ปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธศาสนา (อีคิวแนวพุทธ)

ปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธศาสนา (อีคิวแนวพุทธ)

คำว่า “ปรีชาเชิงอารมณ์” มาจากการกำหนดศัพท์ของท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตตโต) ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 เป็นดังนี้ “ปรีชา” หมายถึง ปัญญาสามารถ ความรอบรู้จัดเจน ส่วน “อารมณ์” หมายถึง เครื่องยึดหน่วง ความคิดความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ นิสัยใจคอ
ในการเขียนครั้งนี้ได้ตัดการอ้างอิงออก เพื่อให้อ่านง่ายสำหรับบุคคลทั่วไป ผู้อ่านที่สนใจรายละเอียดโปรดอ่านได้จากเอกสารปรากฏท้ายบทความนี้
คำว่า ปรีชาเชิงอารมณ์ ในภาษาอังกฤษคือ emotional intelligence (EI) หรือ emotional quotient (EQ) สำหรับในภาษาไทยใช้เรียกกันหลายชื่อ แต่ชื่อที่ได้ยินกันบ่อยที่สุดคือ อีคิว ในบทความนี้ใช้ 2 แบบ คือปรีชาเชิงอารมณ์ ตามที่ใช้ภายในสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ และอีคิว ดังนั้นปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธศาสนา จึงสามารถเรียกง่ายๆ ว่า “อีคิวแนวพุทธ” ปรีชาเชิงอารมณ์หรืออีคิว หมายถึง การมีปัญญาควบคุมความคิด ความรู้สึก หรือนิสัยใจคอที่มีปัญญากำกับ ถ้าใครมีปรีชาเชิงอารมณ์ในระดับสูงเท่าไร โอกาสที่จะเป็นคนเจ้าอารมณ์ก็จะยิ่งน้อยลง
ปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธศาสนา (อีคิวแนวพุทธ)
อารมณ์คือสภาพของจิต ก่อนจะพูดถึงปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธศาสนา (หรืออีคิวแนวพุทธ) เราต้องมาทำความรู้จักกับชื่อปรีชาเชิงอารมณ์ก่อน ปรีชาหมายถึงปัญญาหรือความรอบรู้ ส่วนอารมณ์นั้นหมายถึงความรู้สึก นิสัยใจคอ ซึ่งตรงกับความหมายทางพุทธว่า “สภาพของจิต” หรือ “อาการของจิต” หรือเรียกว่า “เจตสิก”

“จิต” เป็นสภาพรู้สิ่งต่างๆ หรือสภาพที่นึกคิด เมื่อ “จิต” เกิดขึ้นรับรู้สิ่งใด “สภาพของจิต” หรือ “เจตสิก” ย่อมเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วยเสมอ เช่น จิตเกิดขึ้นรับรู้ (เห็น) ภาพทางตา ขณะนั้นสภาพของจิตที่เกิดขึ้นควบคู่กับจิตเห็นอาจเป็นความรู้สึกดีใจ เสียใจ หรือเฉย ๆ หรือเมื่อจิตเกิดขึ้นรับรู้ (ได้ยิน) เสียง ขณะนั้นก็จะมีสภาพจิตเกิดควบคู่กับจิตเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง เมื่อเด็กมองเห็นแม่ (จิตรู้ทางตา) ย่อมเกิดความรู้สึกดีใจ (สภาพของจิตที่เกิดควบคู่) หรือเด็กชาย ก ได้ยินเสียงสุนัขเห่า (จิตรู้ทางหู) ย่อมเกิดความรู้สึกกลัว (สภาพของจิตที่เกิดควบคู่)
สภาพของจิต หรือเจตสิก มีทั้งหมด 52 ชนิด แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ฝ่ายกลาง มี 13 ชนิด เช่น ความเพียร ความตั้งใจ การคิด ความรู้สึก เป็นต้น
2. ฝ่ายดี (กุศลเจตสิกหรือโสภณเจตสิก) มี 25 ชนิด เช่น ความไม่โกรธ ไม่โลภ การมี
สติ (ระลึกได้ในกุศลต่าง ๆ) หิริโอตัปปะ (รังเกียจและเกรงโทษของอกุศล) ศรัทธา
เลื่อมใสในกุศลธรรม) เป็นต้น
3. ฝ่ายชั่ว (อกุศลเจตสิก) มี 14 ชนิด เช่น ความโกรธ ความริษยา (เห็นใครได้ดีทน
ไม่ได้) ความโลภ ความหลง เป็นต้น
อารมณ์หรือความรู้สึกหรือสภาพจิตจึงมีทั้งฝ่ายดี (กุศล) ฝ่ายกลางและฝ่ายชั่ว (อกุศล) เช่นเดียวกัน แต่เรามักสนใจอารมณ์ฝ่ายดีหรืออารมณ์ฝ่ายชั่ว เช่น ความเมตตา (ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข) ความกรุณา (ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) เป็นอารมณ์ฝ่ายดี ส่วน ความโกรธ ความโศกเศร้า ความริษยาเป็นอารมณ์ฝ่ายชั่ว ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกว่า กิเลส
ในทางพุทธศาสนาถือว่าจิต (หรือใจ) เป็นใหญ่ เป็นประธาน ถ้าสภาพจิตใจดีงาม การกระทำหรือพฤติกรรมทางกายและทางวาจาก็ดีงามไปด้วย เนื่องจากเจตนา (ความตั้งจิตคิดหมาย) เป็นตัวกำหนดพฤติกรรม ดังนั้นแนวคิดเบื้องต้นในการพัฒนาปรีชาเชิงอารมณ์ (อีคิว)
คือการพัฒนาสภาพจิตฝ่ายดี (กุศล) ให้เกิดมากขึ้น และควบคุมสภาพจิตฝ่ายชั่ว (อกุศล) ให้ลดลง โดยอาศัยพลังของฝ่ายกลาง เนื่องจากอารมณ์ฝ่ายกุศลเป็นคุณประโยชน์และประกอบด้วยปัญญา นำไปสู่พฤติกรรมที่เกื้อกูลและสร้างสรรค์ เช่น เด็กชาย ก เห็นคนตาบอดจะเดินข้ามถนน เกิดความเมตตา จึงไปช่วยจูงให้ข้ามถนน ซึ่งเป็นพฤติกรรมเอื้อเฟื้อ ส่วนอารมณ์ฝ่ายอกุศลไม่ประกอบด้วยปัญญาและไม่เกื้อกูล นำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น เด็กชาย ข เห็นเพื่อนมีปากกาสวยถูกใจ อยากได้มาเป็นของตัว จึงไปขโมยเมื่อเพื่อนเผลอ การกระทำนี้เป็นพฤติกรรมเบียดเบียนและก่อให้เกิดปัญหา

พฤติกรรมหรือการกระทำ
คำว่าพฤติกรรมในทางพุทธศาสนาหมายรวมการกระทำทั้งทางกาย วาจา และใจ ซึ่งอาจมีทั้งดีและชั่ว ในตารางข้างล่างนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ ทั้งที่เป็นฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว พฤติกรรมฝ่ายชั่ว (ทุจริต) เกิดจากกิเลส ตัวอย่างของพฤติกรรมฝ่ายดี เช่น การไม่ลักขโมย (ทางกาย) การพูดความจริง (ทางวาจา) และไม่คิดพยาบาท (ทางใจ) ส่วนตัวอย่างของพฤติกรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ การฆ่าสัตว์ (ทางกาย) การพูดคำหยาบ (ทางวาจา) และการคิดอยากได้ของผู้อื่น (ทางใจ)
ฝ่าย พฤติกรรมทาง
กาย วาจา ใจ
ดี กายสุจริต : เว้นฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม วาจาสุจริต : พูดความจริงพูดสมานสามัคคี พูดไพเราะ พูดมีประโยชน์ มโนสุจริต : ไม่คิดเอาของคนอื่นมาเป็นของตน ไม่คิดให้คนอื่นพินาศ สัมมาทิฐิ (ความเห็นถูก)
ชั่ว กายทุจริต : ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม วาจาทุจริต : พูดปด พูดส่อเสียด (ยุยงให้แตกกัน) พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ(เปล่าประโยชน์) มโนทุจริต : โลภะ (โลภ) โทสะ (โกรธ) โมหะ (หลง) คิดเอาของคนอื่นมาเป็นของตน คิดให้ คนอื่นพินาศ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม(มิจฉาทิฐิ)

การพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ ปัญญา
พฤติกรรมมีเจตนาเป็นตัวนำ เจตนาคือความจงใจ ตั้งใจ ขวนขวายที่จะกระทำ เจตนานี้เป็นสภาพจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเจตนาในทางดี (กุศล) หรือในทางชั่ว (อกุศล) ก็ได้ การที่จะพัฒนาเจตนาในทางกุศลต้องอาศัยปัญญา (เจตสิก) ผลของเจตนาในทางกุศลก็คือพฤติกรรมที่ดีงาม หลักในการพัฒนามนุษย์ตามแนวพุทธศาสนาจึงต้องพัฒนาให้ครบองค์ประกอบ 3 ประการ ซึ่งบูรณาการกันหรือเป็นปัจจัยหรือช่วยเหลือประสานแก่กันและกัน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา หรือ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ในไตรสิกขานั่นเอง
การพัฒนาพฤติกรรม (ศีล) การแสดงออกของคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นด้านกายหรือวาจา ในขั้นต้นสามารถควบคุมหรือพัฒนาได้โดยใช้ระเบียบวินัย หรือประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดพฤติกรรมที่เคยชินที่ดี เช่น การเข้าคิวซื้อของ การพูดขอบคุณ การไม่แสดงออกซึ่งอารมณ์มากไป การไม่พูดก้าวร้าว เป็นต้น อย่างไรก็ดีการฝึกให้ทำตามระเบียบวินัยอย่างเดียวอาจเกิดความเก็บกดได้ จึงต้องมีการพัฒนาจิตใจและปัญญาควบคู่ไปด้วย การพัฒนาจิตใจเพื่อให้จิตมีคุณสมบัติที่ดี คือการพัฒนาอารมณ์หรือสภาพจิตฝ่ายดี เช่น ความเมตตา กรุณา เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า คุณธรรม และพัฒนาสภาพจิตที่เป็นกลาง เช่น ความเพียร การคิด เป็นต้น นี่เรียกว่า สมรรถภาพของจิต ซึ่งจะทำให้เกิดความสุขใจ ความพอใจ เป็นต้น ซึ่งประการหลังคือสุขภาพจิต เช่น เมื่อเด็กได้ช่วยเหลือคนตาบอดข้ามถนนแล้วเขามีความสุขใจ ปลาบปลื้มใจในการทำความดี ความรู้สึกนี้จะหนุนนำให้เขาทำความดีอีกในโอกาสหน้า โดยรวมการพัฒนาจิตใจมุ่งหมายเพื่อให้มีคุณธรรม สมรรถภาพจิต และสุขภาพจิต และนอกจากนั้นก็คือการพัฒนาปัญญา (การรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง) เช่น การคิดไตร่ตรองเพื่อให้เข้าใจเหตุผลของการกระทำหรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีความเห็นถูกต้อง เช่น เห็นว่าการพูดปด การแสดงวาจาก้าวร้าวเป็นสิ่งไม่ดี การขโมยของผู้อื่นจะทำให้เขาเดือดร้อน เป็นต้น
จิตที่พัฒนาดีแล้วจะได้สมดุล ไม่กระสับกระส่าย จะเอื้อต่อการใช้ปัญญาในการคิดพิจารณา ทำให้มองเห็นทางเลือก และเป็นอิสระ และยังช่วยเกื้อหนุนให้มีพฤติกรรมที่ดีงาม ในทำนองเดียวกันปัญญา (หรือการคิดดี) จะส่งผลให้สภาพจิตใจดีและนำไปสู่พฤติกรรมที่ดี จิตและปัญญาทำงานร่วมกันโดยมีสติ (สภาพที่ระลึกได้) เป็นตัวเชื่อม สติเป็นสภาพจิตฝ่ายดี เป็นการระลึกได้ หรือ ดึงจิตไว้กับสิ่งที่รับรู้ เพื่อให้โอกาสจิตได้พิจารณาให้เข้าใจถูกต้อง (สัมปชัญญะ) เช่น ความโกรธเกิดขึ้น สติเกิดขึ้น ทำให้จิตรับรู้ความโกรธ จะเป็นโอกาสให้ได้พิจารณาเหตุและผลของความโกรธ โดยอาศัย โยนิโสมนสิการ (การคิดไตร่ตรอง) เมื่อเกิดปัญญา ความโกรธจะหายไป จึงแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม แต่ถ้าเรายังสนใจสิ่งที่ทำให้โกรธ หรือสติเกิดแล้วไม่พิจารณา เราก็ยังคงโกรธต่อไปและแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
การพัฒนาสภาพจิตหรืออารมณ์ฝ่ายดีสามารถทำได้ 2 แนวทาง แนวทางแรกเรียกว่า สมถะ ส่วนแนวทางที่สองคือ วิปัสสนา สมถะหมายถึงความสงบจากอกุศล การอบรมจิตให้สงบจากอกุศลในชีวิตประจำวันอาจเป็นการข่มอารมณ์ฝ่ายไม่ดีไม่ให้มีบทบาท พร้อมกันนั้นก็ปลูกฝังจิตให้เคยชินกับสภาพจิตที่ดีๆ จิตจะมีความโน้มเอียงเช่นนั้น เช่น คนที่มีอะไรกระทบแล้วโกรธง่ายบ่อย ๆ จิตจะเคยชินเช่นนั้น แต่ถ้าสร้างสภาพจิตให้มีเมตตา ให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จิตก็มีความโน้มเอียงที่จะมีสภาพเช่นนั้น ในเรื่องสมถะนี้ จิตจะแน่วแน่เป็นสมาธิอยู่กับสิ่งหนึ่งๆ ไม่ส่ายไปที่อื่น อย่างไรก็ตามวิธีนี้จิตจะเป็นกุศลชั่วขณะเท่านั้น การที่จิตจะสงบจากอกุศลและพัฒนาขึ้นได้เรื่อยๆ และสามารถมีหลักที่จะสอนตัวเองและช่วยแนะนำคนอื่นได้ด้วยนั้นต้องประกอบด้วยปัญญา หรือการรับรู้ความเป็นจริงของธรรมชาติ (วิปัสสนา) ที่มาที่สำคัญของปัญญาเกิดจากการพิจารณาไตร่ตรอง หรือเรียกว่า โยนิโสมนสิการ การรู้และเข้าใจความเป็นจริง (รู้ถูกเข้าใจถูก) จะทำให้เข้าใจชีวิตของตนเองและของผู้อื่น สภาพจิตจะเป็นสุข และเป็นอิสระจากกิเลส

โยนิโสมนสิการ (การไตร่ตรอง)
โยนิโสมนสิการ หรือ การคิดไตร่ตรอง คิดพิจารณา การรู้จักคิด การคิดเป็น หรือการคิดถูกวิธี จะช่วยให้เข้าใจความจริงและเห็นแง่มุมที่เป็นประโยชน์ของสิ่งต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อเราได้รับการบ้านจากครูแล้วเราคิดถูกคิดเป็น เราจะมองเห็นประโยชน์ของการทำการบ้านว่าทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เรียนไปได้ละเอียดยิ่งขึ้น เมื่อเราคิดเป็นเราย่อมทำการบ้านด้วยความเต็มใจและเป็นสุขใจ แต่ถ้าเราคิดไม่ถูกคิดไม่เป็น เราอาจมองว่าการบ้านทำให้เราเสียเวลาเล่นเกมส์ เราจึงไม่เต็มใจทำการบ้านและเป็นทุกข์
การคิดเป็นหรือคิดถูกวิธีจะช่วยข่มสภาพจิตด้านอกุศลและเสริมสร้างสภาพจิตด้านกุศลให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ เป็นฐานของปัญญา และนำไปสู่ปัญญาเห็นชอบ (มองเห็นทางเลือกทางออก มองเห็นประโยชน์จากทุกเหตุการณ์ไม่ว่าดีหรือร้าย) ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งด้านจิตใจ (มีความสุข ความผ่องใส) และพฤติกรรมที่ดีงาม (เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น)
กล่าวโดยสรุป พฤติกรรมที่ดีงามย่อมมาจากการคิดถูก คิดเป็น และเกิดความรู้สึกในทางที่ดีมีสุข จึงเห็นได้ว่าทั้งสามส่วน (พฤติกรรม การคิด และความรู้สึก) เป็นสิ่งที่อิงอาศัยกันและกัน บุคคลหนึ่ง ๆ อาจพัฒนาส่วนใดส่วนหนึ่งก่อนก็ได้ ดังนั้น เมื่อมองปรีชาเชิงอารมณ์ในแนวทางพุทธศาสนาหรืออีคิวแนวพุทธ จึงควรมองในลักษณะบูรณาการของจิตใจ ปัญญา และพฤติกรรม (แทนด้วยความรู้สึก การคิด และการกระทำ) เนื่องจากทั้งสามองค์ประกอบนี้ล้วนมีความสำคัญและมีบทบาทร่วมกัน อิงอาศัยกันและกัน เมื่อบุคคลพัฒนาได้ครบทุกองค์ประกอบจะทำให้บุคคลพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงการเป็นอยู่ด้วยปัญญาหรือปัญญาควบคุมอารมณ์ และผลที่แสดงออกคือพฤติกรรมที่เกื้อกูลและสร้างสรรค์ (เป็นมิตรต่อตนเอง/เพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม)
นิยามของปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธ (อีคิวแนวพุทธ)
ความหมายของคำว่าปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธ (อีคิวแนวพุทธ) คือ ความสามารถของบุคคลที่จะใช้ปัญญาในการรักษาและพัฒนาสภาพจิตที่ดีงามหลังจากรับรู้สิ่งใดแล้ว และแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่เกื้อกูลและสร้างสรรค์
การใช้ปัญญา หมายถึง การคิดไตร่ตรองเหตุผล การคิดเป็น การคิดถูกวิธีหรือโยนิโสมนสิการ
สภาพจิตที่ดีงาม หมายถึง อารมณ์ฝ่ายดี (กุศล) อันได้แก่ เมตตา กรุณา อารมณ์ที่สงบ และเบิกบาน
พฤติกรรมเกื้อกูลและสร้างสรรค์ หมายถึง พฤติกรรมเสียสละ ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสภาพแวดล้อม
โครงสร้างของปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธ (อีคิวแนวพุทธ)
การพิจารณาปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธในชีวิตประจำวัน ดูที่ผลที่มีต่อชีวิต 3 ด้าน คือ มีความสุขในตนเอง สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี และสามารถทำงานประสบความสำเร็จ เนื้อหาแต่ละด้านมีลักษณะย่อยดังนี้
1. ตนเองมีความสุข ประกอบด้วยคุณลักษณะส่วนบุคคลดังนี้ อารมณ์ดี สุขภาพจิตดี มองโลกในแง่ดี ใจคอหนักแน่น เมตตา กรุณา มุทิตา ควบคุมตนเองได้ มั่นใจในตนเอง และปรับตัวยืดหยุ่น
2. สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี ประกอบด้วยคุณลักษณะที่สำคัญในความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้อื่นดังนี้ ช่วยเหลือผู้อื่น มีน้ำใจ จริงใจ ไม่ดูถูกผู้อื่น สามัคคี กตัญญู เอาใจเขามาใส่ใจเรา และรู้จักให้อภัย
3. ทำงานได้ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วยคุณลักษณะที่สำคัญในการทำงานร่วมกับ
ผู้อื่นดังนี้ ตรงต่อเวลา วางแผนการทำงาน ซื่อสัตย์ สู้งานอดทน เห็นแก่ส่วนรวม ร่วมมือในการทำงาน เสียสละเพื่อส่วนรวมในการทำงาน รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มองการณ์ไกล มีฉันทะในการทำงาน กล้าคิด กล้าแสดงออก และใฝ่รู้
กล่าวโดยสรุปปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธหรืออีคิวแนวพุทธมีความหมายครอบคลุม 3 ด้าน คือความรู้สึก (จิตใจ) ความคิด (ปัญญา) และการกระทำ (พฤติกรรม) ของบุคคล ในสถานการณ์ 3 สถานการณ์ได้แก่ ตนเอง (มีความสุข) การอยู่ร่วมกับผู้อื่น (ได้ดี) และการทำงาน (ประสบความสำเร็จ) คนที่มีปรีชาเชิงอารมณ์ (อีคิว) สูง ย่อมเป็นคนที่มีความสุขในตนเอง สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี และทำงาน (รวมทั้งการเรียน) ประสบความสำเร็จ
[บทความนี้ปรับและขยายจากบทความเรื่อง “ปรี

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *