"ประสบการณ์บุคคล" คือองค์ความรู้ของกิจการ

“ประสบการณ์บุคคล” คือองค์ความรู้ของกิจการ

องค์กรธุรกิจไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือกิจการธุรกิจในระดับเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจมีผลประกอบการที่ดี
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : มักจะเป็นองค์กรหรือกิจการที่มีบุคคลากรที่มีคุณภาพ มีความรู้ และมีประสบการณ์เป็นตัวหลักในการผลักดันให้กิจการเกิดความสำเร็จและก้าวหน้าต่อไป
แต่ข้อที่น่าสังเกตก็คือ คุณภาพ หรือ ความรู้ ที่มีอยู่ในตัวบุคคลนั้น ต้องเป็นคุณภาพหรือความรู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจที่กำลังทำอยู่
ไม่ใช่ว่าใครต่อใครจะสามารถสรรหาคนเก่งเพื่อมาช่วยในการทำธุรกิจ แต่หากความเก่งหรือความรู้ที่มีอยู่ในตัวบุคคลนั้นเป็นความรู้ที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับธุรกิจนั้นๆ ความรู้หรือความเก่งเหล่านั้นก็จะไม่มีความหมายต่อความสำเร็จ หรือไม่สามารถสร้างความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจได้ตามที่คิดไว้
ส่วนประสบการณ์นั้น มักจะได้จากการลงมือทำจริงที่นำไปสู่การเกิดความรู้และทักษะ กลายเป็นความรู้สะสมอยู่ในตัวบุคคลแต่ละคน
ประสบการณ์ในการทำธุรกิจจึงมักจะนำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจได้มากกว่าความเก่งหรือการมีความรู้ทางด้านทฤษฎีแต่เพียงอย่างเดียว
หากกิจการใดสามารถสรรหาหรือสร้างคนที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์ขึ้นมาได้ กิจการนั้นก็จะเกิดความได้เปรียบทางธุรกิจที่โดดเด่นเหนือคู่แข่งขันที่ไม่สามารถหาบุคลากรในระดับนั้นมาเทียบเคียงได้
แต่ก็อาจจะเกิดข้อด้อยขึ้นมาได้ หากกิจการสูญเสียบุคลากรเช่นว่านั้นไป
ความได้เปรียบทั้งหลายก็อาจจะหลุดลอยออกไปจากกิจการทันทีเนื่องจากประสบการณ์และความเก่งทั้งหมดจะสูญหายไปจากกิจการพร้อมๆ กับตัวบุคคลคนนั้น
นี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้องค์กรธุรกิจจะต้องหาวิธีการใดๆ ที่จะสกัดเอาความรู้และประสบการณ์ที่มีค่าสำหรับกิจการที่อยู่ในตัวบุคลากรหรือพนักงานให้กลายมาเป็นองค์ความรู้ที่สามารถถ่ายทอดให้คงอยู่คู่กิจการตลอดไป ทำให้บุคลากรหรือพนักงานที่เข้ามารับหน้าที่ใหม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดหรือถอยหลังไปสู่จุดที่แย่ลงโดยไม่จำเป็น
การถ่ายทอดประสบการณ์หรือความรู้จากตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งไปสู่บุคคลอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยหลักของการจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management (KM) ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องมือด้านบริหารจัดการที่มีความสำคัญในยุคปัจจุบันที่จะทำให้องค์กรธุรกิจมุ่งหน้าไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
วิธีการต่างๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้กิจการเอสเอ็มอีปรับตัวสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้จากพนักงานที่มีประสบการณ์ ความสามารถในการทำธุรกิจไปยังพนักงานคนอื่นๆ หรือพนักงานใหม่เพื่อสร้างพนักงานที่มีความรู้และเก็บรักษาองค์ความรู้ที่สำคัญให้อยู่กับกิจการต่อเนื่องไป อาจทำได้โดย
1. การสร้างกลุ่มสังคมย่อยที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานขึ้นมาในองค์กร
กลุ่มย่อยเหล่านี้อาจได้แก่ทีมงานพิเศษ หรือทีมโครงการซึ่งประกอบด้วยสมาชิกมาจากพนักงานต่างหน่วยงานหรือต่างแผนกที่มีทำงานร่วมกัน หรือแม้แต่ ชมรมกีฬา ชมรมวรรณศิลป์ ชมรมหมากรุก ฯลฯ ที่จะทำให้พนักงานต่างๆ สามารถมาพบปะกันนอกเวลางาน
การสร้างความแน่นแฟ้นในระหว่างกลุ่ม จะช่วยให้เกิดความเชื่อถือศรัทธา และสร้างความจริงใจในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ได้ง่ายขึ้น และอาจเป็นรากฐานไปสู่การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Community of Practice – COP) ต่อไป
2. การกระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดวัฒนธรรมของการรู้จักสังเกต การถามและความอยากรู้ (ถึงเหตุผล) ขึ้นในบุคลากรหรือพนักงาน
การถามและความอยากรู้จะนำไปสู่การค้นพบคำตอบใหม่ๆ หรือวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ส่วนการรู้จักสังเกต หรือติดตามผลจะทำให้บุคลากรจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จริง และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นั้น ทำให้เกิดการถ่ายทอดประสบการณ์เกิดขึ้นโดยตรง
3. การสร้างระบบการสอนงานแบบพี่เลี้ยงขึ้นมาในองค์กร
การสอนงานแบบพี่เลี้ยงหรือการเป็นโค้ช เป็นวิธีการที่สามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นในการฝึกหรือให้ความรู้ประสบการณ์ในการทำงานได้ตามความสามารถรับรู้ของผู้ที่จะเข้ามารับการถ่ายทอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความสนิทสนมและความเคารพนับถือระหว่างผู้ถ่ายทอดและผู้รับทอดความรู้ ทำให้การต่อยอดความรู้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
4. การสร้างระบบการสื่อสาร สื่อความ หรือ การสนทนาประจำวันขึ้นในองค์กร
หลายกิจการที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพงาน การเพิ่มระดับคุณภาพของสินค้า หรือการลดของเสียและความสูญเสียที่ไม่จำเป็นโดย มักใช้วิธีการสนทนาหน้าแถวประจำวัน หรือ Daily Talk ซึ่งอาจนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็นให้กับพนักงานได้เป็นจำนวนมากในคราวเดียวกัน
5. การส่งเสริมและจัดหาเทคโนโลยีทันสมัยที่จะช่วยในการสื่อสารและถ่ายทอดข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพขึ้นมาใช้ในองค์กร
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารและคอมพิวเตอร์มักจะถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ได้ เช่น ระบบเสียงตามสาย ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบอินทราเน็ตและอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
กิจการเอสเอ็มอีที่มักประสบปัญหาในการทำธุรกิจเนื่องจากบุคลากรหลักได้ลาออกไปหรือถูกซื้อตัวไป จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงวิธีการต่างๆ ที่จะสามารถนำมาใช้สกัดความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวบุคคลให้สามารถถ่ายทอดต่อไปหรือเก็บรักษาไว้กับกิจการได้ต่อไปในระยะยาว

ที่มา :www.bangkokbiznews.com

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *