้เกิดการแก้ไขและพัฒนาอย่างครบวงจร

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *