ประสานงาน…ต้องไม่ประสานงา
ประสานงาน…ต้องไม่ประสานงา
เมื่อคนเก่งมาอยู่รวมกัน ท่านคิดว่างานจะต้องสำเร็จเสมอไปหรือไม่ คมคิด : ถ้าสองคนซ่อมเรือ เรือจะรั่ว แต่ทว่าเชือกสามเกลียวจะขาดง่ายก็หามิได้
“ดิฉันฟังดูรู้สึกว่าสมชายเสนอความคิดเห็นที่ดีกับบริษัทหลายๆ อย่างนะ” วรรณฤดีกล่าวชื่นชม พนักงานใหม่ที่เพิ่งรับเข้ามาทำงาน “เขาคงช่วยทีมขายได้มาก”
“แต่ในตอนประชุม ผมสังเกตว่าเขาพูดค่อนข้างมาก” ยุทธศักดิ์ให้ข้อสังเกต “พอคนอื่นพูดบ้าง เขากลับไม่ค่อยสนใจฟังเท่าไรนักนะ” วรรณฤดีเลิกคิ้วเหมือนคิดอะไรออก ด้วยตระหนักว่าบางคนเก่งคิด แต่อาจไม่เก่งคน
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอนเราในการทำงานเป็นทีมว่า เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในทีมที่ดี เราควรมีวิธีการตรวจสอบและแก้ไขพฤติกรรมต่อต้านที่เกิดขึ้นภายในทีมงานอย่างรวดเร็วและได้ผล
ผู้บริหารสมัยใหม่ที่ขีดความสามารถด้านการทำงานเป็นทีม (Teamwork) จะไม่เพียงออกแบบทีมงาน (Designing team) เป็นเท่านั้น แต่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานและบริหารกลไกของทีมงาน (Managing Team Dynamic) ได้อย่างเหมาะสมด้วย
ท่านบริหารกลไกของทีมงานผ่านการประชุมได้เหมาะสมมากน้อยเพียงใด มาสำรวจผ่านดัชนีการบริหารด้วยกัน
ดัชนีการบริหาร
ในขณะประชุม หากบางคนมีพฤติกรรมต่อต้านหรือทำป่วน ท่านรับมืออย่างไร
กรุณากาเครื่องหมายหน้าข้อที่เห็นว่าตรงกับตัวท่าน
_____ อดทนและไม่ให้ความสนใจ แล้วประชุมต่อไปจนเสร็จ
_____ พยายามตัดบท แต่ก็ยังรู้สึกรบกวนที่ประชุมอยู่ดี
_____ เรียกคนเข้าประชุมเฉพาะที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอแนะ : หากท่านได้กาเครื่องหมายข้อใดข้อหนึ่ง อาจใช้ “ทักษะปราบมือป่วน” ช่วยได้
ทักษะปราบมือป่วน (Resistant Behavior Modification)
ทักษะนี้เป็นวิธีรับมือกับผู้ที่มีพฤติกรรมต่อต้าน ไม่ให้ความร่วมมือในขณะประชุมกลุ่ม อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำทีมงานไปสู่จุดหมาย พฤติกรรมต่อต้านแต่ละอย่างสะท้อนถึงสาเหตุภายในที่ต่างกันไป ซึ่งการค้นหาสาเหตุดังโมเดลการวิเคราะห์พฤติกรรมต่อต้านและแก้ให้ตรงจุด ก็จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างได้ผล ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการพูดผูกขาดคนเดียว ซึ่งมีวิธีรับมือพฤติกรรมนี้ 3 ขั้นดังนี้
1.พูดให้ฉุกคิด เป็นการกระตุ้นให้ผู้มีพฤติกรรมต่อต้านได้ตระหนักรู้ในตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความยับยั้งชั่งใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมขึ้นได้ เช่น “ดูเหมือนสมชายพูดคนเดียวกว่า 10 นาทีแล้ว ให้สมศรีเสนอความเห็นบ้างดีมั้ยครับ” หรือ “สมชายเสนอแนะสิ่งดีๆ 10 นาทีแล้ว คงไม่รังเกียจที่จะฟังคนอื่นบ้างดีมั้ยครับ”
2.บอกความต้องการและย้ำจุดประสงค์การประชุม เป็นการที่ผู้นำประชุมบอกความรู้สึกและความต้องการของตนเองอย่างสุภาพและโยงสู่จุดประสงค์การประชุม ซึ่งจะช่วยให้ผู้มีพฤติกรรมต่อต้าน ได้คิดทบทวนตนเองและเห็นแก่ผู้นำประชุมและประเด็นการประชุมมากขึ้น เช่น “ผมได้ข้อคิดดีๆจากสมชายมาก และเพื่อการประชุมระดมสมองครั้งนี้จะได้ความคิดที่หลากหลาย ผมอยากฟังจากทุกๆ คน สมศรีมีข้อเสนออะไรบ้าง”
3.ถามความเห็นของที่ประชุม เป็นการตอกย้ำให้ผู้นั้นหยุดพฤติกรรมต่อต้านโดยใช้พลวัตของทีม (Team Dynamic) โดยการถามความเห็นของสมาชิกกลุ่มเกี่ยวกับพฤติกรรมต่อต้านที่กำลังเกิดขึ้นขณะนั้น เช่น “สมชายครับ สมชายได้พูดมากว่า 10 นาทีแล้ว อยากฟังว่าเพื่อนๆ รู้สึกอย่างไรกับสมชายมั้ยครับ” ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นต้องหยุดเพื่อสำรวจตนเองโดยรับฟัง Feedback ของเพื่อนๆ ในกลุ่ม
“ประชุมกลุ่มครั้งล่าสุด มีพฤติกรรมใดบ้างที่รบกวนใจ ท่านควรรับมืออย่างไรดี”
ที่มา : น.พ.ยุทธนา ภาระนันท์.E-mail : yparanan@hotmail.com