บุญฤทธิ์ มหามนตรี ขับเคลื่อนธุรกิจ ด้วยองค์กรคนดี

บุญฤทธิ์ มหามนตรี ขับเคลื่อนธุรกิจ ด้วยองค์กรคนดี
ความผันผวนที่เกิดขึ้นครั้งแล้ว ครั้งเล่า ทำให้กระแสเรียกหา “จริยธรรม” ของธุรกิจมีมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในองค์กรธุรกิจ ที่ใครต่อใครต่างมอง “กำไร” เป็นโจทย์ตั้ง เช่นเดียวกับที่ “ไลอ้อน” ซึ่ง บุญฤทธิ์ มหามนตรี บอกว่า เขาต้องการสร้าง “องค์กรคนดี”

เพราะคนดีจะสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจได้

ด้วยเชื่อมั่นมาตลอดว่า “คนดี” เป็นรากฐานขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่ต้องการจะเติบใหญ่อย่างมั่นคง ต้องมี “ความดี” เป็นรากฐาน และมี “เก่ง” เป็นยอด

องค์กรใดก็ตามที่มีแต่ความเก่งเพียงอย่างเดียว แม้จะพัฒนาอย่างรวดเร็ว เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในไม่ช้าไม่นานก็จะล่มสลาย หลายสิ่งหลายอย่างที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมก็พลอยล่มสลายไปด้วยเพราะไม่มีความดีคอยช่วยพยุงไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

บวกกับความต้องการส่วนตัวที่อยากเห็น บริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) ยืนหยัดอยู่ในแวดวงธุรกิจอย่างมั่นคง แข็งแกร่ง มีอายุยาวนานเป็น 100 ทศวรรษ

ทำให้ บุญฤทธิ์ มหามนตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) เลือกที่จะใส่ “ความดี” เข้าไปในคน และยุทธวิธีในการทำธุรกิจ

“ผมอยู่กับไลอ้อนมาตั้งแต่วันแรกของทศวรรษที่ 1 ฉะนั้นถ้าผมต้องออกจากที่แห่งนี้ไป ผมก็อยากเห็นไลอ้อนมีอายุร้อยปี พันปี ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ รากฐานสำคัญที่สร้างความมั่นคงและยั่งยืนได้คือ ความดี”

นี่เองจึงเป็นที่มาของโครงการองค์กรคนดีในบริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย)

บุญฤทธิ์ อธิบายถึงแก่นคิดของ “องค์กรคนดี” ในแบบของไลอ้อนว่า

ต้องมีศรัทธาในคุณธรรมและจริยธรรม คิดดี พูดดี ทำดี รู้รักสามัคคี รับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต และปรารถนาดีกับผู้อื่น

ฟังดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ย้อนไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นโครงการองค์กรคนดีในบริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) การรับรู้เรื่องของการทำความดีก็ไม่ต่างไปจากที่คนทั่วไปนึกถึง

“เราจะไปทำบุญวัดไหน หรือบริจาคที่ไหนดี”

แต่สิ่งเหล่านี้ บุญฤทธิ์ บอกว่าไม่ใช่แก่นของการขับเคลื่อนองค์กรที่ยังต้องมีหน้าที่การงาน มีค้าขาย มีแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทำความดี ด้วยการทำบุญ ทำทาน เป็นเพียงแค่ 2 วิธีในหลายร้อยหลายพันวิธีของการทำความดี

“แค่เราหน้าไม่บึ้ง ก็ทำให้คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงานมีความสุข เท่ากับให้เขาพ้นทุกข์ หรือที่ดังคำสอนของพุทธเจ้าที่ว่า “กรุณา” ถ้าเขาทำดีอยู่แล้วและส่งให้เขาดียิ่งขึ้น หรือเราชื่นชม ยกย่องเขา ก็เท่ากับเป็นการ “อนุโมทนา” บุญฤทธิ์ กล่าว

และสำหรับบริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) โครงการองค์กรคนดีได้เกิดขึ้นขนานกันไปหลากหลายรูปแบบ ภายใต้แนวคิด “ความดีไม่ใช่เรื่องบังคับ แต่ถ้านึกไม่ออกก็มีต้นแบบแนะนำให้”

เริ่มตั้งแต่จัดทำคู่มือทำความดี 365 วัน เพื่อแจกฟรีให้พนักงาน โดยในคู่มือดังกล่าวจะมีช่องว่างให้เขียนว่า วันนี้เราได้ทำอะไรบ้าง เป็นบันทึกการทำความดีในทุกๆ วัน

สิ่งที่บุญฤทธิ์ย้ำ คือ การได้นึกทบทวนว่าในแต่ละวันที่ผ่านไป เราทำดีอะไรบ้าง เท่ากับเป็นชำระล้างจิตใจ ทำให้จิตใจดี และหากจะเปรียบเหล่านี้เป็นการทำความดี ก็ไม่แพ้การบริจาคเงินเป็นหมื่นเป็นแสนบาท เพื่อทำบุญ ทำทาน

ปฏิบัติการองค์กรคนดียังเดินหน้าด้วยความพยายามช่วยเหลือกับเพื่อนพนักงานในด้านต่างๆ ตัวอย่างหนึ่งในนั้นคือ กองทุนช่วยเหลือเพื่อนพนักงาน ที่เกิดจากการประมูลขายของมือสอง รวมถึงของที่ยังไม่ได้ใช้ ในชื่อ ตลาดนัดพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นครั้งๆ ไป ตามความจำเป็น

เช่น เพื่อระดมเงินไปช่วยเหลือลูกของพนักงานที่ป่วยเป็นมะเร็งด้วยวัยเพียง 2 ปีเศษ

การประมูลขายของครั้งนั้นทำให้กองทุนได้เงินมากกว่าแสนบาท สิ่งนี้เป็นความสุขที่พนักงานไลอ้อนทุกคนได้ทำร่วมกัน และผลตอบแทนความดีที่ได้รับกลับคืนมา คือ อาการที่ดีขึ้นของลูกพนักงาน จากช่วงแรกที่หมอบอกว่า “โอกาสรอดยาก”

พร้อมกันนี้ที่ไลอ้อนยังมีโครงการพาพนักงานไปพบปะ พูดคุยกับผู้ป่วยโรคมะเร็งขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้พนักงานเข้าใจ และเรียนรู้ถึง “ความดี” อย่างแท้จริง

โดยได้ต้นแบบมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ป่วยที่ใกล้จะเสียชีวิตชาวไต้หวันว่า หากย้อนกลับไปได้จะทำอะไร ทุกคนล้วนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่ปรารถนาอย่างยิ่งคือ ครอบครัวดี มิตรดี สิ่งแวดล้อมดี

“คนเรามักมองข้ามเรื่องใกล้ตัว เพื่อนที่เรามีอยู่ก็อาจไม่ได้ดูแลความรู้สึก เห็นเพื่อนเป็นศัตรู มุ่งแต่เอาชนะ เอาเปรียบ กว่าจะคิดได้ก็ยากที่จะแก้ไข ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนแปลง และปรับเปลี่ยนก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น”

ทั้งหมดนี้ บุญฤทธิ์บอกว่าก็เพื่อให้เข้าใจแก่นของ “องค์กรคนดี” อย่างแท้จริง และส่งผลดีต่อองค์กรอย่างเห็นได้ชัด

เช่น ที่ผ่านมาผลสำรวจภายในองค์กรไลอ้อนพบว่า ทุกปีพนักงานจะมีความสุขเพิ่มขึ้น และมีความเครียดลดลง จับต้องได้จากระยะเวลาในการประชุม

“เดิมต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ทะเลาะกันไม่จบ แต่เดี๋ยวนี้ชั่วโมงเศษก็จบแล้ว เลิกทะเลาะกันแล้ว”

ผลจากการที่พนักงานมีความสุข ทำให้ผลประกอบการ 5 ปีย้อนหลังเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 2 หลัก ขณะที่ผลกำไรก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ด้วยหลักของ ผลงานที่ดีที่สุดเกิดจากคนดี เพราะเขาทำด้วยใจ และมุ่งดี

ไม่เพียงแต่ภายในองค์กรไลอ้อนเท่านั้น โครงการความดียังส่งผ่านไปยังแคมเปญการตลาดในชื่อ “กิจกรรมความดี” แทนการทำโปรโมชั่นด้วยของแถม ส่วนลด เช่นที่ผ่านมา ซึ่งผลที่ได้ร้านค้าพันธมิตร ก็ให้การสนับสนุน ขณะที่ยอดขายก็ไม่น้อยกว่าวิธีทำการตลาดรูปแบบเดิมๆ

อีกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและบุญฤทธิ์เชื่อว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น คือความดีได้เชื่อมโยงเข้าไปสู่การทำงานร่วมกับพันธมิตรและคู่ค้า

เช่นที่เกิดขึ้นกับบริษัทจัดจำหน่ายและบริษัทผู้จัดส่งสินค้าให้กับไลอ้อน

บุญฤทธิ์บอกว่าแม้วันนี้พนักงานไลอ้อนส่วนใหญ่จะเข้าใจแนวคิดองค์กรคนดี แต่เพื่อเป็นสานต่อ “องค์กรคนดี” ให้เดินหน้าไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ยังจำเป็นต้องสร้างแกนนำความดีเพิ่มด้วยการเปิดรับพนักงานอาสาสมัคร ทำหน้าที่เป็นต้นแบบความดีและแนะแนวให้เพื่อนพนักงาน

ความดีเป็นสิ่งสากล ช่วยให้กิจการต่างๆ สังคม ประสบความสำเร็จลุล่วงงดงาม จึงจำเป็นอยู่ดีที่ ทุกคนย่อมต้องอยากพบเจอคนดี ธุรกิจการค้าก็ขับเคลื่อนด้วยความดีได้

*** บุญฤทธิ์ มหามนตรี แห่ง บริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) มีวิธีสร้าง องค์กรคนดีเพื่อยุทธวิธีธุรกิจ ได้อย่างไร ชมรายการกรุงเทพธุรกิจ 360 องศา ตอน…สะกิดต่อมคิดซีอีโอ ทางเนชั่นแชนแนล วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 18.30-19.00 น.

ที่มา : นันชนก มีสุวรรณ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *