ประเด็นโลจิสติกส์ทางการค้าของประเทศไทย

ประเด็นโลจิสติกส์ทางการค้าของประเทศไทย

 

จากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้เกิดประเด็นที่น่าสนใจนั่นก็คือ “โลจิสติกส์ทางการค้า” หนึ่งในการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ได้แก่ การเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศและระหว่างประเทศของตนเอง ให้สามารถรองรับการค้าและการลงทุนพร้อมทั้งสามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     การปรับตัวหรือการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีกว่า ในเรื่องโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับระบบการค้าและการลงทุนนี้ ปัจจุบันองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก หรือสหประชาชาติ ต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมากและที่สำคัญ พยายามผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ เร่งพัฒนาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยจะเรียกประเด็นโลจิสติกส์ทางการค้านี้ว่า “Trade Logis- tics” หรือไม่ก็เรียกว่า “Trade Logistics and Facilitation” โดยนิยามคำจำกัด ความและความสำคัญของเจ้าโลจิสติกส์ทางการค้า ไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
     “…การมีระบบหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ทางการค้า เช่น การขนส่ง การจัดเก็บ ดูแล และการกระจายสินค้าและวัตถุดิบ รวมถึงการบริหารจัดการในเรื่องสารสนเทศทางการค้าต่างๆ ที่มีคุณภาพและใช้ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สามารถแข่งขันได้เป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ในทางกลับกันถ้าประเทศนั้นๆ มีระบบ หรือบริการในเรื่องเหล่านี้ที่ไม่เพียงพอหรือด้อยพัฒนาไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ปริมาณการค้าของประเทศลดลง แต่จะยิ่งทำให้ระบบและบริการโลจิสติกส์ของประเทศเหล่านั้นด้อยประสิทธิภาพลงไปด้วย ดังนั้น ศักยภาพ ความพอเพียงและความครอบคลุมของระบบและบริการโลจิสติกส์ทางการค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด…” (เรียบเรียงใหม่ให้ได้เนื้อความโดยผู้เขียน จากเอกสารของสหประชาชาติ)
     จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความสำคัญของการเร่งพัฒนาโลจิสติกส์ทางการค้า เป็นเรื่องที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย จะต้องหันมาดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง
     ที่นี้ลองมาดูกันว่าประเด็นหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ทางการค้า ที่ประเทศไทยจะต้องเร่งพัฒนา ประกอบไปด้วยเรื่องหลักๆ อะไรบ้าง
     เรื่องแรก เป็นเรื่องของช่องทางหรือเส้นทางของการค้า หรือที่อาจจะเรียกว่า “Trade-Lanes” ณ ชั่วโมงนี้ถือว่ามีความสำคัญมากต่อการค้าและเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากช่องทาง หรือเส้นทางการค้าของประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น มีอยู่อย่างจำกัด และขาดประสิทธิภาพทั้งทางด้านต้นทุนและเวลาเป็นอย่างมาก ทำให้ต้นทุนทางการค้าของสินค้าต่างๆ ของประเทศไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ
     เรื่องต่อมา เป็นเรื่องของกฎระเบียบพิธีการ ขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติต่างๆ ของหน่วยงานของภาครัฐ ปัจจุบันถือว่าไม่เพียงแต่สร้างภาระในด้านต้นทุน และเวลาในการทำการค้าและธุรกิจต่างๆ ให้กับภาคเอกชน ทั้งในรูปแบบของต้นทุนแฝง หรือต้นทุนของโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐ ที่คอยกำกับดูแล ทั้งในด้านจัดเก็บรายได้ ภาษีด้านควบคุมคุณภาพ ด้านสาธารณสุขและด้านความเสี่ยงต่างๆ ที่ดำเนินการไปในลักษณะที่ขาดความเข้าใจในเรื่องของประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขันเชิงการค้าของภาคเอกชน และขาดจิตสาธารณะในเรื่องของการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับทางภาคเอกชน
     และเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ หรือที่เรียกว่า “Logistics Services หรือ Logistics Service Providers” ที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในด้านการค้าของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคส่งออก หรือภาคการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งพบว่า ในปัจจุบันขีดความสามารถที่จะอาศัยธุรกิจบริการประเภทนี้เพื่อเป็นตัวเพิ่มมูลค่าของผลผลิตภายในประเทศ และเป็นกลไก สำคัญเพื่อเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายการค้าของโลกสำหรับประเทศไทย ยังอยู่ในขั้นที่เสียเปรียบประเทศคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญของไทยอย่างมาก 

ที่มา: Transport Journal 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *