ปรับตัวอย่างไร ให้หลุดจากหนี้ปีนี้

ปรับตัวอย่างไร ให้หลุดจากหนี้ปีนี้
ขอให้กำหนดไว้ในใจเลยว่า ตัวเองต้องใช้เงินอย่างสมเหตุสมผล ใช้อย่างไร และมากน้อยแค่ไหนตลอดปีนี้ จากนั้นให้กำหนดว่าสมาชิกแต่ละคนควรใช้จ่ายเท่าใด และไม่ควรปล่อยให้ใช้จ่ายออกนอกลู่นอกทาง
“หนี้” คำนี้สำหรับคนไทย ที่มีความสามารถ และความเสี่ยงต่ำในการชำระคืนหนี้ ทั้งผ่อนส่ง และกู้ยืมมา อาจเป็นคำที่ไม่น่าหนักอกหนักใจ แต่คนไทยกลุ่มหนึ่งที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง การมีหนี้จึงเป็นเรื่องน่าหนักใจ ต้องระวังไม่ให้เพิ่มขึ้น
“9 กลวิธีปฏิบัติได้ เพื่อเป็นอิสระจากหนี้” เรียบเรียงโดยสตีเฟ่น บี.สมิธ คอลัมนิสต์ของอินเวสเตอร์ วีคลี เผยแพร่บนเวบไซต์ฟิเดลิตี้ จึงเป็นหัวข้อที่คนไทยซึ่งอาจมีปัญหาหนี้หนักอกอยู่ตอนนี้ สามารถเก็บไว้เป็นข้อมูลไว้ปรับใช้ รับมือสถานการณ์ค่าครองชีพที่มีแต่จะขึ้นได้
สมิธมีวิธีการต่างๆ ถึง 9 วิธี ที่จะช่วยให้สมาชิกภายในบ้าน ร่วมมือร่วมใจกันประหยัด และรู้จักใช้รู้จักจ่ายในชีวิตประจำวันอย่างระมัดระวัง เพื่อที่ตัวเองกับสมาชิกอื่นในครอบครัวห่างไกลจากคำว่าหนี้
“กำหนดแผนใช้จ่ายเสียตั้งแต่ตอนนี้” เป็นทั้งคำแนะนำและคำเตือนแรกของสมิธ เพราะเขาถือว่าการคิดจัดทำแผนการเงินเป็นเหมือนการสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้กับครอบครัว
ขอให้กำหนดไว้ในใจเลยว่า ตัวเองต้องใช้เงินอย่างสมเหตุสมผล ใช้อย่างไรและมากน้อยแค่ไหนตลอดปีนี้ จากนั้นให้กำหนดว่าสมาชิกแต่ละคนควรใช้จ่ายเท่าใด และไม่ควรปล่อยให้ใช้จ่ายออกนอกลู่นอกทาง
อย่าลืมว่าค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ จะต้องรวมค่าใช้จ่ายบางรายการที่ไม่อาจคาดเดาได้ไว้ด้วย รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์หรือความบันเทิง
“ขอให้เดินตามแผนการใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด” หากรอใบเรียกเก็บเงินหรือให้ชำระหนี้ส่งมา แล้วค่อยดำเนินการตามแผนใช้จ่ายที่วางไว้ อาจจะสายเกินไป เมื่อค่าใช้จ่ายบานปลายจนยากจะจัดการได้
ดังนั้น ขอให้ติดตามดูตัวเลขใช้จ่ายเสียแต่เนิ่นๆ โดยอาจจะใช้บริการออนไลน์ตามเวบไซต์ต่างๆ ที่มีโปรแกรมบริหารการใช้จ่าย หรือระบบที่มีแผนคอยปรับข้อมูลตารางการใช้จ่ายให้ทันสมัยอยู่เสมอ
คอยเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละวัน และแผนที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้แน่ใจเสมอว่าตัวเองยังอยู่ในขอบเขตหรือข้อจำกัดที่ได้ตั้งไว้ตามแผน
“กำหนดเส้นตายชำระคืนหนี้ให้ตัวเอง” หากมีหนี้ต้องชำระ 800 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงวันหยุด และชำระคืนก้อนหนี้ด้วยเงินขั้นต่ำต้องชำระ เมื่อคำนวณเป็นตัวเลขแล้วพฤติกรรมเช่นนี้จะต้องใช้เวลาเกือบ 11 ปีถึงจะหมดพันธะจากหนี้ก้อนนี้ได้
นอกจากนี้ ต้นทุนหรือหนี้ก้อนแรกที่มีอยู่ จะยิ่งทวีคูณ มีมากกว่าเดิม 2 เท่า คิดคำนวณจากสมมติฐานการชำระคืนขั้นต่ำสุด 2.5% หรือ 10 ดอลลาร์ และอัตราดอกเบี้ยต่อปี 18% เตือนตัวเองไว้เสมอว่า ต้องรีบชำระหนี้โดยเร็ว ไม่ควรติดแน่นอยู่กับหนี้ไปจนถึงปีหน้า
“ตัดลดรายการของขวัญของฝากที่ไม่จำเป็น” ไอเดียนี้เหมือนกับการตัดแต่งต้นไม้ในบ้าน แต่ตัวเลขค่าใช้จ่ายสามารถจำกัดได้ด้วยการตัดรายการของขวัญของฝากออกไปเสียบ้าง
เพราะแทนที่จะส่งของขวัญหรือซื้อของฝากไปให้ญาติกับมิตรสหายทุกคนที่รู้จัก ขอให้เปลี่ยนเป็นการส่งสารแสดงความยินดีหรือความคิดถึงชื่นชมสัมพันธภาพไปให้แทน กรณีจำเป็นขอให้เลือกซื้อของขวัญให้เฉพาะญาติกับเพื่อนสนิทจริงๆ
“ส่งอีการ์ดแทนซื้อของส่งไปให้” แทนที่จะเสียเงินซื้อกระดาษกับบัตรอวยพรที่มีเสียงเพลงซึ่งมีราคาแพง หรือบัตรอวยพรหรูหรา และมีลูกเล่นเอาใจผู้รับ ขอให้ใช้ความเรียบง่ายกับของฟรีที่มีให้ในโลกไซเบอร์
โดยผู้อยากจะให้บัตรอวยพรโดยไม่ต้องเสียเงิน สามารถเจาะเข้าไปดูทางเวบไซต์ ซึ่งให้บริการส่งอิเล็กทรอนิกส์ การ์ด หรือ อีการ์ดฟรีตลอด 24 ชั่วโมง อย่าง123greetings.com หรือ hallmark.com
“คิดหาตกแต่งของขวัญด้วยตัวเอง” ของขวัญดีที่สุดมักจะมาจากมันสมองของตัวเอง และดีกว่าการซื้อหาด้วยเงินทอง ลองหารูปเก่าๆ มาใส่กรอบให้กับผู้รับ หรือทำปฏิทินมีรูปถ่ายจากกล้องดิจิทัล
สำหรับครอบครัวที่มีพี่เลี้ยงเด็ก อาจให้คูปองส่วนลดซื้อของกินของใช้ตอบแทนน้ำใจ หากมีเก้าอี้โยกเก่าๆ ที่ยังใช้การได้ดี ให้ลองนำมาดัดแปลงทาสีขัดเงาจนกลายเป็นของขวัญชิ้นใหม่ได้ ความสำคัญสำหรับของขวัญประเภทนี้คือผู้รับรู้สึกชื่นชม และสามารถสัมผัสกับน้ำใจที่ได้จากผู้ให้
“ชอปปิงผ่านอินเทอร์เน็ต” ด้วยวิธีนี้ช่วยผู้ให้สามารถประหยัดเวลา ประหยัดน้ำมัน เลี่ยงการเข้าคิวซื้อของกับการเดินแออัดฝ่าฝูงชนตามห้างสรรพสินค้า หรือปวดหัวกับการขับหาที่จอดรถ
ร้านค้าปลีกหลายแห่งแข่งกันนำเสนอ ให้ชอปปิงโดยไม่คิดค่าส่งสินค้า ในบางกรณีร้านค้าจะจัดส่งให้ลูกค้าได้โดยตรงไม่ต้องผ่านสำนักงานไปรษณีย์ แต่ก่อนจะใช้บริการขอให้แน่ใจด้วยว่า การซื้อสินค้าทางออนไลน์ไม่คิดค่าจัดส่งไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม
“หยุดพักผ่อนนอนสบายอยู่กับบ้าน” ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะทำเป็นลืมตารางทำงานไปเสียบ้าง ลองปล่อยสมองไปหากิจกรรมกระโดดโลดเต้น ดูแสงสีฟังเสียงเพลงเพราะๆ
คลายเมื่อยด้วยการอาบน้ำอุ่น จากนั้นนอนอ่านหนังสือดี จิบน้ำชาหรือช็อกโกแลตอุ่นๆ เพียงแค่หยุดจัดการกับเรื่องค่าใช้จ่าย ที่อาจจะยังไม่ลงตัวและน่าปวดหัวเสียบ้าง หากสมองปลอดโปร่งความคิดที่ตามมาจะโลดแล่นกลับมาแก้ปัญหาทุกอย่างได้ดีขึ้น
“ทำบุญช่วยจรรโลงใจห่างไกลหนี้” คือ คำแนะนำสุดท้ายที่สมิธเชื่อว่า การทำบุญกุศลด้วยการให้ อาจเป็นการให้เสื้อผ้ากับผ้าห่มที่ใช้แล้ว หรือให้ตุ๊กตาที่ลูกๆ ไม่เล่นแล้ว แต่ยังอยู่ในสภาพดีเล่นได้ แก่องค์กรต่างๆ ที่พัฒนาเยาวชนซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลกเช่น ยูนิเซฟหรือมูลนิธิศุภนิมิตร
ความดีจากการให้ ทำให้สมิธเชื่อว่า จะช่วยสมาชิกในครอบครัวค้นพบความสุขใจ โดยไม่ต้องแสวงหาวัตถุใหม่ราคาแพง จากการลุยชอปปิงจ่ายเงินสร้างหนี้บัตรเครดิตกันในวันหยุด
ตั้งอกตั้งใจ ทำตามวิธีดังกล่าวข้างต้น เชื่อเถอะว่าภายในปีนี้หลุดหนี้มีอิสรภาพทางการเงินแน่นอน

บทความจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *