บนเส้นทางที่เยี่ยมยุทธ์ขององค์กร TQM
|บนเส้นทางที่เยี่ยมยุทธ์ขององค์กร TQM
ชัยบูรณ์ บราเดอร์ส หนึ่งในองค์กร TQM ซึ่งถูกค้ำประกันด้วยรางวัล KANO Award’09 ระดับ Silver จากสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
จึงได้รับเลือกเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาบนเวทีงานสัมมนา The 10 th Symposium on TQM-Best Practices in Thailand ซึ่งจัดโดยมูลนิธิส่งเสริมทีคิวเอ็มในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ในหัวข้อ Quality Journey หรือเส้นทางขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร ซึ่ง พัฒนชัย กุลสิริสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท ชัยบูรณ์ บราเดอร์ส จำกัด รับหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอด
“จากเดิมที่เราเคยเดินมานานแสนนาน วันหนึ่งก็มีคนมาชวนขี่จักรยาน แน่นอนกว่าจะฝึกให้ขี่เป็นมันยากและต้องใช้เวลาอาจทำให้ไม่อยากฝึก แต่ถ้าคนอื่นเขาขี่กันทั้งซอย เขาไปได้เร็วกว่า…จะเป็นอย่างไร”
ประเด็นมันอยู่ที่ว่าองค์กรจะขาดความสามารถในการแข่งขันหากไม่พยายามขี่จักรยาน ไม่เช่นนั้นอาจต้องมานั่งคิดว่าหากตัดสินใจยอมหัดขี่จักรยานเสียตั้งแต่แรกคงไม่ต้องมานั่งร้องไห้ในภายหลังว่าตัดสินใจช้าไป
พัฒนชัยเล่าถึงสาเหตุที่ชัยบูรณ์ บราเดอร์ส ซึ่งดำเนินธุรกิจเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์การพิมพ์สกรีนแบบครบวงจรมานานกว่า 50 ปี ต้องนำ TQM (Total Quality Management) เข้ามาประยุกต์ใช้ในองค์กร
เขายอมรับว่าเริ่มต้นแรกๆ ด้วยสไตล์แบบมวยวัด คือไปซื้อตำรับตำราไปค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ที่ว่าด้วยเรื่อง TQM มาอ่าน ทั้งที่เป็นแนวคิดของ Dr. Kano,Dr.Deming ,JUSE ฯลฯ
เป็นการทดลองเรียนเอง ลองทำกันเอง แต่เมื่อมองเห็นว่าแม้จะประหยัดค่าใช้จ่ายแต่ก็เหมือน “ตาบอดคลำช้าง พายเรือในอ่าง” ภายหลังเขาจึงใช้สไตล์มวยโลกคือจ้างที่ปรึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญมาช่วยแนะนำ
พัฒนชัย บอกว่า TQM นั้น มีลักษณะสำคัญอยู่ 3 ประการ และมีน้ำหนักจนทำให้เขาพิจารณานำเอามาใช้ในองค์กร ก็คือ 1.ช่วยสร้างความพอใจให้แก่ลูกค้า ซึ่งลูกค้ายังหมายถึง ผู้ร่วมงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของแต่ละคน ส่วน ฝ่าย และแผนกด้วย ดังนั้นงานที่ไม่มีลูกค้าไม่ถือว่าเป็นงาน 2.ทุกคนต้องมีส่วนร่วม เพราะงานที่มีคุณภาพย่อมเกิดมาจากกระบวนการทำงานที่มีคุณภาพที่ทุกคนร่วมมือยึดถือปฏิบัติ 3.เป็นระบบการจัดการที่ประกอบด้วยปรัชญาแนวคิดที่เป็นตรรก และมีวิธีการในการดำเนินการอย่างชัดเจน
เมื่อตกลงปลงใจจะนำองค์กรเดินบนเส้นทาง TQM ก็ต้องอาศัยการสื่อสารเพื่อให้พนักงานองค์กรยอมรับ และพร้อมจะให้ความร่วมมือ
“การสื่อสารต้องเป็นแบบ 360 องศา ผู้บริหารต้องสร้างจินตภาพให้พนักงานเห็นถึงอนาคตว่าหลังจากที่ฝึกขี่จักรยานแล้วประโยชน์ที่จะได้รับนั้นคืออะไร ต้องบอกเขาว่าทำไปทำไม ต้องทำอย่างไร ทำโดยใคร ทำเมื่อไหร่ และค่าใช้จ่ายเป็นเท่าไร”
การเรียนรู้และปฏิบัติ TQM นั้น พัฒนชัยบอกว่าหลักๆ แล้วจะมีให้เลือกอยู่ 2 แนวทาง โดยแนวทางแรกคือ เป็นการเรียนไป ทำไป ใช้เวลา 4 ปี และ แนวทางที่สองก็คือ เรียนให้จบ แล้วค่อยทำ ใช้เวลา 1 ปี 6 เดือน
“พวกวัยรุ่นใจร้อน มักจะเลือกแนวทางที่สอง มันอาจจะเหนื่อยและหนักหน่อย เหมือนการกินอย่างมูมมาม แต่ก็สำเร็จได้หากมุมานะ แต่ผมว่าดีที่สุดควรค่อยๆ ทำ”
การกินอย่างมูมมาม แต่ก็สำเร็จได้หากมุมานะ แต่ผมว่าดีที่สุดควรค่อยๆ ทำ” และระหว่างการเดินทางจะรู้ว่าหลงทางหรือไม่ ก็ต้องอาศัย PDCA (Plan-Do-Check-Act) โดยมีหลักการ 8 ข้อที่ช่วยเช็คว่าถูกต้องแล้วหรือไม่
P หมายถึง ข้อที่ 1 ความเข้าใจที่ถูกต้อง ข้อที่ 2 ความคิดที่ถูกต้อง
D หมายถึง ข้อที่ 3 ความทุ่มเทที่ถูกต้อง ข้อที่ 4 การกระทำที่ถูกต้อง
C หมายถึง ข้อที่ 5 การควบคุมที่ถูกต้อง ข้อที่ 6 การประเมินที่ถูกต้อง
A หมายถึง ข้อที่ 7 การปรับปรุงที่ถูกต้อง ข้อที่ 8 การพัฒนาที่ถูกต้อง
สำหรับผลประโยชน์ที่เกิดจนสุดท้ายกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของ ชัยบูรณ์ บราเดอร์ส นั้นมีอยู่ 12 ข้อ ได้แก่ 1.มองเรื่องการสร้างความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลัก 2.มีจริยธรรม และรับผิดชอบต่อสังคม 3.ความสามารถของบุคลากรถูกพัฒนาอยู่ตลอดเวลา 4.พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างคุณภาพ
5.พนักงานให้ความสำคัญต่อกระบวนการทำงาน 6.พนักงานทุกคนมองกระบวนการถัดไปว่าเป็นลูกค้าของเรา 7.มีการบริหารข้อมูลจริงในสถานที่จริง 8.แก้ปัญหาที่สาเหตุ เน้นการป้องกันและเกิดปัญหาซ้ำ
9.ใช้กรรมวิธีทางสถิติ 10 จัดลำดับความสำคัญ 11.ดำเนินการบริหารแบบ PDCA และ 12.สร้างระบบมาตรฐานที่มีการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ
“เอาแต่เรียนรู้ แต่ไม่ลงมือทำ
ไม่มีวันประสบความสำเร็จ
เอาแต่ลงมือทำ แต่ไม่เรียนรู้
ไม่มีวันก้าวหน้า พัฒนา”
พัฒนชัยฝากข้อคิดไว้เตือนใจ เพราะในที่สุดแล้วความพยายามอาจกลายเป็นความว่างเปล่า แต่ก็อาจเลวร้ายได้ไม่เท่าคำท้วงติงจากคนในองค์กร ที่ว่า Please Don’t Change Anything
ที่มา : ชนิตา ภระมรทัต