บรรจุภัณฑ์กับโลจิสติกส์

บรรจุภัณฑ์กับโลจิสติกส์

 

เมื่อกล่าวถึงบรรจุภัณฑ์เรามักนึกถึงสาระสำคัญด้านการตลาดที่ส่งผลต่อผู้บริโภคสินค้าคนสุดท้าย เช่น การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ลูกค้า การจูงใจให้ผู้บริโภคสนใจในผลิตภัณฑ์ การทำให้ผู้บริโภคใช้สอยได้สะดวก และอื่นๆ อีกมาก นักธุรกิจมักให้ความสนใจกับบรรจุภัณฑ์ในด้านนี้ค่อนข้างมาก และหลายแห่งแทบจะลืมเลือนหรือไม่ใส่ใจกับภาระหน้าที่ที่สำคัญของบรรจุภัณฑ์อีกด้านหนึ่งไป ซึ่งหน้าที่สำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกันนั้นก็คือหน้าที่ด้านโลจิสติกส์
            หน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ด้านโลจิสติกส์นี้ จะคำนึงถึงผู้บริโภคคนสุดท้ายน้อยมาก แต่จะเน้นด้านความสะดวกต่อการทำงานและต้นทุน จะสังเกตเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ทำได้บ่อยๆ โดยไม่กระทบถึงลูกค้า สามารถปรับเปลี่ยนวัสดุ ลดขนาด เพิ่มขนาด ได้ทันที เพราะบรรจุภัณฑ์แบบนี้ส่วนมากลูกค้าไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสินค้า
            ตัวอย่างเช่น กล่องบรรจุกระป๋องน้ำอัดลมขนาด 24 กระป๋อง เดิมเราเคยเห็นใช้กล่องกระดาษลูกฟูกสีน้ำตาลเต็มใบ มีตราสินค้า สกรีนสีเดียว ให้ทราบว่าเป็นยี่ห้อใด โรงงานผู้ผลิตก็สามารถปรับเปลี่ยนเหลือเพียงใช้กล่องกระดาษลูกฟูกสีน้ำตาลครึ่งใบ หรือไม่ก็เพียง 1 ใน 4 แต่เพิ่มพลาสติกใสหนาพอประมาณหุ้มไว้แทน โดยไม่ต้องสกรีนตราสินค้า เพราะกระป๋องน้ำอัดลมได้แยกประเภทไว้แล้ว ส่งผลให้โรงงานผู้ผลิตสามารถประหยัดต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์นี้ได้มากขึ้น และที่สำคัญสามารถใช้กับน้ำอัดลมได้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น น้ำดำ น้ำแดง น้ำเขียว หรือน้ำส้ม ทำให้ลดชนิดของบรรจุภัณฑ์ลงได้มากขึ้น หรือถ้าจำวิวัฒนาการของลังน้ำอัดลมแบบขวดจากลังไม้ เป็นลังพลาสติก ลูกค้าก็ไม่ใส่ใจเท่าใดนัก แต่พนักงานทำงานได้ง่ายกว่าเดิม และอุบัติเหตุการซ้อนลังแล้วลื่นร่วงหล่นก็ลดลง เพราะออกแบบให้มีการล๊อคระหว่างลังและขวด และถ้ามองให้ลึกลงไปอีกจะพบว่าลูกค้าก็ไม่สนใจเลยหากนำขวดน้ำแดงใส่ในลังของน้ำดำ 
            อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ก็คือ กล่องใส่เบียร์จะมีไส้กล่องที่ใช้คั่นระหว่างขวดเพื่อไม่ให้ขวดกระทบกันแตกระหว่างการเคลื่อนย้าย เดิมใช้กระดาษลูกฟูก 3 ชั้น ใช้ทำไส้กล่อง ต่อมาโรงงานก็ใช้กระดาษลูกฟูกที่ผลิตแล้วมีตำหนิ ไม่ตรงสเป็ค หรือเป็นของเสีย แทนที่จะย่อยแล้วนำไปเข้ากระบวนการผลิตกระดาษใหม่ หรือไม่ก็ขายเป็นเศษกระดาษ ก็นำมาทำไส้กล่องที่ให้ราคาดีกว่าย่อยทิ้งหรือชั่งกิโลขาย ต่อมาก็เปลี่ยนวัสดุจากการดาษกล่องลูกฟูก 3 ชั้น เป็นกระดาษแข็งความหนาพอๆ กับปกรายงาน แต่คุณภาพกระดาษต่ำกว่ามาก ซึ่งเราจะพบว่าลูกค้าไม่เคยใส่ใจเรื่องเหล่านี้เลย บางคนไม่เคยเห็นหรือไม่เคยทราบด้วยซ้ำภายในลังเบียร์มีอะไรบ้าง เพราะไม่เคยซื้อยกลัง
            จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวลูกค้าหรือผู้บริโภคคนสุดท้ายนั้นไม่ได้ให้ความสนใจ และไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญ ทำให้ผู้ผลิตสามารถดำเนินการเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่มีหน้าที่ของโลจิสติกส์ได้อย่างเต็มที่ หน้าที่ด้านโลจิสติกส์ของบรรจุภัณฑ์ ประกอบด้วย การใช้เป็นภาชนะบรรจุสินค้า การใช้ป้องกันสินค้า การใช้แบ่งสินค้า การใช้รวบรวมสินค้า การใช้เพิ่มความสะดวกในงานโลจิสติกส์ และการใช้ประโยชน์ในการติดต่อสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวมีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน การเอาใจใส่หน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ด้านนี้ต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบที่ดี ส่งผลให้การทำงานเกิดความสะดวกและและประหยัดต้นทุนอย่างคาดไม่ถึง
            ตัวอย่างเช่น ถ้าบรรจุภัณฑ์ขนาด 70×70 ซม. จะวางอยู่บนม้ารองของ (Pallet) ขนาด 100×120 ซม. หรือ 110×110 ซม. อย่างไร? ผลลัพธ์ก็คือวางได้ไม่เต็ม pallet หรือไม่ก็ล้น pallet (ผมขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษดีกว่าแปลเป็นไทยแล้วรู้สึกแปลกๆ ครับ) ซึ่งจะส่งผลต่อความยุ่งยากอื่นตามมา ไม่ว่าจะเป็น การเคลื่อนย้าย การตรวจนับสินค้า การนำเข้าเก็บในชั้นวางสินค้า การวางทับซ้อน ล้วนต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษอย่างยิ่ง ซึ่งแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับการวางสินค้าเต็ม pallet
            ดังนั้นบรรจุภัณฑ์ที่ให้ประโยชน์ด้านโลจิสติกส์นี้ นอกจากคำนึงถึงตัวสินค้าแล้วจะต้องคำนึงถึงมาตรฐานต่างๆ อีกด้วย เช่น ขนาดของ pallet ขนาดของชั้นวางสินค้า ขนาดของรถบรรทุก ขนาดของตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น นอกจากมาตรฐานแล้วยังมีเรื่องของความสะดวกในการทำงานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การสั่งซื้อ การสั่งเบียร์เป็นลังของร้านค้าสะดวกกว่าสั่งซื้อเป็นขวด การนับสินค้าเต็ม pallet ง่ายกว่าการนับสินค้าทีละหน่วย
            นอกจากนี้การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดีจะต้องพิจารณาถึงการใช้วัสดุที่เบา เพราะจะทำให้ประหยัดค่าขนส่ง เช่นการใช้พลาสติกแทนไม้ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดีจะช่วยให้บรรทุกสินค้าได้มาก ทำให้เกิดการบรรทุกสินค้าเต็มคันรถ เกิดความสะดวกในการยกขน ความสะดวกในการรองรับสินค้า บรรจุภัณฑ์ที่ดีจะช่วยลดของหายและเสียหาย เช่น การใช้พลาสติกใส ส่งผลให้สามารถมองเห็นสินค้าภายในบรรจุภัณฑ์ ทำให้ทราบว่าสินค้าสูญหายหรือเสืยหายไปหรือไม่ ผมเคยไปที่ร้านสะดวกซื้อที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งพบว่ามีสินค้าหายโดยที่พนักงานในร้านไม่ทราบเพราะถูกขโมยสินค้าไปแต่กล่องยังอยู่ทำให้เมื่อนับสินค้าก็ยังอยู่ครบ แต่เมื่อเขย่าสินค้าดูก็พบว่าเป็นกล่องเปล่าทั้งที่มีเทปใสติดเรียบร้อย ดังนั้นหากกล่องใส่สินค้ามีพลาสติกใสให้มองดูว่าสินค้ายังอยู่โดยไม่ต้องจับหรือเขย่าสินค้าก็จะช่วยได้มาก นอกจากนี้ยังช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกสีของสินค้าได้สะดวกด้วยเช่นกัน
            การพิจารณาถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ยังต้องคำนึงถึงการช่วยเสริมภาพลักษณ์ของกิจการ การคำนึงถึงการนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งเราจะพบเห็นได้ทั่วไป เช่น กระสอบข้าวสาร กล่องเบียร์ ลังพลาสติกใส่ผลไม้ การนำกลับมาใช้ใหม่นี้หากได้รับการยอมรับโดยทั่วไปก็จะกลายเป็นมาตรฐานที่ใช้กันโดยแพร่หลาย และจะส่งผลให้การทำงานสะดวกมากยิ่งขึ้นกลายเป็นความสามารถในการปรับให้เข้ากับสินค้า กล่าวคือ ต้องสามารถบรรจุผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด อาทิเช่น pallet ตู้คอนเทนเนอร์ กระสอบ ถังใส่น้ำมัน
            ที่กล่าวมาทั้งหมดผมมองเพียงมุมของโลจิสติกส์กับบรรจุภัณฑ์ แต่ยังมีอีกมุมมองหนึ่งที่สำคัญเช่นกันก็คือ มุมมองด้านโซ่อุปทาน ซึ่งหลายองค์กรขนาดใหญ่เริ่มมองเห็นและให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ตลอดทั้งโซ่อุปทาน หมายถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของซัพพลายเออร์ทุกๆ ราย ให้เกิดความสอดคล้องกัน และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าหลากหลายชนิดให้เข้ากันได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น การส่งสินค้าของร้านสะดวกซื้อ จะพบว่าร้านสะดวกซื้อ มีสินค้าหลากหลายชนิด หลายผู้ผลิต แต่เมื่อมีศูนย์กระจายสินค้า และจัดเรียงสินค้าใส่ลังพลาสติก ก็สามารถส่งสินค้าที่หลากหลายมาด้วยรถปิ๊คอัพ 1 คัน
            ตัวอย่างการใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งโซ่อุปทานอีกเรื่องหนึ่งก็คือ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเช่น โตโยต้า นำแนวคิดของ milk run มาใช้ เพื่อต้องการลดจำนวนเที่ยวในการขนส่งวัตถุดิบ แต่ก็ประสบปัญหาไม่สามารถบรรทุกวัตถุดิบของซัพพลายเออร์หลายๆ ราย มาในรถคันเดียวกัน เนื่องจากไม่สามารถวางซ้อนเรียงกันได้ ส่งผลให้เกิดการขนส่งไม่เต็มคันรถ จึงแก้ปัญหาด้วยการเรียกซัพพลายเออร์ทุกรายที่เกี่ยวข้องมาประชุมและพิจารณาร่วมกัน ถึงปัญหาและข้อจำกัดดังกล่าว แล้วร่วมกันออกแบบบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดจากเดิมเคยมีบรรจุภัณฑ์หลายพันแบบ เหลือเพียงไม่กี่ร้อยแบบ และบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวนั้นก็สามารถวางทับซ้อนกันได้ ส่งผลให้เกิดการขนส่งเต็มคันรถ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดต้นทุนได้จำนวนมาก
            สังเกตได้ว่าการสร้างความร่วมมือกันในโซ่อุปทานจำเป็นต้องมีเจ้าภาพที่เข้มแข็ง เพราะในภาพรวมของการลดต้นทุนและการเพิ่มประสิทธิภาพของโซ่อุปทานนั้น จะต้องเกิดความยุ่งยากกับบางธุรกิจ หรืออาจทำให้ต้นทุนและประสิทธิภาพของบางองค์กรเพิ่มขึ้น เจ้าภาพจึงต้องพิจารณาและดำเนินการด้วยความเที่ยงธรรม จึงจะสามารถสร้างความร่วมมือดังกล่าวได้ หากเจ้าภาพไม่มีความจริงใจการร่วมมือดังกล่าวก็ยากจะบรรลุผลสำเร็จ ดังนั้นเรื่องบรรจุภัณฑ์อย่าลืมว่าเราจะต้องพิจารณาหลายๆ ด้าน และต้องนำมุมมองของโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมาช่วยให้เกิดความสมบูรณ์ และลดความสูญเปล่าในกระบวนการได้อย่างได้ผลนะครับ

ที่มา Logistics digest

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *