ประวัติ Xerox ตอน 2
|ประวัติ Xerox ตอน 2 : เปิดตัว เครื่อง 914
เปิดตัวเครื่อง 914
กลางทศวรรษ 1950 เครื่องถ่ายเอกสารแห่งจินตนาการได้ชื่อว่ารุ่น 914 เนื่องจากสามารถอัดสำเนาบนกระดาษขนาด 9*14 นิ้ว ยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกสองสามปี ซึ่งแม้ว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะเข้าสู่ตลาดเครื่องถ่ายเอกสารที่เติบโตอย่างมั่นคง แต่วิลสันก็ไม่เร่งร้อนรีบนำเอา 914 วางตลาด เพราะเขารู้ว่า สินค้าของเขาจะต้องสมบูรณ์แบบ ปี 1958 ฮัลลอย์ด คอร์ปอเรชั่นหมดเงินไปเกือบ 2 ล้านดอลลาร์ จากรายได้ 27.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้จ่ายวิจัยต่อไป ทั้งยังเปลี่ยนชื่อบริษัทอย่างเป็นทางการว่าอัลลอย์ด-ซีร็อกซ์ อิงค์
การพัฒนาผลิตภัณฑ์รุ่น 914 ด้วยความยากลำบากนี้ มีราคาเริ่มต้นที่ 29,500 ดอลลาร์ ซึ่งนับว่าแพงหูฉี่สำหรับเครื่องใช้สำนักงานเพียงเครื่องเดียว ฮัลลอย์ด-ซีร็อกซ์ตระหนักว่า ราคาชนาดนั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการขายปริมาณมาก บริษัทจึงคิดหากลยุทธ์เพื่อทำให้สินค้าชนิดนี้ประสบความสำเร็จ บริษัทเลือกจะให้เช่าเครื่องถ่ายเอกสารนี้ในระยะยาว แทนที่จะจำหน่ายออกไป บริษัทตั้งค่าเช่ารายเดือนเรียกเก็บในอัตรา 95 ดอลลาร์ แถมให้ถ่ายฟรี 2,000 แผ่น ลูกค้าจะต้องจ่ายเพิ่มแผ่นละ 4 เซนต์ ในส่วนที่เกิน 2,000 แผ่น ซึ่งจัดทำเป็นตารางสถิติไว้บนมิเตอร์วัด ติดตั้งอยู่ในทุกเครื่องเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้บริษัทยังรับประกันดูแลรักษาเครื่องรุ่น 914 ซึ่งแม้จะทั้งวิจัยและทดสอบอยู่หลายปี แต่ก็เป็นเครื่องทำงานตามอารมณ์ได้เหมือนกัน เครื่องรุ่น 914 เครื่องแรก จัดส่งสู่ตลาดเมื่อปี 1960 เพื่อลงสู่สังเวียนที่มีคู่แข่งหนาแน่น 30 บริษัทที่มีทั้ง 3M และอีสต์แมน-โกดัก ต่างพยายามเบียดเสียดแย่งชิงตำแหน่งเจ้าตลาดที่มีมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อ 914 เผยโฉมออกมา ก็เป็นเครื่องถ่ายเอกสารที่ทำงานง่ายกว่า และเร็วกว่าคู่แข่งทุกราย อีกทั้งยังสามารถใช้งานได้ง่ายดายกว่าด้วย
ถึงแม้บริษัทจะทำตลาดอย่างชาญฉลาด อาทิเช่น สาธิตการใช้งานของเครื่องในชุมทางแกรนด์ เซ็นทรัลของนิวยอร์ก แต่เครื่องรุ่นนี้ก็ประสบความสำเร็จ เรียกได้ว่าทันที่ที่ปรากฏตัวสู่ท้องตลาด รายได้ของบริษัทในปี 1959 เพิ่มเกือบสองเท่าจากจาก 31 ล้านดอลลาร์ ไปเป็น 59 ล้านดอลลาร์ในปี 1961
ในขณะที่เครื่องถ่ายเอกสารรุ่น 914 ได้รับการยอมรับกว้างขวางมาก ทว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ของซีร็อกซ์ ต่างก็ขะมักเขม้นวิจัยผลิตสินค้ารุ่นใหม่มาแทนที่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ซีร็อกซ์วางไพ่ไว้ก็คือ รุ่น 813 ซึ่งสามารถถ่ายสำเนากระดาษ 8*13 นิ้วได้ ตัวเครื่องนี้พัฒนาขึ้นโดยใช้เงินทุนถึง 20 ล้าน มีขนาดเล็กกว่า 914 แต่แพงกว่า 914 มาก ทำให้บริษัทซีร็อกซ์ต้องใช้เทคโนโลยีเดิมและวิธีเก่า ซึ่งให้ผลดีมากกว่าของเครื่อง 914 แต่ย่อขนาดชิ้นส่วนลง เพื่อให้สามารถวางเครื่อง 813 บนโต๊ะทำงานได้ และแม้จะมีการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างรุ่น 813 ออกสู่ตลาด ด้วยวิธีการให้เช่าเช่นเดียวกัน แต่เครื่องรุ่น 914 ซึ่งมีความสะดวกและนำไปใช้ได้โดยไม่สิ้นเปลืองในกระเป๋ามากนัก ก็ยังคงเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของซีร็อกซ์อยู่ดี พอถึงปี 1965 เครื่อง 914 ช่วยให้บริษัทกลายเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของประเทศ
แต่ผู้บริหารระดับสูงของซีร็อกซ์ก็ไม่ได้ประพฤติตนเหมือนผู้บริหารระดับสูงบริษัทคู่แข่งยักษ์ใหญ่อื่นๆ โดยยังคงบริหารงานเหมือนเดิมด้วยกลุ่มผู้ประกอบการนักแบกรับความเสี่ยง ผู้สร้างบริษัทมาตั้งแต่ยังไม่มีอะไรเลย โจเซฟ วิลสัน ยังกุมบังเหียนซีร็อกซ์ต่อไปจนถึงปี 1968 เขาพยายามรักษาบรรยากาศที่บริษัทดำเนินงานด้วยแนวทางที่แตกต่างจากคนอื่น พนักงานส่วนใหญ่จะเรียกเขาด้วยชื่อแรก และใช้เวลา 1 วันเต็มๆในช่วงวันหยุดเทศกาลคริสต์มาส เพื่อจะจับมือกับคนงานทุกคนของซีร็อกซ์
วิลสันหยิบยกคำพูดของโรเบิร์ต ฟอร์ส ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้ากลุ่มชนชั้นสูงของเมืองโรเชสเตอร์ในปี 1964 ซึ่งคำพูดประโยคนี้สรุปสไตล์การบริหารของเขาได้อย่างถูกต้องที่ว่า “ในป่าละเมาะแห่งหนึ่ง มีถนน 2 สายแยกออกไป และ ผม…ผมใช้ถนนสายที่คนใช้กันน้อย และนั่นก็คือจุดที่สร้างความแตกต่างทั้งหมดขึ้น”
ปรัชญาเดียวกันนี้ ได้ช่วยให้เขายืนหยัดในระหว่างพัฒนาเทคโนโลยี xerography ให้กลายเป็นสินค้าและยังนำวิลสันไปสู่การสร้างวิสัยทัศน์ที่มีต่อโลกอย่างมีเอกลักษณ์ขึ้นแบบหนึ่ง