ประมวลกฎหมายที่ดิน – หมวด 6 การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

ประมวลกฎหมายที่ดิน – หมวด 6 การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

มาตรา 71 ให้เจ้าพนักงานที่ดิน เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียน สิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในเขตท้องที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินสาขานั้น
ในกรณีที่สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินสาขาได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสารมาใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดิน เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ในเขตท้องที่สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินสาขาอื่นได้ด้วย เว้นแต่การจดทะเบียนที่ต้องมีการประกาศหรือต้องมีการรังวัด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
หมายเหตุมาตรา 71 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมป.ที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2528

มาตรา 71 วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมป.ที่ดิน (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2550

มาตรา 72 ผู้ใดประสงค์จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้คู่กรณีนำ หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 71
การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง สำหรับที่ดิน ที่มีโฉนดที่ดินใบไต่สวนหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ คู่กรณี อาจยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมที่ดินหรือสำนักงานที่ดิน แห่งใดแห่งหนึ่ง เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 71 ดำเนินการ จดทะเบียนให้ เว้นแต่การจดทะเบียนที่ต้องมีการประกาศหรือต้อง มีการรังวัด
หมายเหตุมาตรา 72 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมป.ที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2528

มาตรา 73 เมื่อปรากฎต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่านิติกรรมที่คู่กรณี นำมาขอจดทะเบียนนั้นเป็นโมฆกรรม พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องจด ทะเบียนให้
หากนิติกรรมที่คู่กรณีนำมาขอจดทะเบียนนั้นปรากฏว่าเป็น โมฆียกรรม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนในเมื่อคู่กรณีฝ่าย ที่อาจเสียหายยืนยันให้จด

มาตรา 74 ในการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 71 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ สอบสวนคู่กรณี และเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็นแล้วให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ดำเนินการไปตามควรแก่กรณี
ถ้ามีกรณีเป็นที่ควรเชื่อได้ว่า การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้น จะเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย หรือเป็นที่ควรเชื่อได้ว่าบุคคลใด จะซื้อที่ดินเพื่อประโยชน์แก่คนต่างด้าวให้ขอคำสั่งต่อรัฐมนตรี คำสั่ง รัฐมนตรีเป็นที่สุด

มาตรา 75 การดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับ ที่ดินที่มีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ให้เจ้าพนักงาน ที่ดินบันทึกข้อตกลงหรือทำสัญญาเกี่ยวกับการนั้น แล้วแต่กรณี แล้ว ให้จดบันทึกสาระสำคัญลงในโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำ ประโยชน์ฉบับสำนักงานที่ดินและฉบับเจ้าของที่ดินให้ตรงกันด้วย
หมายเหตุมาตรา 75 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมป.ที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2528

มาตรา 76 ในกรณีการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวนและรังวัดหมายเขต ไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ออกโฉนดที่ดินให้ไปขอจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามความใน มาตรา 71
การจดทะเบียนดั่งกล่าวในวรรคก่อน ให้จดแจ้งในใบไต่สวน อนุโลมตามวิธีการ ว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับ ที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน

มาตรา 77 การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินหรือ อสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้เป็น อย่างอื่น ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 78 การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดิน ซึ่งได้ มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือโดย ประการอื่นนอกจากนิติกรรมสำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดินแล้ว ให้ปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 79 ผู้มีสิทธิในที่ดินประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินออกเป็นหลาย แปลงหรือรวมที่ดินหลายแปลงเข้าเป็นแปลงเดียวกัน ให้ยื่นคำขอ พร้อมด้วยหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 71
เพื่อประโยชน์แห่ง มาตรานี้ ให้นำ มาตรา 69ทวิ มาใช้บังคับ โดยอนุโลมด้วย และถ้าจะต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ก็ให้ จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเสียก่อน แล้วจึงออกหนังสือแสดงสิทธิ ในที่ดินฉบับใหม่ให้
หมายเหตุมาตรา 79 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ (ฉบับที่ 334) ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515

มาตรา 80 ในกรณีไถ่ถอนจากจำนอง หรือไถ่ถอนจากการขาย ฝากซึ่งที่ดินมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้ว เมื่อผู้รับจำนองหรือผู้รับ ซื้อฝากได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือว่าได้มีการไถ่ถอนแล้ว ให้ผู้มีสิทธิ ในที่ดินหรือผู้มีสิทธิ ไถ่ถอนนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาขอจด ทะเบียนการไถ่ถอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจเป็นการถูกต้อง ก็ให้จดทะเบียนใน หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้ปรากฏการไถ่ถอนนั้น
หมายเหตุมาตรา 80 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ (ฉบับที่ 334) ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515

มาตรา 81 การขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ มาโดยทางมรดกให้ผู้ได้รับมรดกนำหลักฐานสำหรับที่ดิน หรือหนังสือ แสดงสิทธิในที่ดินพร้อมด้วยหลักฐานในการได้รับมรดก มายื่นคำขอ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 71 ถ้าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินอยู่ กับบุคคลอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกหนังสือแสดงสิทธิใน ที่ดินดังกล่าวนั้นได้
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐาน และเชื่อได้ว่าผู้ขอ เป็นทายาทแล้ว ให้ประกาศโดยทำเป็นหนังสือปิดไว้ในที่เปิดเผยมี กำหนดสามสิบวัน ณ สำนักงานที่ดิน เขตหรือที่ว่าการอำเภอหรือ กิ่งอำเภอท้องที่ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการแขวงหรือที่ทำการกำนันท้องที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่และบริเวณที่ดิน นั้นแห่งละหนึ่งฉบับ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือส่งประกาศ ดังกล่าว ให้บุคคลที่ผู้ขอแจ้งว่าเป็นทายาททุกคนทราบเท่าที่สามารถ จะทำได้หากไม่มีทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกโต้แย้งภายในกำหนดเวลา ที่ประกาศและมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ขอมีสิทธิได้รับมรดกแล้ว ให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนให้ตามที่ผู้ขอแสดงหลักฐานมี สิทธิตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวง
ในกรณีที่ทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกโต้แย้ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจสอบสวนคู่กรณีและเรียกบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ หรือสั่งให้ส่ง เอกสารที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็น และให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบ เทียบถ้าเปรียบเทียบไม่ตกลง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งการไปตามที่เห็น สมควร
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งประการใดแล้ว ให้แจ้งให้คู่กรณีทราบ และ ให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปดำเนินการฟ้องต่อศาล ภายในกำหนดหกสิบวันนับ แต่วันที่ได้รับแจ้ง หากผู้นั้นมิได้ฟ้องต่อศาลและนำหนักฐานมายื่นฟ้อง พร้อมสำเนาคำฟ้องเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับมรดกมาแสดงต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ให้ดำเนินการไปตามที่พนักงาน เจ้าหน้าที่สั่ง
ในกรณีที่ทายาทได้ยื่นฟ้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามความใน วรรคสี่หรือทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกได้ฟ้องคดีเกี่ยวกับสิทธิในการ ได้รับมรดกต่อศาลก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนสิทธิและ นิติกรรมการได้มาโดยทางมรดก เมื่อผู้นั้นนำหลักฐานการยื่นฟ้องสำเนา คำฟ้องแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ระงับการจด ทะเบียนไว้ เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดประการใด ก็ให้ดำเนินการไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
หมายเหตุมาตรา 81 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมป.ที่ดิน (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2543

มาตรา 82 ผู้ใดประสงค์จะขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกใน หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ให้ยื่นคำขอพร้อมด้วยนำหนังสือแสดงสิทธิ ในที่ดินนั้น และหลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดกมาแสดงต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 71 ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนให้ตามคำขอ แต่ถ้าเป็น ผู้จัดการมรดกในกรณีอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนและตรวจ สอบหลักฐาน และให้นำความใน มาตรา 81 วรรคสอง มาใช้บังคับ โดยอนุโลม เมื่อไม่มีผู้โต้แย้ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนลง ชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้นได้ แต่ถ้ามีผู้โต้แย้ง ก็ให้รอเรื่องไว้และให้คู่กรณีไปฟ้องร้องต่อศาลเมื่อศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งถึงที่สุดประการใดแล้ว ให้ดำเนินการไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งศาลนั้น
ในกรณีที่ผู้จัดการมรดกซึ่งได้มีชื่อในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้ว ขอจดทะเบียนสิทธิในที่ดินให้แก่ทายาท ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนิน การจดทะเบียนให้ตามคำขอโดยไม่ต้องประกาศตาม มาตรา 81
ในกรณีที่ทรัสตรีของทรัสต์ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ไว้แล้ว ขอจดทะเบียนในฐานะเป็นทรัสตี เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สอบสวนพยานหลักฐานแล้วให้ดำเนินการจดทะเบียนได้
หมายเหตุมาตรา 82 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ (ฉบับที่ 334) ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515

มาตรา 83 ผู้ใดมีส่วนได้เสียในที่ดินใด อันอาจจะฟ้องบังคับให้มี การจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ มีความ ประสงค์จะขออายัดที่ดิน ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 71
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเอกสารหลักฐานที่ผู้ขอได้นำมาแสดง แล้ว ถ้าเห็นสมควรเชื่อถือก็ให้รับอายัดไว้มีกำหนดสามสิบวัน นับแต่ วันที่สั่งรับอายัด เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าการอายัด สิ้นสุดลงและผู้นั้นจะขออายัดซ้ำในกรณีเดียวกันไม่ได้
ถ้าผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านว่าการอายัดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ สอบสวนพยานหลักฐานเท่าที่จำเป็น เมื่อเป็นที่เชื่อได้ว่าได้รับอายัดไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้พนักงาน เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งยกเลิกการอายัดนั้น และแจ้งให้ผู้ขออายัดทราบ
หมายเหตุมาตรา 83 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมป.ที่ดิน (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2543

ที่มา : http://www.kodmhai.com/m2/m2-1/m1-71-83.html

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *