ปฏิญญาสร้างสุข

ปฏิญญาสร้างสุข
• คุณภาพชีวิต
• เรื่องเด่น
เสริมความรัก พลังใจในการทำความดี

การทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน เป็นสิ่งที่สามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ งานอีสานสร้างสุข “ตุ้มโฮมภูมิปัญญา สร้างเสริมสุขภาวะ” จัดเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 20 – 22 มีนาคม 2552 ณ ทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี และบ้านโฮมฮัก มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ จ.ยโสธร

การเดินทางวันละ 2 รอบโดยสามล้อถีบ 50 คันของผู้ที่อาชีพรับจ้างถีบสามล้อผู้ยากจน บรรทุกผู้ที่สนใจธรรมและต้องการไปไหว้พระ 9 วัด เป็นกิจกรรมด้านสุขภาวะจิตใจและปัญญา ที่สร้างความสงบสุขและความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และข้อคิดทางธรรม

การตักบาตรพระ 99 รูปที่บริเวณศาลหลักเมือง เป็นการทำบุญร่วมกัน การเจริญสมาธิวิปัสนาทุกค่ำคืนเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจแก่ผู้เข้าร่วมงานอีสานสร้างสุขมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนอีสาน ทั้งวีดีทัศน์สุข ทุกข์คนอีสาน ศิลปการแสดงฮุ่งตาเว็น โดยเชื่อมโยงให้เห็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนอีสาน จ.อุบลฯ ผีตาโขน โดยเด็กๆ ที่น่ารัก จ.เลย มวยโบราณ จ.สกลนคร และการแสดงพิธีเข้าทรงรักษาโรคภัยไข้เจ็บ จ.สุรินทร์

การทำผ้าป่าสุขภาวะเด็กและเยาวชนที่บ้านโฮมฮัก ที่แม่ติ๋วหรือคุณสุธาสินี น้อยอินทร์ผู้หญิงที่มีอุดมคติอันงดงาม แม้ตนเองจะเป็นมะเร็งลำไส้ขั้นสุดท้าย แต่ยังโอบกอดด้วยความรักดูแลเด็กและเยาวชนติดเชื้อเอดส์และถูกทารุณกรรม 114 คนมีผู้ร่วมทำบุญได้ 60,000 กว่าบาท บวกกับข้าวปลอดสารพิษ ขนม เสื้อผ้าชุดลูกเสือ เนตรนารี อุปกรณ์การเรียนต่างๆ และเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวไว้เป็นอาหาร รวมยอดทำบุญคงได้ราวๆ 100,000บาท แม้ไม่มากนักในคัวเงินแต่ได้ก่อให้เกิดความสุขใจ

ความรักความอบอุ่นและพลังใจในการทำความดี ด้วยยังมีผู้คนในสังคมอีกมากที่รับรู้และเห็นสิ่งดีๆ ที่แม่ติ๋วและแม่ทุกคนดูแลเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสมากๆ ถ้าคนที่พอมีกำลังจะระลึกได้และช่วยเป็นกองหนุนและทำความดีได้อย่างยั่งยืนจะเป็นเรื่องดีมากๆ

การวิ่ง เดิน ขี่จักรยาน 4 มุมเมืองเพื่อร่วมรณรงค์สร้างเสริมสุขภาวะ ทำให้คนทั่วเมืองอุบลฯ รับรู้และมีส่วนร่วมกับงานอีสานสร้างสุข ด้วยอยู่ในบริเวณสถานพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของคนเมืองอุบลฯ มีอาหารปลอดแอลกอฮอล์และบุหรี่ขายทุกวันโดยชมรมอาหารปลอดภัย ซึ่งน่าจะขยายผลไปทุกจังหวัดได้

การเสวนาโดยปราชญ์/ภูมิปัญญาชาวบ้าน 5 ท่าน ทั้งคนที่เป็นผู้นำที่ฐานะพอกินพอใช้และผู้นำที่มีเงินร้อยล้านก็เปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองมาสู่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการนำพาชาวบ้านต่อสู่กับลัทธิบริโภคนิยมที่เห็นเงินและวัตถุเป็นใหญ่

การนำเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์สุขภาวะด้วยการกล่าวปฏิญญาทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี อันหมายถึงการประกาศเจตนารมณ์ที่ต้องให้มีให้เป็นสิ่งดีๆ ด้านสุขภาวะในสังคมไทย ดังนี้

1. ควรถวายภัตตาหารที่ดีต่อสุขภาพแก่พระสงฆ์ ทั้งนำสมุนไพร น้ำผลไม้ น้ำผักปลอดสารพิษ ไม่ควรถวายบุหรี่ เครื่องดื่มชูกำลัง อาหารที่มีไขมันและขอบกินที่ไม่เป็นประโยชน์เพราะพระสงฆ์มีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บจากการทำบุญด้วยทัศนคติผิดๆ

2. ควรกำหนดนโยบายและขยายผลนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ อันหมายถึงสิ่งดีที่มีในอดีตมาฟื้นฟูให้เกิดการปฏิบัติและสิ่งใหม่ๆที่ดีมาขยายผล โดยกำหนดนโยบายในระดับตำบลของ อบต. เทศบาล อบจ. และหน่วยงานราชการในจังหวัดทุกจังหวัด ในเรื่องพืชผัก กะหล่ำปลีปลอดสารพิษ นโยบายชุมชนปลอดเหล้าในงานบุญประเพณีต่างๆ นโยบายการมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยให้ชุมชนตัดสินใจในโครงการพัฒนาทุกโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

3. สื่อเพื่อเด็กที่สร้างสรรค์ เด็กมีส่วนร่วมในการผลิต เป็นรายการที่ให้ความรู้ความคิดสร้างสรรค์ไม่มอบเมาและทำให้เด็กหลงติดเกมส์ ติดเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด อยู่ในบรรยากาศการทะเลาะวิวาทตีกัน

อีสานสร้างสุขขึ้นได้ ไม่เพียงการศึกษาวิจัย การเชื่อมร้อยเครือข่ายคน/องค์กรที่ทำงานสร้างเสริมสุขภาพ การค้นหานวัตกรรมสุขภาพที่ดีๆ ทั่วทั้งแผ่นดินอีสานที่มีการปฏิบัติจริงการมีปราชญ์ชาวบ้านของแท้ที่ทำงานเพื่อเด็ก เยาวชน ผู้หญิง คนสูงอายุและทุกๆ คน ความห่วงใยในพระสงฆ์ที่รับของถวายที่ไม่ปลอดภัยโดยขาดความตระหนักต่อสุขภาพ

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องทำจริงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายที่เครือข่ายด้านสุขภาพต้องทำกันเองมากขึ้น สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานด้านสุขภาพต้องสนับสนุนให้ถูกทางมากขึ้น ในด้านนโยบายทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นจนถึงรัฐบาลต้องหันมาทุ่มเทงบประมาณ กลไก แผนและโครงการที่ถูกต้องมากขึ้น และนี่คือ ตุ้มโฮมภูมิปัญญา สร้างเสริมสุขภาวะที่แท้จริง

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *