ประวัติ เดวิด ซาร์นอฟฟ์ ,RCA ตอน 2 (จบ)
|ประวัติ เดวิด ซาร์นอฟฟ์ ,RCA ตอน 2 : การเปลี่ยนแปลงอาชีพ
การเปลี่ยนแปลงทางอาชีพ
ถึงแม้ช่วงแรกๆ เขาจะทึ่งกับเทคโนโลยีแต่ซาร์นอฟฟ์ก็ตัดสินใจจะเปลี่ยนวิถีทางอาชีพของตนมาทำธุรกิจด้านวิทยุ โรเบิร์ต แมร์ริออต เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของเขาย้อนความทรงจำเอาไว้ว่าปี 1913 ซาร์นอฟฟ์ยืนหยัดมั่นใจว่า “จุดที่ทำเงินก็คือจุดที่เงินกำลังไหลเข้ามา …ผมจะเรียกร้องให้มีการขายสัญญาและบริการที่จะดึงเงินเข้าสู่บริษัท”
นับตั้งแต่บริษัทมาร์โคนีในอเมริกาเริ่มเปิดดำเนินงานตั้งแต่ปี 1899 ก็ยังถือว่าเป็นเพียงบริษัทสาขาของอังกฤษชื่อบริษัท ไวร์เลส เทเลกราฟ แอนด์ซิกแนล จำกัด อยู่ดี การที่ต่างชาติเป็นเจ้าของนี้เองสร้างปัญหาให้แก่การบริหารงานของประธานาธิบดีวิลสัน รัฐบาลจึงพยายามโน้มน้าวใจบริษัทเจเนลรัล อิเล็กทริก หรือ GE ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ของอเมริกาให้ไปซื้อหุ้นเพื่อควบคุมกิจการอเมริกัน มาร์โคนี ซึ่งเมื่อ GE สามารถควบคุมได้แล้วในปี 1919 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เรดิโอ คอร์ปอเรชั่น ออฟ อเมริกา (RCA) และซาร์นอฟฟ์ซึ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการค้าก็ยังทำงานโดยได้รับเงินเดือนปีละ 11,000 ดอลลาร์ แต่ว่าตอนนี้ความรับผิดชอบของเขาครอบคลุมไปถึงการดูแลพนักงานหลายร้อยคน ซึ่งกระจายอยู่ในสถานีของบริษัทตามเมืองห่างไกลต่างๆเกือบ 400 แห่งทั่วโลก
ซาร์นอฟฟ์ผสมผสานศักยภาพการมองการณ์ไกล ซึ่งเกิดจากความฝันด้วยมันสมองปราดเปรื่องเล็งเห็นผลกำไร เขาร่างรายละเอียดแผนงานธุรกิจเสนอโอเวน ยัง มีเนื้อความว่า บริษัทจะสามารถจำหน่ายวิทยุ 100,000 เครื่องในปีแรก ทำรายได้รวมทั้งหมดคิดเป็น 7.5 ล้านดอลลาร์ ปีถัดไปจะจำหน่ายได้ 300,000 เครื่องเป็นเงิน 22.5 ล้านดอลลาร์และ 600,000 เครื่องในปีที่ 3 คิดเป็นเงิน 45 ล้านดอลลาร์
ภายหลัง GE อนุมัติเงินลงทุนสำหรับสร้างสินค้าต้นแบบจำนวน 2,000 ดอลลาร์แล้ว ซาร์นอฟฟ์ ก็เริ่มงานผลิตวิทยุซึ่งสามารถใช้งานได้จริง เขาคอยติดตามความเคลื่อนไหวของนักวิทยาศาสตร์และนักลงทุนผู้ซึ่งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีด้านวิทยุโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดร.อัลเฟรด โกลด์สมิธ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยซิตี้ของมหานครนิวยอร์ก และภายหลัง RCA ก็ได้จ้างเข้ามาทำงานด้วย
แต่การผลิตวิทยุสักเครื่องหนึ่งถือว่าเป็นแค่ส่วนหนึ่งของความท้าทายเท่านั้นเพราะวิทยุจะต้องทำตลาดกับประชาชน ซึ่งเมื่อตระหนักว่าบริษัทจะต้องผลิตรายการที่คนอเมริกันอยากฟังเพื่อทำตลาด นับตั้งแต่ประสบความสำเร็จในการกระจายเสียงการแข่งขันชกมวยในปี 1921 ก็พบกับความสำเร็จเรื่อยๆมา มีการขยายสถานีวิทยุเพิ่มจาก 30 แห่งเป็น 556 แห่งในปี 1923 เป็นการกำเนิดวิทยุเพื่อการค้า
ซาร์นอฟฟ์คิดว่าจะต้องมีวิธีการที่จะทำให้คนทั้งชาติได้ร่วมในประสบการณ์เหมือนๆกัน โดยต้องมีวิธีการส่งมอบแบบใหม่ขึ้นมารองรับด้วย ดังนั้นในปี 1926 คนอเมริกันจำนวน 5 ล้านคนมีวิทยุใช้ RCA ก็เชื่อมโยงเครือข่ายสถานีต่างๆ เพื่อจัดตั้งเป็นบริษัทกระจายเสียงแห่งประเทศ หรือเนชั่นแนลบรอดแคสติ้ง คัมปะนี (NBC) และเป็นครั้งแรกที่รายการซึ่งผลิตในสตูดิโอรัฐนิวยอร์กสามารถแพร่กระจายเสียงไปยังสถานีต่างๆในเท็กซัส แคลิฟอร์เนียและเมนน์ได้พร้อมๆกัน
ซาร์นอฟฟ์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองประธานบริหารในปี 1929 และเป็นตอนที่วลาดิเมียร์ สโวริกิ้น นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียสาธิตหลอดแสงไฟฟ้าถ่ายภาพ (เทคโนโลยีสแกนภาพที่เป็นพื้นฐานของโทรทัศน์รุ่นแรกๆ) ซาร์นอฟฟ์ก็จ้างเขาและจัดหาวัตถุดิบที่ใช้ในการวิจัยทั้งหมดให้ และนี่คือจุดเริ่มของการฝ่าฟันมุ่งผลักดันตลอด 20 ปี เพื่อสร้างความสำเร็จด้านวิทยุของ RCA ในรูปแบบของสื่อชนิดใหม่ด้วยเงิน 50 ล้านดอลลาร์ ในปี 1930 ซาร์นอฟ ก็ได้เลื่อนขึ้นไปเป็นประธานบริษัท RCA ด้วยอายุ 39 ปี จนกระทั่งในปี 1932 เขาก็ได้รับอิสระในการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเมื่อ GE ถูกบังคับให้ปล่อยหุ้น RCA ในความครอบครองของตนคืน ความอิสระในการดูแลธุรกิจ ทำให้ซาร์นอฟฟ์ทุ่มเทความสามารถให้แก่ธุรกิจหลักของบริษัท ซึ่งก็คือวิทยุกับการกระจายเสียงทางวิทยุและผลักดันบริษัทเข้าสู่ธุรกิจในแวดวงใหม่ๆ อย่างโทรทัศน์ได้เต็มที่
บุกเบิกวงการโทรทัศน์
ซาร์นอฟฟ์กล่าวไว้ในปี 1946 ตอนที่ RCA แนะนำเครื่องรับโทรทัศน์ราคาเครื่องละ 75 ดอลลาร์ และชาวอเมริกันต่างกระหายจะชมเหตุการณ์อย่างเวิร์ลซิตี้ การประชุมทางการเมือง คอนเสิร์ต และโปรแกรมรายการอื่นๆ ที่พวกเขาได้ยินมาเป็นสิบๆ ปี
RCA พร้อมจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความบูมของโทรทัศน์โดยจัดทำรายการออกอากาศด้วย ในปี 1953 เครือข่ายโทรทัศน์ของ NBC ก็เริ่มออกอากาศซึ่งการทำโปรแกรมลงบนฟิล์มของ NBC ตอนแรกนั้นตั้งใจผลิตเพื่อออกอากาศทางวิทยุจากนั้นก็ส่งผ่านสายเคเบิลแกนร่วมเดียวกันไปยังสถานีลูกข่าย 238 แห่ง ซึ่งผุดขึ้นมากระจายอยู่ทั่วประเทศ แล้วในปี 1954 RCA ก็นำโทรทัศน์สีออกวางตลาดเป็นครั้งแรก
จนกระทั่งในปี 1955 ยอดขายโทรทัศน์ขาวดำตกต่ำจากที่เคยขายได้ 7.4 ล้านเครื่องเหลือเพียง 5.1 ล้านเครื่อง ในปี 1958 ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้โทรทัศน์สีกันอย่างช้าๆ ในปี 1960 วอลท์ ดิสนีย์ เปลี่ยนรายการ “โลกมหัศจรรย์ของดิสนีย์” มาออกอากาศกับเครือข่ายของ NBC ซึ่งแพร่ภาพด้วยภาพสีแทน ปีถัดมาโทรทัศน์สีก็เติบโตมีมูลค่าถึง 100 ล้านดอลลาร์ RCA สามารถครอบครองส่วนแบ่งตลาดได้เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ และกลายเป็นบริษัทใหญ่สุดของประเทศอันดับที่ 26 ด้วยยอดขาย 1.54 พันล้านดอลลาร์
ด้วยความมุ่งมั่นจะให้การบริหารบริษัทอยู่ในมือของครอบครัว ซาร์นอฟฟ์จึงผลักดันให้โรเบิร์ตผู้เป็นลูกชายให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานของ NBC สืบต่อมา