ปล่อยหนังสือให้เลอะเทอะบ้าง

ปล่อยหนังสือให้เลอะเทอะบ้าง
 
วันที่ : 14 มิถุนายน 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : การศึกษาอัพเกรด
 
            คงมีหลายคนมักคิดว่า“หนังสือมีไว้สำหรับอ่าน ไม่ได้มีไว้ให้ขีดเขียนหรือทำสกปรกเลอะเทอะ ดังนั้น ต้องใช้อย่างทะนุถนอม อ่านเสร็จก็เก็บให้เรียบร้อย”หรือ “ถ้าต้องการเน้นข้อความสำคัญ อนุญาตให้ขีดเส้นใต้เพียงอย่างเดียว และทำได้เฉพาะหนังสือของเราเองเท่านั้น”

            ความคิดเกี่ยวกับการใช้หนังสือเช่นนี้ ทำให้หลายคนพลาดโอกาสสำคัญในการใช้หนังสือช่วยพัฒนาสติปัญญาและพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ ความเข้าใจ ความจำ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถได้รับจากการอ่านหนังสือ

            ดังนั้น แทนที่จะอ่านหนังสือแบบอ่านและจดจำในสมองเช่นที่ผ่านมา ควรอ่านหนังสือแบบ อ่าน ทำความเข้าใจ คิด ขีด และ เขียนลงไปด้วย ซึ่งข้อเสนอแนะนี้อาจเป็นข้อเสนอที่เราไม่คุ้นเคย แต่จากประสบการณ์การอ่านหนังสือของผม และผลลัพธ์ที่ได้รับจากการแนะนำลูก ๆ รวมทั้งลูกศิษย์ ทำให้ผมสรุปได้ว่า วิธีการอ่านแบบนี้ช่วยทำให้ผู้อ่านฉลาดขึ้นได้ เพราะผู้อ่านจะกลายเป็น ผู้เรียนรู้” ไม่ใช่ “ผู้รับรู้” เช่นที่ผ่านมา ผู้อ่านที่เป็นเพียงผู้รับรู้แล้วก็จำตามที่หนังสือเขียน ไม่ต่างอะไรกับนกแก้วนกขุนทอง ที่จำสิ่งที่คนสอนมาพูดตามนั้นได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน แต่ผู้อ่านที่เรียนรู้นั้นจะอ่านและคิดตามด้วย

            อ่านแบบเรียนรู้ จะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าผู้เขียนสื่อสารอะไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะอะไร มีความคิดเห็นเพิ่มเติม หรือเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นอย่างไรบ้าง ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถเรียนรู้ คำศัพท์ สำนวนใหม่ ๆ รูปแบบการเขียน หรืออะไรก็ตาม ที่ได้รับจากการอ่าน ซึ่งการอ่านแบบเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ เมื่ออ่านแล้ว “คิด” และ “ขีดเขียน” ลงไปในหนังสือ

            เดฟ เอลลิส (Dave Ellis) ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเรียนเพื่อพัฒนาให้เด็ก “เรียนเก่ง” กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า มีเหตุผลเดียวที่คนเราไม่เขียนอะไรลงไปในหนังสือ เพราะเรากลัวว่าเมื่อนำไปขายต่อจะไม่ได้ราคา ซึ่งแท้จริงแล้วประโยชน์ที่ได้จากการเขียนลงไปในหนังสือนั้น มีมากกว่าที่ได้รับจากการขายไม่รู้กี่เท่า”

            เขามีแนวคิดที่เรียกว่าระบบ Discovery and Intention Journal Entry System ซึ่งสามารถนำไปใช้ในระหว่างการอ่านหนังสือ Discovery คือ ข้อค้นพบ ทัศนคติ ความคิดเห็น และความรู้สึกที่มีต่อข้อความที่ได้อ่านจากหนังสือ Intention คือ สิ่งที่จะตั้งใจจะไปทำต่อ หลังจากที่มีข้อค้นพบ หรือมีข้อคิดจากการอ่านหนังสือ เช่น กลับไปถามอาจารย์/เพื่อน ต้องไปค้นข้อมูลต่อ เป็นต้น โดยที่ผู้อ่านสามารถขีด เขียน ลงไปในหนังสือได้ ในภาคปฏิบัติเอลลิสมีคำแนะนำ ดังนี้

            เมื่อต้องการเน้นความสำคัญ สามารถขีดเส้นใต้ ทำเครื่องหมาย สร้างสัญลักษณ์ เหนือข้อความที่เราคิดว่าสำคัญ อาจวงกลมล้อมรอบข้อความสำคัญนั้น หรือ ใส่เครื่องหมายดอกจันทร์ (*) อยู่เหนือข้อความในหนังสือเล่มนั้น ถ้าสำคัญมากและต้องกลับมาทบทวนอาจเพิ่มจำนวนเป็น *** ตามความสำคัญของเนื้อหา เมื่อเราขีดเส้นใต้ หรือทำเครื่องหมายตรงข้อความที่เราเห็นว่าสำคัญ เราจะรู้ถึงความคิดของผู้เขียนได้อย่างคมชัดมากยิ่งขึ้น

            เมื่อต้องการทำความเข้าใจและกลับมาทบทวน หลังจากการอ่าน อาจเขียนสรุปความสั้น ๆ ในสิ่งที่ได้รับจากการอ่าน ไว้มุมใดมุมหนึ่งของหนังสือ เหมือนการที่เราปฏิสัมพันธ์กับผู้เขียน เราจะได้ยินเสียงของเรากำลังพูดกับผู้เขียนอยู่ อันเป็นการช่วยทำความเข้าใจ ช่วยในการจำ รวมทั้งช่วยประหยัดเวลาในการกลับมาทบทวนอีกครั้ง ทำให้ไม่ต้องอ่านใหม่ทั้งหมดอีกรอบ โดยให้ดึงเฉพาะประเด็นหรือคำสำคัญที่เราควรจดจำ อาจทำเป็นในรูปของตาราง รูปวาด สัญลักษณ์ หรือข้อความสั้น ๆ สรุปเป็นข้อ ๆ หรืออะไรก็ได้ตามจินตนาการที่ช่วยให้เราจำได้และกลับมาทบทวนได้เร็วขึ้น

            เมื่อต้องการแสดงความคิดเห็น สามารถเขียนสื่อสารหรือใช้ภาษาสัญลักษณ์ ที่เราสามารถโต้แย้งกับผู้เขียนหรือเสนอความคิดเห็นใหม่ ๆ ที่แตกต่างเพิ่มเติมลงไปในหนังสือด้วย เป็นการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ ๆ เปิดมุมมองความคิดใหม่ ทัศนะที่เรามีต่อเรื่องที่เราอ่าน เช่น ขีดเส้นข้อความที่เห็นด้วย แล้วลากเส้นโยงออกมา เขียนไว้ว่า ความคิดนี้สุดยอดจริง ๆ” “เรื่องที่คุยกับเพื่อนเมื่อวานก็น่าจะเกี่ยวข้องด้วย”เป็นต้น

            เมื่อไม่เข้าใจและมีข้อสงสัย ให้ใส่เครื่องหมายคำถาม หรือเขียนประเด็นที่สงสัย ในส่วนเนื้อหาที่ไม่เข้าใจ เกิดความสงสัย ต้องค้นคว้าเพิ่มเติม หรือสอบถามผู้รู้ ให้ใส่เครื่องหมายคำถาม (?) ในส่วนของข้อความที่ยังไม่เข้าใจ และเขียนกำกับไว้ด้วยว่าเราไม่เข้าใจอะไร หรืออาจเขียนกำกับไว้ด้วยว่าจะต้องทำอะไรต่อไป เช่น “ถามอาจารย์” “ค้นในห้องสมุด” เป็นต้น

            เมื่อได้ค้นพบสิ่งใหม่ สามารถใส่เครื่องหมาย สัญลักษณ์ ข้อความพิเศษ หรือใช้ปากกาสีที่แตกต่าง ในส่วนที่เป็นความรู้ใหม่ที่เราได้รับเพิ่มเติมจากในเนื้อหา ซึ่งจะช่วยให้เราจดจำได้ดีขึ้น

   

            อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เหมาะสำหรับหนังสือกับที่เราเป็นเจ้าของเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียน หนังสือที่ใช้ประกอบการเรียน หนังสืออ่านเพิ่มเติม หรือแม้กระทั่งหนังสือที่ซื้อมาอ่านเล่น เพื่อใช้การใช้หนังสือเกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด แต่หนังสือบางเล่มที่เราต้องการเก็บไว้เป็นหนังสืออ้างอิง หนังสือที่ต้องใช้หลาย ๆ คน หนังสือที่จะเก็บไว้ในห้องสมุด หนังสือที่ต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น หนังสือประเภทนี้เราควรใช้อย่างมีมารยาทและเห็นแก่ผู้อื่น โดยไม่จดข้อความหรือขีดเขียนสิ่งใดลงไป ไม่พับหนังสือหรือวางคว่ำหน้าลงเพราะหนังสืออาจจะหักหรือเสียหายได้ และควรดูแลให้หนังสืออยู่ในสภาพเดิมให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ร่วมกับผู้อื่น ทุกคนได้ประโยชน์ในการใช้ร่วมกัน

 

            ผมมีความเชื่อว่า ทุกคนมีความสามารถในการพัฒนาตนเองให้เก่งและฉลาดขึ้นได้ หากได้รับการฝึกฝนในวิธีที่เหมาะสม ซึ่ง “การอ่านหนังสือ” เป็นวิธีการหนึ่ง เพราะช่วยให้เกิดสมาธิ เพิ่มพูนความฉลาดและพัฒนาความคิดของตนเองได้มากยิ่งขึ้น แต่การอ่านหนังสือจะสามารถช่วยพัฒนาความเก่งและความฉลาดได้นั้น เกิดจากการที่เมื่ออ่านหนังสือ ผู้อ่านได้คิดใคร่ครวญ ขีดเขียน ใส่สัญลักษณ์ หรือใส่เครื่องหมาย โต้ตอบกับผ้เขียน แม้จะดูเลอะเทอะ ไม่น่าดู ในสายตาคนอื่น แต่แท้จริงแล้ว เพียงหนึ่งหน้าของหนังสือที่ผู้อ่านได้คิดใคร่ครวญโต้ตอบกับผู้เขียน อาจเต็มเปี่ยมไปด้วยการเรียนรู้ใหม่ ๆ ซึ่งคุ้มค่ากับการใช้หนังสือหนึ่งเล่ม
 
 

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *